
วันนี้ (31 มกราคม 2562) ชาวบ้านสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ประมาณ 100 คน เดินทางไปศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้มีการชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและปรับแก้ไขของคณะกรรมาธิการ เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดจนมีเนื้อหาอันเป็นโทษต่อชาวบ้านที่อยู่ในป่า โดยมีนาย คมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนแทน
พฤ โอโดเชา ชาวบ้านป่าคา หมู่ 11 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ผู้ได้รับผลกระทบจากการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน กล่าวว่า ตนได้ต่อสู้เรื่องการเตรียมประกาศอุทยานฯ มาตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งแต่เดิมตนก็เห็นภาพการรุกรานโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ชาวบ้านในป่าได้รับผลกระทบ เช่น การถูกดำเนินคดี การเผาบ้าน ไล่รื้อ แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขนี้กลับไม่ฟังเสียงประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจริง แล้วยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐ

“พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ไม่ฟังเสียงท้วงติงและข้อเสนอจากชาวบ้านที่อยู่ในป่าและได้รับผลกระทบจริง และการเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าก็ทำไม่ได้ โทษหนักกว่าเดิม แม้แต่การลงพื้นที่ตรวจสอบ คำสั่งศาลก็ไม่ต้องมี เขาใช้ดุลยพินิจอย่างเดียว รื้อบ้าน ค้นบ้าน ใช้ดุลยพินิจทำได้หมด” พฤกล่าว
นอกจากนั้น ในประเด็นที่มีการบรรจุมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ว่าด้วยเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศออร์โธสีไว้ในร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ นี้ ยังเป็นหนึ่งในข้อห่วงกังวลของชาวบ้าน เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอได้
“พื้นที่ไร่หมุนเวียนของเราก็จะไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.อุทยานฯ เขาใช้เกณฑ์มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ถ้าไร่หมุนเวียนพักฟื้นไป ปีที่สี่จะเป็นพื้นที่ของรัฐ มติ ครม. ตัวนี้ก็ยกระดับเป็น พ.ร.บ. ในกฎหมายอุทยานฯ นี้ จะเป็นปัญหาหนักของพวกเรา สิทธิที่เราดูแลกันมาหายร้อยปีจะสูญสิ้นไปกับ พ.ร.บ. ฉบับใหม่” ชาวบ้านป่าคากล่าว

ด้าน ดิเรก กองเงิน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เห็นว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรีและ สนช. นี้ถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรม เพราะการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ใช้ร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชนที่รวบรวมรายชื่อ 10,744 รายชื่อยื่นเสนอ เหตุเพราะนายกรัฐมนตรีไม่ลงนาม ทำให้ไม่มีร่างคู่ขนานของประชาชนเข้าสู่การพิจารณา เนื้อหาจึงออกมาโดยไม่คำนึงถึงชุมชน
“นายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงนาม ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ลงนามแต่ร่างของรัฐบาล จึงมีประชาชนเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายไว้ก่อน และฟ้องนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ลงนามในร่าง พ.ร.บ.ของภาคประชาชน ที่ทำถูกต้องทุกกระบวนการในการเข้าชื่อ ถ้าหากว่า สนช. ยังจะพิจารณาร่างของรัฐบาลด้านเดียว การเคลื่อนไหวเรียกร้องจะมีต่อไป และยกระดับเป็นการเรียกร้องที่ส่วนกลางของประเทศ”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ศรีสุวรรณ จรรยา สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนเข้ายื่นฟ้องนากยกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติ กรณีการรับรองหรือไม่รับรองร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอในเวลาอันควร ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย