Search

คำถามจากคนไทยพลัดถิ่น “มุสลิมมะริด” เพราะแตกต่างจึงไร้สัญชาติ?

กว่าชั่วโมงแล้วที่สายฝนยังไม่ซา แต่หาใช่อุปสรรคของชายหนุ่มผู้นี้ เขาควบมอเตอร์ไซค์มาตามนัดหมายและรอท่าอยู่พักใหญ่

เขายิ้มและทักทายอย่างเป็นมิตร… ทว่าดวงตากลมโต คิ้วขนตางอนยาว จมูกเป็นสันโด่ง ริมฝีปากหนา สีผิวคล้ำ เป็นสื่งที่แสดงถึงความแตกต่างจาก “เรา” ทางกายภาพ และทำให้มักถูกตั้งคำถามจากคนทั่วไปอยู่เสมอ

“บ่าววี” หรือ นายซัวฮิบ เจริญสุข อายุ 38 ปี ชายหนุ่มบอกให้เราขับรถตามไปยังบ้านหนองยางพลับ อยู่ในตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อไปพบกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาด้านสถานะบุคคลมานานหลายสิบปี

“ผมเกิดที่บ้านปากคลอง เมืองมะริดในฝั่งพม่า จนอายุ 11 ปี ตอนนั้นมีการสู้รบกันหนัก ความเป็นอยู่ลำบากมาก เวลาทหารเข้ามาที่หมู่บ้านก็ต้องหนีเข้าป่ากับน้าไปหลบในหลุม เพื่อไม่ให้ทหารจับตัวไปใช้งาน มีเพื่อนหลายคนถูกจับ รอดกลับมาบ้าง บางคนก็ตาย ขาหักพิการก็มี เลยกลัวจะถูกจับผมกับน้องชายเลยหนีข้ามมาฝั่งไทย” บ่าววี กล่าว

ตา(น้องชายของยาย)ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ อ.ทับสะแก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 ส่วนพ่อแม่ของเขายังคงใช้ชีวิตอยู่ที่มะริดเรื่อยมา เพราะมีเรือกสวนไร่นาสามารถทำมาหากินได้ดี จนเกิดการสู้รบ ชาวบ้านแถบนั้นเริ่มหนีข้ามไปยังแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเขาก็ได้อาศัยอยู่กับญาติที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในฝั่งไทย

บ่าววีพาเราไปพบกับ “เกษม จันทร์หอม” 1 ในชาวบ้าน 9 ครอบครัวคนไร้สัญชาติที่มาจากบ้านตาบอเหล็ก เมืองมะริด ในฝั่งพม่า ซึ่งเป็นผลพวงจากการปักปันเขตแดนไทย-พม่าเมื่อ 150 ปีก่อน(พ.ศ.2411) ทำให้เมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี ที่มีชุมชนชาวสยามนับร้อยหมู่บ้าน กลายเป็นดินแดนของประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ และคนในพื้นที่เหล่านี้ก็ถูกเลือกปฏิบัติจากพม่าอย่างพลเมืองชั้นสองเรื่อยมา

นายเกษม เล่าว่า ตนเองเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่หนีความลำบากจากการสู้รบในฝั่งพม่า เข้ามาอยู่ไทยตั้งแต่ปี 2528 หรือกว่า 30 ปีก่อน ใช้ชีวิตเรื่อยมาอาศัยทำงานรับจ้างตั้งแต่ได้ค่าแรงวันละ 100 บาท จนตอนหลังพี่ชายสอนทำโรตี จึงได้หันมาขายโรตีเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัว และปัจจุบันได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่บ้านหนองยางหลับ ในพื้นที่อำเภอทับสะแกแห่งนี้

ขณะที่บ่าววี อธิบายว่า “มุสลิมมะริด” อย่างพวกเขาเป็นอีกกลุ่มของคนไทยพลัดถิ่นที่ประสบปัญหาด้านสถานะบุคคลมาอย่างยาวนาน แม้รัฐบาลเริ่มผ่อนปรน มีการออกบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน(บัตรเลขศูนย์) การแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ เพื่อเปิดโอกาสในการขอสัญชาติไทย หากแต่ด้วยหน้าตาและรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่าง ก็เป็นอุปสรรคในการเรียกร้องสิทธิ เป็นสิ่งที่เพิ่มความยากในการพิสูจน์ว่าเราก็เป็นหนึ่งในคนไทยพลัดถิ่น

“คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มอื่นเข้าถึงกระบวนการได้เร็วกว่าเรา เพราะอัตลักษณ์ของมุสลิมมะริดแยกออกจากทั้งหมด คนมอญ ไทยใหญ่ ลาว เขมร กระเหรี่ยงก็หน้าตาคล้ายกัน แต่แบบเรามันโดดเด่นออกมาไม่เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ เวลาไปติดต่อเดินเรื่องก็ถูกมองอย่างหวาดระแวง และในช่องทางแก้ปัญหาก็ถูกผลักไปคนละเงื่อนไข” บ่าววี กล่าว

บ่าววียอมรับว่า หลายครั้งความแตกต่างทำให้ถูกมองอย่างเข้าใจผิด เช่น ช่วงที่มีกระแสแง่ลบต่อชาวโรฮิงญา คนก็จะเรียกเราว่าโรฮิงญา ช่วงที่มีข่าวก็อดอาร์มี่ก็ยัดเยียดให้เราเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ข้อเท็จจริง บรรบุรุษของเราเป็นคนดั้งเดิมจากเมืองมะริด ที่มีวิถีชีวิตแบบมุสลิมมะริด-ทวาย

