Search

พีธีหล่อโบงของมอแกนเกาะสุรินทร์ ลมหายใจแผ่วเบาของอันดามัน




หมายเหตุ -ไฟไหม่ใหญ่ในหมู่บ้านชาวมอแกนเกาะสุรินทร์ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน คุณภาสกร จำลองราช เคยลงพื้นที่ไปสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเลที่นี่ซึ่งกำลังเผชิญมรสุมใหญ่เช่นเดียวกับชาวเลอันดามันที่อื่น
หมู่บ้านชาวเลที่นี่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ แต่ลึกๆ แล้วชีวิตของชาวมอแกนที่นี่ก็ลำบากไม่แพ้ที่อื่น

นางหมีเซียเดินออกจากบ้านเพื่อนมายังริมหาดซึ่งเป็นปะรำพิธีด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก ในฐานะแม่หมอประจำชุมชน นางใช้เวลาครึ่งค่อนวันในการปลุกปล้ำบีบนวดและร้องอ้อนวอนให้ผีร้ายช่วยออกจากร่างเด็กสาวมอแกนรายหนึ่ง ที่นอนดิ้นทุรนทุรายมาตั้งแต่หัวรุ่ง

เพื่อนบ้านต่างมามุงดูและเอาใจช่วย ในขณะที่แม่ของสาวน้อยเคราะห์ร้ายร่ำไห้อยู่ตลอดเวลา แต่ผีร้ายช่างไม่ปรานีเอาเสียเลย มันยังคงทำให้ลูกสาวของเธอปวดท้องรุนแรง และร้องคร่ำครวญอย่างน่าเวทนา

นางหมีเซียและคนในหมู่บ้านมอแกนอับจนหนทางช่วยเหลือได้ ในที่สุดพ่อของเด็กหญิงจึงตัดสินใจอุ้มเธอลงเรือไปหาหมอแผนปัจจุบันบนฝั่ง แต่ระยะทางจากหมู่เกาะสุรินทร์ หากไปด้วยเรือหัวโทงต้องกินเวลาหลายชั่วโมง จึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากเรือเร็วของอุทยานฯ

“เขาไม่ยอมปล่อย” นางหมีเซียปาดเหงื่ออย่างเหนื่อยหน่าย นางเชื่อเต็มอกว่าผีเจ้าที่ รู้สึกโกรธที่ชาวบ้านไม่ยอมเซ่นสรวงด้วยเต่าเหมือนที่เคยทำมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และตามคำทำนายของผู้อาวุโสบอกว่าผีร้ายจะมาเอาชีวิตคนในหมู่บ้านทุกปี ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

แม้เป็นผู้สืบทอดภูมิความรู้จากบรรพบุรุษและเคยช่วยเหลือเพื่อนบ้านมาแล้วมากมาย แต่นับวันนางหมีเซียและเพื่อนบ้านมอแกนกลับยิ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และต้องรอความหวังจากปัจจัยภายนอก ทั้งๆ ที่วิถีชนเคยอยู่กันอย่างสันโดษ

เด็กๆ ที่กระโดดโลดเต้นและดำผุดดำว่ายอยู่ริมทะเล อาจไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่คนที่ผ่านคลื่นผ่านลมมาแล้ว 60 กว่าปีอย่างนาง ย่อมรับรู้ถึงสถานการณ์รายรอบที่ส่งผลให้วิถีชนเสื่อมทรุด

ขณะที่ชาวบ้านหลายคนเริ่มใจคอไม่ดี เพราะพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า “หล่อโบง” ในปีนี้ยังไม่ได้ทำกันเลย เพราะปัจจัยภายนอกอีกเช่นกันที่ทำให้ชาวมอแกนต้องเป็นฝ่ายคอยและคอย

นางหมีเซียเองเดินทางไปมาจากเกาะพระทอง เพื่อรอพิธีกรรมประจำปีแล้วเกือบ 7 วัน จนกระทั่งย่างเข้าวันที่ 8 หรอก นางถึงได้ทำหน้าที่สมาชิกชุมชนที่ดีตามความเชื่อเยี่ยงทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

หมู่บ้านมอแกนบนเกาะสุรินทร์ จ.พังงา มีชาวบ้านอยู่ 60 หลัง ส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังช่วยกันดำเนินเรื่องอยู่

ชาวเลที่นี่ต้องพึ่งพิงอยู่กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์และนักท่องเที่ยว เพราะอาชีพเดิมคือดำปลิงและจับหอยกลายเป็นสิ่งต้องห้าม แม้กระทั่งหาปลากินเองก็ยังถูกจำกัด

รายได้หลักของชาวบ้านมาจากการเป็นลูกจ้างอุทยานฯและรับจ้างขับเรือพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำดูปะการัง

“เขารับปากพ่อว่าจะดูแลชาวมอแกนอย่างดี” นางหมีเซียย้อนอดีตเมื่อครั้งแรกเริ่มก่อตั้งอุทยานฯแห่งนี้ และตอนนั้นชาวมอแกนยังตั้งบ้านเรือนอยู่บนฝั่งช่องขาด ซึ่งเป็นที่ทำการอุทยานฯในปัจจุบัน “เขามาขอพื้นที่ และพ่อก็ให้”

พ่อของหมีเซียคือ มาดะ ซึ่งเป็นผู้อาวุโสและผู้นำทางจิตวิญญาณ และชาวบ้านยกย่องให้เป็นเจ้าของเกาะสุรินทร์

พื้นที่ราบกว้างใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะถูกแปลงเป็นที่ทำการอุทยานฯ รายล้อมด้วยบ้านพักและสถานที่กางเต๊นท์รองรับนักท่องเที่ยว ขณะที่ชาวมอแกนค่อยๆ ถูกขยับให้ถอยห่างออกไป จนกลายเป็นหมู่บ้านมอแกนในปัจจุบัน

“ให้เขาอยู่จะได้มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ เขาจะได้ดูแลมอแกนด้วย” นางหมีเซียเชื่อเหมือนกับพ่อที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ผ่านมาชีวิตของคนมอแกนต้องขึ้นๆ ลงๆ ตามทัศนคติของผู้บริหารอุทยานฯแต่ละยุคแต่ละสมัย แม้แต่ตัวนางเองที่เป็นถึงลูกอดีตเจ้าของเกาะก็ต้องย้ายไปอยู่ที่บ้านปากจกบนเกาะพระทอง ห่างออกไปทางใต้ เนื่องจากหากินสะดวกกว่า

“เราเคยขออนุญาตจับเต่ามาไหว้ผี แต่เขาไม่ยอม” เต่าที่นางพูดถึงคือเต่าตนุซึ่งในอดีตมีอยู่ดาษดื่นตามฤดูกาล ซึ่งปัจจุบันลดน้อยลงมาก แม้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากชาวเลเป็นหลัก แต่ชาวมอแกนก็ตกเป็นจำเลย นางหมีเซียและชาวบ้านได้แต่เก็บความชอกช้ำไว้ในใจที่พิธีกรรมดั้งเดิมต้องถูกเปลี่ยนแปลง

เครื่องเซ่นสรวงเปลี่ยนจากเต่ากลายเป็นไก่ซึ่งแทนกันไม่ได้ในความรู้สึกของคนมอแกน แม้ชาวบ้านพยายามทำความเข้าใจความหมายของคำว่าอนุรักษ์และกฎหมายบ้านเมือง แต่ผลกระแทกที่หล่นลงบนความเชื่อ ทำให้ชาวมอแกนต้องหวานอมขมกลืนเรื่อยมา

“ลำบาก” นางหมีเซียย้ำคำนี้บ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเห็นเพื่อนบ้านต้องเสียชีวิต “ไปเอาเต่าที่เกาะย่านเชือกก็ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวถูกพม่าจับ”

เกาะย่านเชือกที่นางพูดถึงเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรรอนแรมของชาวมอแกน ตั้งแต่หมู่เกาะมะริดในพม่าเรียบเรื่อยฝั่งไปจนถึงเกาะอาดัง-หลีเปะ จ.สตูล ซึ่งในปัจจุบันเกาะย่านเชือกมีชาวมอแกนอีกกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพม่า

“คนที่เกาะเหลา เกาะพยาม เกาะช้าง เป็นพี่น้องกับพวกเราที่นี่” ทั้ง 3 เกาะที่นางพูดถึงอยู่ในระนอง แต่หมู่เกาะสุรินทร์อยู่จังหวัดพังงา แต่ชาวมอแกนไม่เคยคิดว่าเกาะย่านเชือก เกาะเหลา หรือเกาะสุรินทร์ อยู่กันคนละเขตแดน แต่ผลสุดท้ายเส้นเขตแดนของรัฐชาติยุคปัจจุบันก็สำแดงเดชจนกักขังยิปซีทะเลให้ต้องอยู่กับที่

เสียงกลองสอดประสานกังวานไปทั่วเกาะ ทั้งกลองยาวและกลองชั่วคราวจากถังน้ำมันและหม้อ งานฉลองเริ่มขึ้นตั้งแต่เย็นวันที่ 19 เมษายน ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวงผีต่างๆ

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้านแวะเวียนมามุงดูปะรำพิธีเป็นระยะๆ พร้อมกับหัวเราะชอบใจที่เห็นเหล่านักเต้นแสดงอาการต่างๆ บางคนเต้นชักกระตุกวนรอบเสาหล่อโบง บางคนเต้นไปร้องไห้ไปเหมือนไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ยามสายของวันรุ่งขึ้น แสงระยิบระยับกำลังส่องสะท้อนผืนน้ำสีเขียวอมคราม ชาวบ้านช่วยกันนำเรือก่าบางลำน้อยที่สร้างขึ้นตั้งแต่สองวันก่อนไปลอยในกลางทะเลลึก

ขบวนเรือหัวโทงเป็นไปอย่างคึกคัก เสียงเพลงเสียงดนตรีไม่ขาดสาย เรื่องร้ายต่างๆ ถูกใส่ลงเรือก่าบางจำลองและปล่อยให้ไหลไปสุดขอบน้ำขอบฟ้า

สุดท้ายขบวนเรือแล่นต่อไปยังอ่าวแม่ยายซึ่งเป็นสุสานของบรรพชนมอแกน เพื่อนำเสาหล่อโบงและศาลไปไว้

เสียงเพลงเสียงกลองจบลงและใกล้ช่วงเวลาของการปิดเกาะในฤดูมรสุม นางหมีเซียและชาวบ้านบางส่วนแยกย้ายกลับไปเกาะพระทอง

วิถีชีวิตของอดีตนักรอนแรมแห่งท้องทะเลต้องกลับไปรับจ้างบนฝั่งเพื่อหาเงินประทังชีพต่อไป เพราะผืนทะเลไม่ใช่ของชาวมอแกนอีกแล้ว ทุกคืบทุกศอกของแผ่นน้ำถูกจับจองเป็นเจ้าของเกือบสิ้น

ลมหายใจแห่งอันดามันแผ่วเบาลงทุกที

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →