โดย จารยา บุญมาก
“ผมผิดหวังจากความรัก ไม่ได้แปลว่าลูกต้องผิดหวังด้วย ผมโดนทำร้าย ไม่ได้แปลว่าลูกสามารถร้ายกับใครก็ได้ ลูกต้องเติบโต พร้อมกับการให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ทุกคน เท่ากัน”
พีรกานต์ ผาสุข ช่างแอร์วัย 51 ปี คุณพ่อหม้ายลูก 3 ที่ผิดหวังจากหญิงคนรักถึง 2 ครั้ง และต้องเลี้ยงลูกลำพังมานานกระทั่งลูกชายคนโตแต่งงานออกเรือนไปแล้ว 1 คน เขายังต้องทำหน้าที่ดูแลลูกชายวัย 15 ปี กับลูกสาวคนเล็กวัย 5 ขวบ อีก 2 คน ด้วยเชื่อว่า เขาจะเป็นผู้เพาะปลูกความรักเพื่อลูกได้เสมอ ทุกวันสำหรับลูกจึงเป็นวันพิเศษของเขา อีกทั้งอดีตภรรยาทั้ง 2 คนที่หย่าร้างไปก็ยังดำรงสถานะแม่ที่แสนพิเศษ วันแม่แห่งชาติจึงเป็นเพียงแทบไม่มีความหมายเลยสำหรับเขาลูก
ภูมิหลังของพีรกานต์กับภรรยาคนแรกนั้นจบไม่สวยเท่าใดนัก เพราะหลังแต่งงาน เขาต้องจากไปทำงานไกลถึงสิงคโปร์และอยู่นานนับปี โดยตรากตรำทำงานหนักส่งเงินกลับเลี้ยงดูครอบครัว แต่แล้วภรรยากลับตีจากด้วยเหตุผลธรรมดา ว่า “เธอพบรักใหม่” เงื่อนไขของเธอ มีเพียงเรื่องเดียว คือ อยากอย่า และยินดีมอบลูกให้อยู่ในอุปการะ หากเขายอมเซ็นใบหย่า เขาพักใจระยะหนึ่ง จากนั้นให้โอกาสตัวเองได้รักครั้งที่ 2 กับภรรยาคนใหม่มีลูกด้วยกัน 2 คนพีรกานต์กลับโชคร้ายไม่ต่างจากเดิม ผู้หญิงที่รักคนที่ 2 ขอแยกทาง ทิ้งลูกไว้เบื้องหลัง แต่พีรกานต์ก็พยายามติดต่อภรรยาให้พบลูกเป็นครั้งคราว ตามความสะดวก โดยไม่ปิดกั้นความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก
“ผมไม่อยากแค้นเขานะ แม้ผมจะรู้ว่าเขาทำหน้าที่แม่ไม่ดี แต่ผมไม่ชอบให้ลูกต้องตั้งคำถามว่า แม่เป็นใครผมอยากให้เขาแสดงตัวเท่านั้นแหละว่าเขายังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ไปไหน”
พอมาถึงคำถามเรื่องภาระค่าใช้จ่ายกับการดูแลลูกในชีวิตประจำวัน พ่อต้องมาทำงานบ้านซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นงานของผู้หญิง พีรกานต์เองต้องเปลี่ยนตัวเองยังไงบ้าง เมื่อต้องเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว
“ไม่ได้ยุ่งยากเลยครับคุณ ผมพูดเลย ก็ผมดูแลตัวเองทั้งงานบ้าน ซักผ้า ทำกับข้าวมาแต่เล็กๆ อะ ทำให้ลูกดูก็ได้นี่ ทำไปเลย เขาจะรู้เองแล้วห้ามเด็ดขาดนะ ไปบอกลูกว่าเรียนอย่างเดียวไม่ทำอย่างอื่น ห้ามเลยตรงนี้ นี่คือความรักเบสิค คือสอนให้เขาเอาตัวรอด อย่างลูกชายคนกลางอายุ 15 ตอนนี้รับจ้างหาเงินข้างนอกแล้วนะ เสาร์อาทิตย์ทำงานแล้ว ผมต้องให้ฝึกทำไว้ทั้งหมด”
ภาพการคลานเข่าไปกราบแม่ในโรงเรียนเป็นภาพที่คนไทยคุ้นเคย แม่ลูกบางคู่น้ำตารินปีแล้ว ปีเล่า แต่ลูกๆ ของพีรกานต์ต้องไม่อยู่ในกระแสสังคมที่คนส่วนใหญ่บอกว่าใช่ ถูกต้องแล้วลูกต้องทำตาม
“ลูกผมมีชีวิตจิตใจมีความคิดนะ เราอยากให้เขารักแม่ใช่ไหม สอนให้เขามีความรักที่มั่นคงสิ รักทุกวันสิ รู้จักสิความรักคืออะไร ผมว่ามันโอเคกว่า เช่น ถ้าแม่ป่วยลูกต้องห่วงแม่ให้เป็น ถ้าน้องป่วยก็ต้องช่วยดูแล ผมทุ่มเทตรงนี้ ที่สำคัญผมไม่ส่งลูกให้เป็นภาระพ่อแม่ผมหรือญาติคนไหนเลยนะ ผมรับไม่ได้ต้องปล่อยลูกไว้ นอกจากปรับหน้าที่การงานให้เข้ากับคนมีลูกติดเท่านั้นเอง รายจ่ายของเราตอนนี้ก็ราว 20,000-30,000 บาทผมก็ไม่กล้าป่วย ไม่กล้าไปหาหมอเลย เงินเก็บเพื่อลูกเสมอ นั่นคือการเสียสละที่ผมทำได้ ผมคงไม่ไปทำหน้าที่แทนแม่หรอก แต่แม่เขาไม่ส่งเงิน ผมต้องรับผิดชอบ ผมไม่โทร ไม่ทวงค่าเลี้ยงดูด้วย มันเสียเวลานะคุณ”
ถึงพีรกานต์จะดูห่าม ดูหยาบๆ และมีความเจ็บปวดจากการเลิกราระหว่างเขากับภรรยาก็ตาม แต่ความหลัง คือ ความหลัง เพราะเขาไม่เอาปัญหาส่วนตัวมารวมกับเข้ากับหน้าที่ความเป็นพ่อ
“สิ้นสถานะเมียไม่ได้แปลว่าสถานะแม่หมดนะ ผมมีเมียใหม่กี่คน มีผู้หญิงกี่คนก็ตามผมไม่เชื่อว่าผู้หญิงคนไหนจะเป็นแม่ให้ลูกผมได้ ผมไม่ยึดติดไง และผมว่า หน้าที่พ่อแม่ ไม่มีวันสิ้นสุดลงหรอก ไม่ว่าลูกจะโตแค่ไหน เราต้องทำหน้าที่ตลอดชีวิต ผมขออย่างเดียวให้เขามีความรักต่อตนเอง ถ้าวันใด เขาไม่มีใครรัก เขาจะได้รู้ว่ารักตัวเองมีค่า และสิ่งต่อมา คือ รักคนอื่นให้เป็น และกิจกรรมวันแม่ทุกปีเนี่ย เมื่อผมรู้ว่าแม่เขาไม่มาให้ ผมตัดสินใจโทรแจ้งครูเลยว่า ไม่ต้องถามลูกผมได้ไหม ว่าทำไมแม่ไม่มา ครูมาถามผมได้ถึงภูมิหลังครอบครัว อย่าไปถามเด็ก เขายังเล็กถามไปก็ไปซ้ำ ไปกระตุ้นเขามากกว่า ผมไม่โทษครู ไม่โทษโรงเรียน ไม่โทษใครเลย แต่ผมขออย่างเดียว คือ อย่าถามลูกผม และอย่าถามว่าทำไมเราไม่ไป ไม่ใช่ผมเจ็บหรอกนะ แค่รู้สึกว่าไม่ได้จำเป็น ลูกผมจะไปหาแม่เมื่อไหร่ เวลาไหนก็ได้ ผมไม่เสียใจถ้าเขาอยากไป ไปส่งก็ได้ แต่ต้องทำจากใจนะ เอาแบบนั้นดีกว่า”
วิธีการเลี้ยงดูลูกของพีรกานต์ ก็นับเป็นทางออกหนึ่ง สำหรับใครหลายคนที่กำลังมองหาวิธีการบ่มรักให้ลูก ในระหว่างที่กระแสดราม่าในสังคมไทยกำลังเฟื่องฟูและคงเป็นทางเลือกที่ดีให้คุณพ่อหลายคนผ่านไปให้ได้ หากคุณเป็นคุณพ่อที่ต้องดูแลลูกชาย ลูกสาว โดยไม่มีแม่มาเคียงข้าง ซึ่งความรักทำนองนี้ไม่ค่อยปรากฏตามสื่อกระแสหลักของไทย