แม้บ่าววีจะเคยถือบัตรเลขศูนย์ และได้พยายามเดินเรื่องขอสัญชาติไทย แต่กลับต้องตกเป็นเหยื่อของการคอรัปชั่นครั้งใหญ่ในพื้นที่ช่วงปี พ.ศ.2552 ทำให้ถูกจำหน่ายชื่อพร้อมกับชาวบ้านคนไทยพลัดถิ่นอีกนับพันราย ต้องกลายเป็นผู้ไม่มีสถานะใดๆ จนถึงบัดนี้

ส่วนนายเกษม กล่าวว่า ปัจจุบันบ้านหนองยางพลับมีมุสลิมมะริดอาศัยอยู่ 9 ครอบครัว 49 คน ทางการเคยให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านเข้ามาสำรวจเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 มีการทำประชาคมให้ชาวบ้านรับรอง และอำเภอจัดทำบันทึกข้อมูลเพื่อดำเนินการออกบัตรเลขศูนย์ให้ชาวบ้าน ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามไปติดตามเรื่องกับทางอำเภอมาโดยตลอดแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ได้รับแจ้งเพียงว่าเรื่องอยู่ในขั้นตอนของกรมการปกครอง ที่ไม่อนุญาตเปิดให้บันทึกข้อมูลในระบบทะเบียนกลาง เพื่อขอเลขประจำตัว 13 หลัก

“เพิ่งได้ข่าวว่ามีหนังสือมาที่อำเภอแจ้งว่าให้เริ่มขั้นตอนทั้งหมดใหม่ การทำประชาคมหรือให้ชาวบ้านรับรองไม่ใช่เรื่องยาก แต่ปัญหาอยู่ที่ต้องมีค่าใช่จ่ายมาก ตอนนี้หลายคนต้องตกงาน และยังไม่รู้ว่าถ้าทำกระบวนการใหม่แล้วจะเกิดปัญหาเหมือนเดิมอีกหรือไม่” นายเกษม กล่าว

การไม่มีบัตรประชาชนหรือแม้กระทั่งบัตรเลขศูนย์ที่มีเลข 13 หลัก ทำให้คนไร้สัญชาติไม่ได้รับสิทธิหรือการคุ้มครองทางกฎหมาย ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิหลากหลายรูปแบบ เด็กๆ ไม่มีโอกาสทางการศึกษา หรือแม้กระทั่งการหางานรายวันตามโรงงาน เมื่อไม่มีบัตรใดๆ เลย ก็เป็นเรื่องยากที่จะมีใครยอมรับเข้าทำงาน หรือถ้าได้งานก็มักจะถูกกดค่าแรงต่ำ

ภรรยาและลูกสาวของนายเกษมหางานอยู่นานกว่าจะได้งานทำ เพราะไม่มีบัตรอะไรเลย มีเพียงหนังสือบันทึกจากอำเภอระบุว่าคนเหล่านี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติใช้เป็นหลักฐานสมัครงาน ทว่าภายหลังรัฐบาลเดินหน้ากวาดล้างแรงงานผิดกฏหมาย คนไทยพลัดถิ่นได้รับผลกระทบอย่างจัง ภรรยาและลูกสาวต้องตกงาน เนื่องจากเถ้าแก่กลัวว่าจะมีความผิด แต่ยังดีที่เขายังพอมีแรงช่วยกันขายโรตีประคับประคองชีวิตต่อไปได้

สำหรับบ่าววี ถือเป็นตัวแทนสำคัญของชาวบ้านมุสลิมมะริด ที่เข้าไปร่วมขบวนเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย(เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น) เขาเปิดเผยว่า ตนพยายามรวมรวมข้อมูลกลุ่มคนมุสลิมมะริดที่ยังมีปัญหาสถานะบุคคลได้ 248 ราย ล่าสุดได้ไปร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ เพื่อส่งเสียงและส่งต่อข้อมูลถึงรัฐบาลพร้อมกับคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มอื่น

“มุสลิมมะริดเป็นกลุ่มคนที่น่ากังวลที่สุด เราเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ถูกระบุอยู่ใน 1 ใน 14 กลุ่มชาติพันธุ์ตามหลักเกณฑ์ของกรมการปกครอง ฝ่ายมั่นคงก็ไม่ให้การยอมรับ จึงมีความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิ ขั้นตอนการต่อสู้จึงยากที่สุด” บ่าววี กล่าว

เมื่อถามว่า 15 ปีที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิได้บทเรียนอะไรบ้าง เขาตอบทันทีว่า สถานะยังไม่ได้ แต่ได้สำนึกร่วมกันที่เกิดจากต่อสู้ร่วมกับคนไทยพลัดถิ่น ทำให้รู้จักสังคมที่มีความหลากหลาย ความเห็นอกเห็นใจ ความเท่าเทียม

บ่าววีนำเอกสารจำนวนมากมาให้เราดู เขาอธิบายความซับซ้อนในเงื่อนไขทางกฏหมายอย่างเข้าใจ ทุกถ้อยคำชัดเจนกว่ากระบวนการรัฐที่ยืดเยื้อมานานนับสิบปี

——–

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →