เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเสมสิขาลัย ได้มีงานเสวนาเรื่อง “ทุนไทยไปทวาย จะทำร้ายหรือพัฒนา”โดยเริ่มต้นด้วยปาฐกถานำของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ซึ่งกล่าวว่าเมืองทวายเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม แต่เสียไปต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงพยายามกอบกู้ดินแดนที่เสียไปกลับคืนมาสำเร็จสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้คืนทวาย ตะนาวศรี มะริด ซึ่งรัชกาลที่ 1 ขึ้นช้างไปถึง 3-4 ครั้งแต่ตีไม่สำเร็จเพราะการสงครามโบราณไม่ใช่แค่แสดงพระราชอำนาจอย่างเดียว แต่มีเรื่อเศรษฐกิจเป็นสำคัญด้วยเพราะทวายเป็นเมืองท่าขายสินค้าซึ่งเป็นหัวใจของกรุงศรีอยุธยา แต่ได้กวาดต้อนคนทวายกลับมาและตั้งชุมชนขึ้นชื่อว่าบ้านทวายปกครองตัวเองเพราะสมัยก่อนราชการขอให้ชุมชนดูแลตัวเองโดยมีจางวางทวายจนถึงรัชกาลที่ 5
อาจารย์สุลักษณ์กล่าวว่า เมื่ออังกฤษทำสงครามกับพม่าครั้งแรกเพราะพม่าไปตียะไข่ และนำพระมหามัยมุนีซึ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดกลับพม่า แต่เวลานั้นยะไขเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว เมื่ออังกฤษรบกับพม่าครั้งที่สอง อังกฤษไม่แน่ใจจะชนะหรือไม่ แต่อังกฤษชวนไทยร่วมสงคราม แต่ไทยมีเงื่อนไขให้ยกดินแดนบริเวณชายฝั่งทวาย มะริด แต่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญอย่างมาก
“ผมชื่นชมที่คนทวายมีความเป็นตัวของตัวเอง พยายามรักษาอิสระจากพม่า อย่าลืมว่าพม่าเอาเปรียบชนกลุ่มน้อยมากกว่าไทย เพราะพม่ามีคนกลุ่มน้อยเต็มไปหมดซึ่งเมื่อรวมพลแล้วมากกว่าคนพม่าเสียอีก คนพม่ากลายเป็นชนกลุ่มน้อยกว่าเผ่าอื่น ดังนั้นพม่าจึงหาทางกดขี่เผ่าอื่นอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อนายพลเนวินครองอำนาจได้ดูถูกชนชาติอื่นและเปลี่ยนเชื่อเป็นเมียนม่าทั้งๆที่เรียกพม่านะถูกแล้ว”อาจารย์สุลักษณ์ กล่าว
อาจารย์สุลักษณ์กล่าวว่า สมัยปัจจุบันการถูกเผด็จการข่มเหงเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญเกิดจากภาวะเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่บรรษัทข้ามชาติเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ และคนเล็กคนน้อยจะถูกเอาเปรียบและถูกทำลายชีวิต เหมือนคนไทยที่ชุมชนมาบตาพุด จังหวัดระยอง ถูกทำลาย แต่โครงการที่เมืองทวายครั้งนี้จะใหญ่และเลวร้ายมากกว่ามาบตาพุดร้อยเท่า-พันเท่า
ขณะที่นายสิทธิพร เนตรนิยม นักปฎิบัติการวิจัย ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ปาฐกถเรื่อง “ถ่านไปเก่า ถึงเรื่องเล่าร่วมสมัย ไทย-ทวาย”ว่า ช่วง 4-5 ปีนี้ได้เห็นความเคลื่อนไหวของพี่น้องทวายมากขึ้นเพราะต้องการสร้างความรู้ในท้องถิ่นให้รอดพ้นจากการบุกรุกจากทุนภายนอกโดยกลุ่มนักปราชญ์ทวายได้ร่วมกันเขียนหนังสือปลุกเร้าให้คนทวายตระหนักและสะท้อนความไม่เหมือนเพื่อไม่ให้ถูกกลืนกลาย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเยาวชนที่เข้มแข็งมาก เพื่อต่อสู้กับการรุกรานที่ไม่ใช่แต่จากภายนอกเท่านั้น แต่จากคนภายใจชาติเดียวกันด้วย
