Search

หวั่น“มโนภาพ”ดูแค่แผนที่แล้วประกาศเขตอุทยานออบขาน ชาวบ้านพาเจ้าหน้าที่ลุยป่าสำรวจของจริง-ชี้จุดไร่ซาก

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 มีความเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนคัดค้านการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ประมาณ 142,631 ไร่ ซึ่งทับที่ดินทำกินและป่าชุมชนโดยมีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 26 หมู่บ้าน 7 ตำบลใน 4 อำเภอ

นายพฤ โอ่โดเชา ตัวแทนชาวปกาเกอะญอหรือชาวกะเหรี่ยง อำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 14-19 มกราคม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติออบขาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เตรียมจะลงสำรวจพื้นที่ป่าออบขานที่ชาวบ้านได้เสนอให้มีการกันพื้นที่ออกจากเขตอุทยานเนื้อที่ประมาณ 24,500 ไร่ ซึ่งเป็นป่าที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงถือเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณและเป็นที่ตั้งของชุมชน ป่าใช้สอย ไร่หมุนเวียน และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ โดยชาวบ้านอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์และดูและรักษาตามวิถีกะเหรี่ยงมาตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนมีการประกาศจัดตั้งอุทยานออบขาน

“เราจะพาเจ้าหน้าที่ไปดูว่าพื้นที่จิตวิญญาณของกะเหรี่ยงคืออะไรก่อนที่เขาจะประกาศ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อ้างแต่ภาพถ่ายทางอากาศ เราพยายามโต้แย้งเพราะเขาจะกันให้ไว้ให้แค่ 200 ไร่ เราต้องการป่าที่ดูแลโดยชุมชน เราเคยเจรจาเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว เราต้องการกันที่ทำกินอีกหลายส่วนออกมา เพราะตอนนี้เป็นไร่ซากซึ่งเขาไม่เห็น ดังนั้นครั้งนี้ต้องมาสำรวจกันใหม่” นายพฤ กล่าว

นายพฤ กล่าวต่อว่า ก่อนมีการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ชาวบ้าน ม.6 และ ม.11 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กำลังหารือร่วมกันว่าจะนำเสนออย่างไรให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจอย่างถูกต้องว่า จุดใดบ้างคือพื้นที่ทางจิตวิญญาณหรือพื้นที่ทำกินที่ต้องการให้กันออก เนื่องจากสภาพพื้นที่ทั้งหมดคือผืนป่า ลำน้ำธรรมชาติ ภูเขา ไม่ได้มีสภาพเป็นสวนหรือที่นาเหมือนที่ทำกินของคนข้างล่าง ชาวบ้านจึงกังวลว่าหากรัฐยังไม่เข้าใจวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงหรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณว่าคืออะไร การเก็บข้อมูลครั้งนี้อาจทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกป่าได้

“ลำห้วยทั้งลำห้วยเป็นที่หากบ หาเขียด หนองน้ำทั้งหนองน้ำ ต้นไม้ทุกต้น ต้นผึ้งทุกต้น ดอยทั้งลูก ป่าทั้งผืน ชาวบ้านต้องไปติดป้ายทุกจุดหรือไม่ จะให้ชาวบ้านอธิบายเป็นภาษาไทยก็อาจสื่อสารไม่เข้าใจ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ชาวบ้านก็ไม่มีเงินต้องขายข้าวเอาเงินมาทำป้าย หาเครื่องจีพีเอสเตรียมข้อมูลไว้ก่อน ถ้า 5 วัน เดินสำรวจไม่เสร็จแล้วจะต้องเดินต่ออีกกี่วัน” นายพฤ กล่าว

นายพฤ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ชาวบ้านกังวลมากที่สุดคือกระบวนการพิจารณาประกาศเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมประกาศ ที่แม้ชาวบ้านจะมีส่วนในการเสนอความคิดเห็นหรือข้อมูล แต่กลไกระดับบนไม่ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ผู้ได้รับผลกระทบมีสิทธิร่วมตัดสินใจ ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันว่าเสียงของชาวบ้านจะมีผลมากน้อยอย่างไรต่อการตัดสินใจ หรือจะมีช่องทางใดให้ชาวบ้านคัดค้าน สุดท้ายเสียงชาวบ้านเป็นเพียงข้อมูลประกอบ แต่อำนาจการตัดสินใจยังเป็นของรัฐ

ทั้งนี้จากข้อมูลกรมอุทยานฯ ระบุถึงนโยบายว่าด้วยการประกาศพื้นที่ป่าอุทยานฯเพิ่มอีก 21 แห่งทั่วประเทศ รวมกันกว่า 5 ล้านไร่ ประกอบด้วย 1.อช.ถ้ำสะเกิน น่าน 2.อช.ขุนสถาน น่าน 3.อช.นันทบุรี น่าน 4.อช.แม่ตะไคร้ เชียงใหม่ 5.อช.ดอยเวียงผา เชียงใหม่ 6.อช.ออบขาน เชียงใหม่7.อช.แม่โถ เชียงใหม่ 8.อช.ถ้ำผาไท ลำปาง 9.อช.ดอยจง ลำปาง 10.อช.ลำน้ำกก เชียงราย 11.อช.แม่เงา แม่ฮ่องสอน 12.อช.น้ำตกพาเจริญ ตาก 13.อช.แก่งเจ็ดแคว พิษณุโลก 14.อช.น้ำตกเจ็ดสาวน้อย สระบุรี 15.อช.นายูง-น้ำโสม อุดรธานี 16.อช.หาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ นครศรีธรรมราช 17.อช.ธารเสด็จ-เกาะพะงัน สุราษฎร์ 18.อช.อ่าวมะนาว-เขาตันหยง นราธิวาส 19.อช.สันกาลาคีรี สงขลา 20.อช.น้ำตกธีโป นราธิวาส 21.อช.อ่าวสยาม ภูเก็ต

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →