
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ชุมชนมอแกนที่อ่าวบอนในหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ภายหลังจากถูกไฟไหม้เผาบ้านเรือนกว่า 60 หลัง ตั้งแต่คืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์โดยขณะนี้ชาวมอแกนยังคงอาศัยอยู่ในเต็นท์และอาคารเรียน ขณะที่ข้าวของบริจาคยังคงทยอยมาจนเกือบเต็มอาคารเก็บซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้แจกให้ชาวบ้านเนื่องจากผู้ว่าราชการพังงามอบหมายให้ทางอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ แต่ผ่านไปแล้ว 3 วันทางอำเภอก็ยังไม่ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวเลถึงกระบวนการที่ชักช้า

ขณะที่ชาวมอแกนหลายรายยังคงขุดคุ้ยเถ้าถ่านบนพื้นดินซึ่งเคยเป็นบ้าน เนื่องจากมีความหวังว่าจะเจอทองและทรัพย์สนมีค่าบางอย่างที่เก็บซ่อนเอาไว้และสูญหายไปในกองเพลิง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางอุทยานฯได้ส่งเจ้าหน้าที่มาปักหลักและวัดพื้นที่เพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านหลายคนต่างบอกว่าไม่รู้ว่าแบบบ้านหลังใหม่จะออกมาอย่างไรเพราะไม่เคยมีการสอบถามพวกตน ทำให้รู้สึกกังวลเพราะกลัวว่าจะขัดกับวิถีชีวิตของชาวเล
นายเงย กล้าทะเล ผู้ประสานงานชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งยังคงคุ้ยหาทรัพสินย์กล่าวว่า รู้สึกเสียดายทอง 1 บาทที่เก็บเงินสะสมซื้อมาได้ นอกจากนี้ยังมีเงินสดอีก 3 หมื่นบาทที่ถูกไฟไหม้ รวมแล้วทรัพย์สินที่ถูกไฟไหม้ไปเกือบ 2 แสนบาท
“ผมใช้เวลานานกว่าจะเก็บเงินและทองได้เท่านี้ ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะเก็บได้เท่านี้อีกหรือไม่ ชาวบ้านบางคนสูญเงินและทองมากกว่าผมอีก เราไม่รู้เลยเรื่องความช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร” นายเงย กล่าว

นายเงยกล่าวว่า ในเรื่องของการสร้างบ้านใหม่นั้น ยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะไม่เคยมีใครเรียกชาวมอแกนไปสอบถาม แต่โดยส่วนตัวแค่เขาสร้างใหม่ก็ดีใจแล้ว ซึ่งหากเป็นไปได้ก็อยากได้แบบเดิมคือบ้านไม้มุงหลังคาจาก แต่อยากให้ขยายพื้นที่ปลูกสร้างออกไปอีกเพราะเดิมแออัดมาก โดยบางหลังอยู่กันนับสิบคน
“อยากได้บ้านไม้ที่คงทนกว่าเดิม ควรปลูกห่างกันหน่อย และหน้าจั่วต้องทะแยงกัน เราเชื่อว่า ถ้าหน้าตรงกันจะทำให้เจ็บป่วย ที่สำคัญหากเกิดไฟไหม้จะได้ไม่เหมือนเหตุการณ์ครั้งนี้ ถ้าเป็นไปได้ควรสร้างเป็นสองหย่อมบ้าน” นายเงยกล่าว
นางหมี่เซียะ กล้าทะเล ผู้นำทางจิตวิญญาณ วัย 73 ปี กล่าวว่า รู้สึกเสียดายบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านที่ถูกเผาไปในกองไฟ เพราะกลัวว่าเวลาเดินทางไปข้างนอกจะถูกจับ ทั้งนี้ภายหลังจากเกิดไฟไหม้ ได้มีญาติพี่น้องจากเกาะต่างๆ มาเยี่ยมให้กำลังใจและมีข้าวของมาฝาก
“ถ้าเขามาถามก็จะบอกว่าอยากได้บ้านคล้ายๆ แบบเดิม ที่สำคัญคือต้องอยู่ติดทะเล แต่ผ่านมาแล้ว 3 วันยังไม่เห็นมีใครถาม เราได้แต่ยืนมอง” นางหมี่เซียะ กล่าว