ขณะที่นาย Aung Lwin ชาวทวายได้กล่าวถึงโครงการขนาดใหญ่ที่เข้าไปดำเนินการแสวงหาผลประโยชน์ในทวาย ระหว่างการเสวนา “ทุนไทยไปทวาย จะทำร้ายหรือพัฒนา” ว่า ทวายมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์มากและมีชายฝั่งติดต่อกับประเทศไทย ซึ่งเราอยู่ร่วมกันทุกศาสนา โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีโครงการต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เช่นโครงการท่อกาซ เขื่อน เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร ขณะที่รัฐบาลพม่าเริ่มไม่ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเพราะคิดว่ามีโครงการเหล่านี้อยู่แล้ว
“ปตท.สผ.เข้าไปสำรวจและทำโครงการต่างๆในทวายเมื่อหลายปีก่อน ที่ต้องการพูดถึงปตท.เพราะก๊าซที่ขุนในทวายทั้งหมดส่งมาเมืองไทยและคนทวายก็ไม่มีก๊าซใช้ ตอนนี้ภาคประชาสังคมทวายไม่ได้อยู่เฉย เรากำลังต่อสู้กับเรื่องพวกนี้อยู่ และมีการเคลื่อนไหวทางสังคมพูดถึงปัญหาต่างๆ คำถามใหญ่คือ พวกเราชาวทวายต้องการการพัฒนาที่อยู่ในกรอบและความรับผิดชอบของการลงทุน หากจะทำโครงการใหม่ก็ควรแก้ปัญหาเก่าให้หมดก่อน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ต้องทำในภาพกว้างหรือระดับยุทธศาสตร์ด้วย ควรมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องทันท่วงทีและเรื่องการส่วนร่วมเพื่อให้ชาวบ้านตัดสินใจถูกต้อง ที่สำคัญสุดคือควรมีการคิดถึงทางเลือกอื่นของการพัฒนาที่ไม่ใช่แค่โครงการขนาดใหญ่อย่างเดียว”นาย Aung Lwin
ศ.ดร.ซาโตรุ มัตซึโมโต คณะการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม มหาวิทยาลับโฮไซ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่าตอนนี้ญี่ปุ่นลงเงินในโครงการทวายไปราว 6 ล้านบาทซึ่งถือว่าไม่มากนัก โดยฝ่ายไทยพยายามอย่างมากให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งช่วงนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯไทยพบกันได้มีการเจรจาเรื่องการศึกษาในภูมิภาคโดยปี 2015 เริ่มลงนามในบันทึกข้อตกลง และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ได้ลงนามเป็นนิติบุคลร่วมกัน 3 รัฐบาลคือญี่ปุ่น ไทย พม่า ทำให้หลายคนคิดว่าญี่ปุ่นกระโดดเข้ามาแล้วและคิดว่าโครงการเดินหน้าไปได้ และปี 2016 องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า)เริ่มสำรวจเพิ่มเติม โดยไจก้าได้ขยายการศึกษาในส่วนของตะนาวศรีทั้งภูมิภาคและเจาะจงในเรื่องท่าเรือน้ำลึก