ท่ามกลางกระแสข่าวที่พยายามรณรงค์ให้ทุกคนมาระลึกถึงพระคุณแม่ มาพร้อมกับประเด็นราคาดอกมะลิที่ไต่สูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาทขึ้นไป กลายเป็นเรื่องปกติที่ลูกๆ ผู้มีกำลังจ่ายยอมจำนน ด้วยเชื่อว่า ราคาดังกล่าวไม่เทียบเท่าคุณค่าทั้งหมดที่แม่มีให้ คงจะเป็นเรื่องดี ถ้าวันแม่เป็นแค่กระแสของคนมีเงินนับร้อย นับพันมาจ่ายค่ามะลิ กราบแม่
เสียดายที่สังคมไทยไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่งโดยเฉพาะระดับประถม และมัธยม พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ผ่านการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ลูกรำลึกบุญคุณแม่ รักแม่ โดยวัดจากบรรยากาศ กิจกรรมกราบเท้าแม่ให้น่าประทับใจ
เด็กเล็ก เด็กโตจำเป็นต้องจูงมือแม่เข้าโรงเรียนเพื่อกราบเท้า แสดงความรัก คุณแม่หลายคนที่ลูกอยู่ห่างอ้อมอก ต้องจ่ายเงินเพื่อเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด แถมด้วยเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อซื้อดอกมะลิให้ลูกมากราบเท้าตัวเองนั้น เป็นอะไรที่ประเมินค่าลำบาก และเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เคยมีองค์กรใดได้เคยทำสถิติทางเศรษฐศาสตร์ไว้ แต่นั่นเป็นกระแสที่ใครๆ ก็ทำ ใครๆ ก็ยอมทุ่มทุนด้วยหวังไม่ให้ลูกเสียหน้าหรือรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
ที่กล่าวมาเป็นเรื่องของครอบครัวที่ยังมีคุณแม่เคียงข้างและจำเป็นต้องทำเพื่อลูก แต่ครอบครัวของ“จิระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ คุณพ่อนักเคลื่อนไหวทางสังคมกลับไม่เป็นอย่างนั้น
ในฐานะคุณพ่อผู้ทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรมาเนิ่นนาน ในวัย 47 ปี เขากลับเล่าถึงกระแสดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า ทุกๆ วันแม่ ลูกชายคนเดียวของเขาไม่เคยคิดจะเรียกร้อง งอแง หรือนำประเด็นกิจกรรมวันแม่มาเป็นสาระสำคัญเลย
“ผมไม่ได้ต่อต้านนะ ผมแค่ให้ลูกเลือกเนอะ ลูกมีสิทธิ์เลือกไง เขาก็คนอะ ผมส่งเสริมประชาธิปไตยให้ลูกตั้งแต่เล็ก”
จิระศักดิ์ บอกว่าสมัยยังเด็กลูกมีคำถามบ้าง ว่าทำไมพ่อแม่ไม่อยู่ด้วยกัน ตนตอบกับลูกว่า พ่อกับแม่มีงาน โดยช่วงแรกที่หย่าร้างกันไป ลูกชายไปอยู่กับแม่ที่ภาคใต้ ส่วนตนอยู่ที่ภาคเหนือ ครั้นพออดีตภรรยาแต่งงานใหม่ ภรรยาตัดสินใจปรึกษาให้ลูกกลับมาอยู่ด้วย แต่จะส่งเสียเงินทองช่วยเหลือกัน ขึ้นอยู่กับว่า ช่วงไหนใครมีมาก มีน้อย แต่ไม่มีการวางจำนวนเงินที่แน่ชัด หรือออกกฎให้ซับซ้อน
