เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีเสวนาวิชาการ หัวข้อ “การถอดความรู้แนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย” โดยมีนักข่าวที่เกาะติดการทำข่าวกู้ภัย ณ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย มาร่วมถอดบทเรียน ประกอบด้วย 1.น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีชัย นักข่าวรายการข่าว 3 มิติ สถานีโทรทัศช่อง 3 2.นายศิลปปชัย กุลนุวงศ์ นักข่าวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำนักข่าว AFP 3.นายเบญจพจน์ ทิพย์แสงกมล นักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 4.นายดำรงเกียรติ มาลา นักข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งดำเนินรายการโดย รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ
น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า รับรู้ข่าวเด็กๆทีมหมู่ป่าติดถ้ำตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน และทราบเป็นการภายในว่ากำลังขอการสนับสนุนจากหน่วยซีล ซึ่งเป็นเรื่องไม่ธรรมดา อย่างไรก็ตามก็ไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์จะรุนแรงเพียงนี้ โดยตนเดินทางไปถึงถ้ำหลวงวันที่ 25 และระหว่างนั้นได้ติดตามเพจของนักข่าวท้องถิ่นและเพจพีอาร์เชียงรายซึ่งเริ่มไลฟ์เฟสบุค โดยตนมาถึงถ้ำหลวงตั้งแต่ 8 โมงเช้าวันที่ 25 และอยู่ต่อมาอีก 27 วัน ซึ่งในช่วงแรกทำงานลำบากเพราะหน้าถ้ำไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เลย ทำให้ต้องวิ่งเข้า-ออกเพื่อไปส่งข่าว จนกระทั่งในวันที่ 4 จึงได้มีการติดตั้งสัญญาณ ซึ่งช่อง 3 มีทีม 3 ทีมส่งข่าวใน 4 สถานี วันแรกๆได้นอนเพียงวันละ 3 ชั่วโมง แถมยังต้องออกมาแก้ข่าวที่ถูกกล่าวหาว่าไปอยู่ในถ้ำขัดขวางการทำงาน ทั้งๆที่เวลานั้น หน่วยซีลถอนกำลังออกมาก่อน และอนุญาตให้นักข่าวเข้าไปเก็บภาพ พอตนเองไปเปิดหน้ากล้องอยู่บริเวณหน้าถ้ำก็เลยเป็นเรื่อง และเมื่อผู้ว่าฯกล่าวหาว่ามีนักข่าวทำผิดกติกาก็มีคนเชื่อว่าเป็นตน ทั้งๆที่ความจริงไม่ใช่
“เหตุการณ์ครั้งนี้ทำลายสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์การทำข่าว มีนักข่าวมากันมากกว่า 1,300 คน เป็นนักข่าวไทย 600 และนักข่าวต่างชาติ 700 คน ซึ่งน่าแปลกใจที่นักข่าวต่างชาติมากกว่า เขามากันเยอะมาก ขณะที่เนื้อที่การทำงานอยู่แค่หน้าถ้ำ ถือว่าเป็นการทำข่าวที่ยาก และมีดราม่าเกิดขึ้นมาก เพราะมีทั้งทีวีทั้งในและต่างประเทศ มีเพจ มีสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งจากนั้นข่าวอาชีพและประชาชน ดิฉันไปทำข่าวภัยพิบัติมาหลายพื้นที่ ครั้งนี้เราพยายามใช้หลักการที่มีบทเรียนมาทำงานโดยปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็เกิดความเข้าใจผิดขึ้นเยอะ แต่เราพยายามไม่ขยายประเด็นให้เกิดความสับสน”น.ส.ฐปณีย์ กล่าว
น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า รู้สึกประทับใจในการรายงานข่าวถ้ำหลวง เพราะมีโอกาสทำงานร่วมกับนักข่าวระดับโลก อย่าง CNN ส่งนักข่าวระดับซุปเปอร์สตาร์รายงานสด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับBBC มีนักข่าวจากลอนดอนบินตรงมา ขณะที่ABC ตั้งกล้องไว้ 24 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการเรียนรู้การทำข่าวของนักข่าวระดับโลก สื่อต่างชาติรายงานข่าวเยอะกว่านักข่าวไทยด้วยซ้ำ แต่สื่อไทยก็ทำข่าวได้ดีไม่แพ้สื่อต่างชาติ
น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า การทำข่าวเหตุการณ์หน้าถ้ำหลวงครั้งนี้ หากทีวีดิจิตอลสามารถทำข่าวนี้ได้ดีก็ดึงผู้ชมได้มาก ขณะที่กรอบกติกาที่ถูกกำหนดขึ้นนั้น ช่วงก่อนเจอเด็กๆนั้น ตนเห็นด้วยที่กำหนดกติกา เช่น กั้นพื้นที่บริเวณถ้ำตั้งแต่วันแรก ซึ่งสื่อให้ความร่วมมือด้วยดี ต่อมาเมื่อเจอเด็กๆแล้ว ทำให้ปริมาณนักข่าวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แต่พื้นที่ในบริเวณทำข่าวอยู่กันแคบๆ ดังนั้นจึงมีการจัดระเบียบพื้นที่สื่อ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ประกาศให้นักข่าวย้ายไปอยู่ที่หน้าอบต.เพื่ออำนวยความสะดวกเมื่อเด็กๆออกจากถ้ำก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และการที่ได้เห็นปฎิบัติการซ้อมแผน ทำให้สื่อได้เห็นและรับรู้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนว่าจะจัดทีมกันอย่างไร
“สื่อทุกคนต่างมีจรรยาบรรณของนักข่าวทั้งสื่อไทยและเทศ ทุกคนอยากมีเสรีภาพในการเป็นสื่อ แต่เวลานั้นเสรีภาพตั้งอยู่บนความรับผิดชอบที่มีผลต่อชีวิตของมนุษย์ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่สื่อทุกคนต่างยินดีย้ายออก เพราะเวลานั้นชีวิตของเด็กสำคัญสุด” น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า แม้นักข่าวทุกคนอยากได้ภาพการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในถ้ำ แต่ที่สุดทุกคนต่างเลือกใช้ภาพที่ได้มากจากเพจของซีล
น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า การทำข่าวแบบนี้ไม่จำเป็นต้องแข่งขันในเรื่องความรวดเร็วเป็นหลัก แต่ต้องการความน่าเชื่อถือ สังเกตได้จากเพจของประชาสัมพันธ์เชียงรายมียอดผู้ชมขึ้นดูเพิ่มขึ้นมากมาย เช่นเดียวกับเพจของซีล ซึ่งเดิมยอดผู้ชมเพียง 1 หมื่นเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้าน เพราะคนต้องการข่าวที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
น.ส.ฐปณีย์กล่าวว่า นักข่าวทุกคนอยากสัมภาษณ์เด็กด้วยตัวเอง แต่เมื่อทางการขอความร่วมมือ นักข่าวทั้งไทยและต่างชาติต่างให้ความร่วมมือและส่งเป็นคำถามเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตประเมินอีกที เราคาดหวังว่าคำถามจะถูกนำเสนอ แม้โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับรูปแบบรายการในวันนั้น
“พอจบแถลงข่าวก็ถือว่าได้ครบถ้วน เราก็ไม่ได้ตามเด็กไปที่บ้านเพราะคิดว่าได้ครบแล้ว เราอยากได้บรรยากาศนาทีที่เด็กถึงบ้าน แต่เราไม่ได้สัมภาษณ์เด็ก แต่พอเช้ารุ่งขึ้นบางสำนักข่าวต่างชาติก็ไปสัมภาษณ์เด็ก” น.ส.ฐปณีย์กล่าว
นายศิลปปชัย กล่าวว่ารายงานข่าวครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน ซึ่งเป็นทั้งคนถ่ายวีดีโอและทำข้อมูลด้วย เพราะเอเอฟพีเป็นเอเจนซี่ที่ต้องขายภาพและข่าวให้สื่ออื่นๆ ซึ่งตอนแรกต้องรอข้อมูลจากกรแถลงข่าวของทางการ และต้องหาข้อมูลอื่นๆของเด็กด้วย ซึ่งตอนแรกไปกัน 2 คน ต่อมาจึงส่งนักข่าวมาจากฮ่องกงเพิ่ม สุดท้ายมาสมทบอีกจนเป็น 10 คนซึ่งเดินทางมาจากทั้งย่างกุ้ง พนมเปญ การส่งนักข่าวมาขนาดนี้ต้องเป็นข่าวใหญ่มากๆและการทำข่าวครั้งนี้ถูกนำไปใช้เยอะมาก
นายศิลปปชัยกล่าวว่า ทางการแบ่งโซนการทำงานของสื่อ เช่น ปิดป้ายห้ามสัมภาษณ์ญาติ มีข้อห้ามต่างๆหลายอย่างซึ่งหลายสื่อก็เคารพกติกาเพราะมากกว่าการได้ข่าวคือทำให้เด็กปลอดภัย ดังนั้นอะไรที่มีปัญหาเราไม่ทำดีกว่า เช่น พอเด็กออกมา คุณหมอเตือนว่าอย่าไปสัมภาษณ์เด็กเลย ทั้งๆที่ลูกค้ามีความต้องการมาก แต่เราก็ตัดสินใจว่าไม่เอา อย่างไรก็ตามสื่อต่างประเทศบางสำนักก็เข้าไป
“แม้ลูกค้าต้องการบทสัมภาษณ์เด็กมาก แต่ทางกองบอกอก็ตัดสินใจไม่เอา และเรารู้สึกว่าการแถลงข่าวคืนที่น้องๆออกจากโรงพยาบาลครอบคลุมดีอยู่แล้ว”
นายเบญจพจน์กล่าวว่า การนำเสนอข่าวเด็กๆ ทีมหมูป่าติดถ้ำครั้งนี้ ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักไทยพีบีเอสมาก่อน ได้รู้จักไทยพีบีเอสมากขึ้น โดยตนเป็นทีมแรกของไทยพีบีเอสจากกทม.ที่เข้าไปทำข่าวซึ่งก่อนหน้านั้นศูนย์ข่าวภาคเหนือได้เกาะสถานการณ์อยู่แล้ว 3 ทีม ซึ่งตอนแรกได้ไปทำข่าวที่โรงเรียนและการทำพิธีต่างๆ พอ 26 มิถุนายน ตนได้เข้าพื้นที่ซึ่งยังเป็นพื้นหญ้าสวยงาม จนกระทั่งฝนตกหนัก ตนได้รับมอบหมายให้ทำข่าวอยู่หน้าถ้ำ พอวันวันรุ่งขึ้นไทยพีบีเอสตัดสินใจล้มผังรายการทั้งหมดเพื่อนำเสนอข่าวนี้ โดยในช่วงที่ทีมค้นหาและหน่วยซีลเข้าไปในถ้ำแล้วยังไม่ออกมาเป็นสถานการณ์ที่รายงานข่าวที่ยากมาก อย่างไรก็ตามเมื่อทีมไทยพีบีเอสจากกทม.เดินทางมาสมทบได้มีการแบ่งงานกัน
“หลายคนตั้งคำถามว่าสัมภาษณ์ญาติได้หรือ วันที่จ่าแซมตาย ญาติเด็กหลายคนอยากพูดถึง เขาอยากบอกอะไรกับจ่าแซม เราถามความสมัครใจว่าพร้อมออกสื่อหรือไม่ ในที่สุดเขาได้พูดและพูดลึกซึ้ง” นายเบญจพจน์กล่าวและว่าไทยพีบีเอสส่งทีมไปทั้งหมดกว่า 40 คน
นายเบญจพจน์กล่าวว่า บทเรียนที่เจอในการทำข่าวครั้งนี้ ได้เห็นคนไทยเป็นจิตอาสามาช่วยกันมากมายตั้งแต่เรื่องอาหาร นวดแผนโบราณ ใครจะคิดว่าเครื่องทำกาแฟสดจะขึ้นไปอยู่หน้าถ้ำหลวง
นายดำรงเกียรติกล่าวว่า ทีมบางกอกโพสต์ไปทำข่าวนี้ทั้งหมด 4 คนโดยไปช้ากว่าที่อื่นคือไปในวันที่พบเด็กแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้น บางกอกโพสต์ใช้ข่าวจากนักข่าวในพื้นที่ ตนเดินทางไปทีหลัง ด้วยความที่เราเป็นสิ่งพิมพ์เรื่องความเร็วไม่ใช่เป็นปัจจัยแรกในการแข่งขัน แต่เราต้องสร้างเนื้อหาของเราเองหรือต่อยอด และไม่ต้องไปคอยติดตามข่าวรายวันมากมาย ซึ่งการทำงานค่อนข้างให้อิสระในการคิดประเด็น
นายดำรงเกียรติกล่าวว่า ภาพรวมแล้วสื่อสวนใหญ่เคารพกติกา มีเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นที่แตกแถว และการนำเสนอข่าวรอบๆ นอกที่ไม่ใช่เรื่องเอาเด็กออกมา สามารถนำเสนอกันได้หลากหลาย เช่น ชาวนาที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านจำนวนมากก็ให้กำลังใจสื่อ ตอนที่เขาให้สื่อย้ายออก ชาวบ้านบางคนชวนให้ย้ายไปอยู่ที่บ้านเขา เพราะเขาเห็นแล้วว่าสื่อก็เหนื่อยไม่แพ้กัน
“วิธีทำข่าวแบบเทาๆ นั้นมีหลายรูปแบบ เช่น แฝงตัวเข้าไปในโรงพยาบาล แต่ท้ายสุดเขาก็เอาไปใช้งานไม่ได้เพราะกระแสสังคมแรงมาก หากเขาเอาไปใช้โดนถล่มเลอะแน่ หรือเรื่องการดักฟังวิทยุของเจ้าหน้าที่นั้น เขาไม่ได้ฟังเพื่อเผยแพร่ แต่ฟังเพื่อรับรู้สถานการณ์ เราได้เห็นบทเรียนว่าบางครั้งกระแสสังคมไม่ได้อยากรู้ลึกขนาดนั้น หากสื่อที่เข้าไปลึกๆ เช่นนั้นอาจถูกกระแสสังคมตีกลับได้” นายดำรงเกียรติ กล่าว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.