ดร.ซาโตรุ มัตสึโมโตะ อาจารย์จากคณะการสื่อสารผสานวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยโอเซอิ กล่าวว่าสาเหตุที่ญี่ปุ่นสนใจเพราะ 1.ความเชื่อมโยงระหว่างกันของการเปิดเสรีอินโด-แปซิฟิกคือเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกโดยมีทวายเป็นจุดเชื่อมต่อหรือศูนย์กลางสองฟากมหาสมุทร นอกจากนี้ทวายเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจทางใต้ที่ไปเชื่อมต่อถึงเวียดนาม อย่างไรก็ตามในนโยบายว่าญี่ปุ่นจะมีอิทธิพลในพื้นที่ใดแค่ไหนนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้พูดถึงโครงการทวายเลย แสดงว่าเป็นโครงการที่ล้มเหลว 2. ญี่ปุ่นสนใจเพราะเป็นภูมิภาคการเมืองโดยแข่งกับประเทศจีนซึ่งมียุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก ซึ่งจีนพยายามสร้างท่าเรือสายต่างๆทั้งที่บังคลาเทศ ศรีลังกาและพม่า แต่ตนไม่เข้าใจว่าทำไมเมื่อจีนทำไปแล้ว ญี่ปุ่นถึงอยากทำด้วยคือญี่ปุ่นก็จะสร้างท่าเรือในทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวด้วยเช่นกัน
“เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมีโครงการย่อย 3 โครงการ ญี่ปุ่นไม่สนใจโครงการการสร้างถนนและเขตเศษฐอุตสาหกรรมเพราะเป็นผลประโยชน์ของไทยเป็นหลัก แต่ที่ญี่ปุ่นสนใจจริงๆคือท่าเรือน้ำลึก แต่หากวันหนึ่งญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโครงการทวายจริงๆ เราก็มีมาตรฐานในเรื่องการจัดการสังคม แต่ละทุกองค์กรมีแนวทางในการพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยเป็นมาตรฐานสากลของธนาคารโลก การดูแลและเปิดเผยข้อมูล การทำอีไอเอ ซึ่งไจก้ามีคณะกรรมการให้คำปรึกษาหารือด้วย แต่น่าเสียดายที่เรื่องมาตรฐานเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง”ศ.ดร.ซาโตรุ มัตซึโมโต กล่าว
ดร.ซาโตรุ มัตซึโมโต กล่าวว่าจากการสนทนากับคนของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นและไจก้า ต่างก็เพิกเฉยเรื่องการที่จะให้เงินร่วมทุนในโครงการนี้ เพราะในประเทศพม่า ญี่ปุ่นมีโครงการอยู่เยอะแยะจึงไม่อยากมายุ่งกับโครงการที่มีข้อขัดแย้ง แต่ที่ดูเหมือนถูกผลักดันโดยญี่ปุ่นเพราะมีที่ปรึกษาของนายกฯอาเบะคอยผลักดันซึ่งเป็นเหตุผลด้านการเมืองอยู่ อย่างไรก็ตามตนมองว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 3 ประการคือ 1. ไทยให้เงินกู้โครงการสร้างถนน 2. พม่าขอร้องให้ญี่ปุ่นช่วยศึกษาท่าเรือน้ำลึกทวาย 3. ปฏิกิริยาจากจีนคือหากจีนต้องการขึ้นมา ญี่ปุ่นก็อาจคิดถึงทวาย ถ้าจีนเริ่ม ญี่ปุ่นก็อาจจะเริ่ม
ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ถนนจากพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรีไปยังเมืองทวายนั้น ได้สร้างผ่านชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่เขตยึดครองของทหารเคเอ็นยู โดยโจทย์ของไทยคือต้องการขยายเศรษฐกิจที่เต็มแล้วจากมาบตาพุดไปทวาย แต่โจทย์ของพม่าคือเอาเศรษฐกิจนอกระบบที่อยู่ในมือของทหารเคเอ็นยูมาไว้ในระบบ หรือเปลี่ยนจากลูกกระสุนมาเป็นเงิน แต่คนพื้นที่จะไม่ได้อะไรเลย เพราะแทนที่ชาวบ้านจะได้กลับมาทำมาหากินหลังจากหนีภัยสงคราม กลับต้องมาต่อรองกับทุนใหม่อีก เพราะฉะนั้นโจทย์ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้อำนาจต่อรองอยู่ในมือของชาวบ้านได้มากที่สุด