“สถาบันครอบครัว ต้องไม่ล่มสลายไปตามการเปลี่ยนแปลงของชีวิตคู่นะ หรือผมโชคดีก็ไม่รู้ ผมว่าการทำงานภาคประชาชน ทำให้ลูกผมมองโลกกว้างขึ้น เขาเจอน้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เพื่อนในวงการเขาช่วยเราเลี้ยง ผมเองไม่เครียด ผมมีความสุขที่เห็นเขาเติบโต ตอนนี้เขาโตแล้ว ห่างอกผมแล้วก็นิสัยวัยรุ่นไม่อยากใกล้พ่อแล้วทำนองนั้น” (หัวเราะ)
จิระศักดิ์กับภรรยาหย่าร้างกันตอนลูกชายอายุ 7 ขวบ จากนั้นสลับกันดูแลลูก และเขาเองยังติดต่อกันกับญาติฝ่ายหญิงตลอด ไม่มีเรื่องบาดหมางกัน โดยต่างฝ่ายต่างเปิดใจ ไปมาหาสู่กันเพื่อลูกอย่างสม่ำเสมอ เขาจึงเชื่อว่า การทำหน้าที่พ่อแม่ ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีอะไรยาก ขอแค่ยอมรับความจริงแล้วทุ่มความรักให้ลูกอย่างบริสุทธิ์
“อยู่กับความจริงครับ ถ้าไปกันไม่ได้แค่ยอมรับมัน แต่ลูกต้องมีเราเป็นพ่อแม่เหมือนเดิม และเขาจะระลึกถึงบุญคุณหรือไม่ ผมไม่ได้หวังนะ ไม่ต้องมาตอบแทนคุณของพ่อแม่ หรือให้ความสำคัญกับวันรำลึกใดๆ หรอก จริงๆ ประเพณี มันสวยงามนะ ผมไม่ปฏิเสธ แต่ให้ลูกเลือกเองได้ไหม ผมคงไม่ไปบังคับมากมาย ตอนเขาอยู่กับแม่ผมโทรหาตลอดนะ มาอยู่กับผมเขาก็โทรหาแม่เขาได้ทุกเมื่อ เขายังรู้สึกว่าเราคือครอบครัว ผมพอใจแล้ว จะวันแม่หรือไม่ใช่วันแม่เขาก็โทรถ้าต้องการ ไม่ต้องมีใครบอก จริงๆ วันแม่ปีนี้ “น้ำของ”(ชื่อลูกชาย) ก็ไปร่วมปกติ ไหว้ครูเอา เพราะว่าแม่อยู่ไกล แม่ติดงาน ผมว่านั่นดีนะ ชอบตรงที่เขาเข้มแข็ง ยอมรับความจริงและเข้าใจว่าต้องแก้ปัญหายังไง”
จิระศักดิ์ ฝากทิ้งท้ายถึงครอบครัวที่อย่าร้างด้วยว่า การทำหน้าที่พ่อแม่ไม่มีสูตรสำเร็จ ส่วนตัวเลือกอยู่กับลูกเหมือนเพื่อน ไม่ใช่พ่อปกครองลูก ทุกวันนี้เขาเป็นผู้ใหญ่ มีความคิดดีขึ้น อาจเป็นเพราะจิระศักดิ์ให้สิทธิ์ลูกแสดงความคิดเห็นเสมอมา แล้วฟังลูกให้มาก ไม่ใช่สอนลูก
“ผมดีใจที่ทำงานสายนี้ ได้พาลูกออกเดินทางเรื่อยๆ ทริปเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เขาเจอคนเยอะทำให้มีประสบการณ์ มีทักษะเอาตัวรอด”
สำหรับกิจกรรมวันแม่ของไทยนั้น จิระศักดิ์มองว่า อยากให้แยกครอบครัวออกจากสถาบันของรัฐ ความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก ไม่ใช่งานราชการหรือองค์กรอื่น การที่สถานศึกษาให้ความสำคัญเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรให้การศึกษาเด็กเกี่ยวกับเรื่องการสร้างความมั่นคงในครอบครัวมากกว่า การบังคับหรือจัดกิจกรรมแบบสร้างฉากขึ้นมา 1 วัน แต่ควรทำให้เด็กๆ รู้ เข้าใจว่า
“ครอบครัวคือชีวิตประจำวันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของหลักสูตร หรือกิจกรรมทำอะไรเอาคะแนน” คุณพ่อนักอนุรักษ์ทิ้งท้าย.