แม่เฒ่าชาวมอแกนกล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงลูกหลานเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะอยู่กันอย่างไร สำหรับตนนั้นคงอยู่อีกไม่นาน ที่ผ่านมามีคนชวนไปอยู่บนฝั่งที่เกาะพระทอง แต่เคยไปอยู่แล้วร้อนเพราะไม่ติดทะเลในที่สุดจึงกลับมาอยู่บนเกาะสุรินทร์เช่นเดิม
“ฉันเกิดที่นี่ พ่อแม่ก็ตายที่นี่ ฉันถึงไม่อยากไปไหน แต่ละปีก็ทำพิธีหล่อโบงให้ลูกหลาน ได้ขอขมาผี แม้จะขาดเครื่องเซ่นบางอย่างไปบ้าง เช่น เต่า แต่เราก็ใช้ไก่แทน ฉันหวังว่าพวกเราจะได้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่คิดว่าจะเกิดไฟไหม้ใหญ่ขนาดนี้” นางหมี่เซียะ กล่าว
ด้านนายพุทธพจน์ คูประสิทธิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์กล่าวว่า ในวันที่ 8 ทหาร 30 นายจะมาลงพื้นที่เพื่อเตรียมสร้างบ้าน โดยพื้นที่ชุมชนจะไม่มีการขยายคือเนื้อที่ประมาณ 6.16 ไร่ เท่าเดิมโดยแบ่งบ้านออกเป็นหย่อม หย่อมละ 20 หลัง และเว้นระยะห่างระหว่างบ้านให้มากกว่าเดิม ส่วนแบบบ้านนั้นคงคล้ายของเดิม คือเป็นไม้และหลังคามุงจาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ชาวบ้านบ่นว่าชุมชนค่อนข้างแออัดสามารถขยายพื้นที่ไปยังหาดอื่นที่ชาวเลเคยอยู่ได้หรือไม่ นายพุทธพจน์กล่าวว่า คงไม่ขยายไปที่หาดอื่นเพราะต้องการควบคุมดูแลในวิถีชีวิตโดยต้องคำนึงถึงสภาพสิ่งแวดล้อมด้วย
“ทุกวันนี้ชาวมอแกนมีรายได้ที่พออยู่ได้ ชาวบ้าน 50 คนทำงานรับจ้างอยู่กับอุทยานฯ ข้าวเช้า ข้าวกลางวันก็กินอยู่กับเรา อาหารเหลือก็ขนกลับบ้านได้ พวกผู้ชายก็ไปเป็นลูกจ้างบริษัททัวร์ ส่วนพวกคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่บ้านก็ทำของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยว” หัวหน้าอุทยานฯกล่าว
เมื่อถามถึงข้าวของบริจาคที่ยังไม่ได้แจกกองไว้จนแทบล้นอาคาร นายพุทธพจน์กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มอบให้อำเภอเป็นผู้รับผิเชอบ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ส่งทีมมา แต่ทราบว่าจะมาในวันที่ 7
“ตอนนี้ข้าวของบริจาคมากมายจนเชื่อว่าชาวบ้านกินใช้ไม่หมดในเวลาอันรวดเร็ว ผมอยากบอกผู้ที่ต้องการบริจาคว่า ขอให้ชะลอการบริจาคไว้ก่อนได้หรือไม่ พอหมดฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนเมษายนซึ่งชาวบ้านจะไม่มีรายได้ค่อยบริจาค ถึงเวลานั้นเราจัดระบบและตรวจสอบเรียบร้อยก็จะได้รู้ด้วยว่าชาวบ้านเขายังขาดแคลนอะไร” นายพุทธพจน์ กล่าว