Search

เร่งประชุม กก.ชาวเลด่วนพิจารณาฟื้นฟูมอแกนเกาะสุรินทร์ “พล.อ.สุรินทร์”แนะอุทยานยึดหลักนิติธรรม ระบุชาวเลอยู่ก่อนควรให้สิทธิขยายพื้นที่แออัด อดีต กสม.ชี้ศึกษาบทเรียนสึนามิ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง 1 ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการฟื้นฟูชาวมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ภายหลังจากหมู่บ้านถูกไฟไหม้กว่า 60 หลังซึ่งทางจังหวัดและอุทยานฯกำลังเร่งสร้างบ้านหลังใหม่แต่หลายฝ่ายยังกังวลเรื่องแบบบ้านและพื้นที่ที่ชาวเลอยู่กันอย่างแออัดและไม่มีการขยายเพิ่มขึ้น ว่าก่อนจะเดินหน้าอะไรควรสร้างความเข้าใจหรือหลักคิดให้ตรงกันก่อนว่า 1.ชาวเลอยู่ในพื้นที่อันดามันมาก่อนตั้งประเทศไทยและก่อนจัดตั้งอุทยาน ดังนั้นโดยหลักนิติธรรมแล้วไม่ควรทำอะไรที่ไปกระทบสิทธิที่มีอยู่เดิมของพวกเขา

พลเอกสุรินทร์กล่าวว่า 2.ต้องไม่มีการทำลายวิถีชีวิตที่ชาวเลอยู่กันมายาวนาน หรือหากมีการอนสิทธิก็ต้องหาทางออกให้พวกเขาด้วย อย่างกรณีเกิดสึนามิก็มีคนใช้โอกาสกวาดชุมชนชาวเล 13 แห่งออกจากพื้นที่ เพราะฉะนั้นในการเกิดไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้ก็ไม่ควรถือโอกาสกวาดต้อนชาวบ้านเพราะต้องไม่ลืมว่าชาวมอแกนอยู่บริเวณนี้มาก่อนอุทยาน ดังนั้นเขาควรได้รับสิทธิเดิมโดยการสร้างบ้านหลังใหม่ที่มั่นคงและถูกสุขลักษณะรวมทั้งถูกวิถีชีวิต เช่น อยู่ไม่ไกลจากที่จอดเรือ

“เมื่อก่อนชาวมอแกนเขาอยู่กันตามอ่าวต่างๆกระจัดกระจายแต่ถูกกวาดต้อนมาไว้ที่เดียวกัน ดังนั้นเมื่อเกิดความแออัดก็ควรขยายพื้นที่ให้พวกเขา พวกเขาอยู่มาก่อนแต่คุณไปยึดเขามา ก็ควรคืนให้เขาบ้าง ผมได้โทรศัพท์คุยกับรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะต้องการให้เรียกประชุมคณะกรรมการชาวเลโดยเร่งด่วนเพื่อหยิบยกเรื่องชาวมอแกนเกาะสุรินทร์มาพิจารณา โดยเชิญฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุทยานฯ ผู้แทนคณะกรรมการกฤษฏีกา ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้แทนสภาทนายความ และคนอื่นๆมาร่วมหารือกัน”พลเอกสุรินทร์ กล่าว และว่าที่สำคัญคืออยากเชิญฝ่ายปกครองให้มาเป็นหลักทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตามกฎหมายเพราะไม่มีกฎหมายข้อใดที่ให้อำนาจหน่วยราชการไล่คนที่อยู่ก่อนออกนอกพื้นที่

พลเอกสุรินทร์กล่าวว่า ชาวเลไม่ใช่แค่คนที่รอรับการช่วยเหลือเท่านั้น เขาควรอยู่อย่างมีศักดิศรีเหมือนประชาชนทั่วไป กรณีของชาวมอแกนที่ถูกไฟไหม้ก็ควรเปิดโอกาสได้ขยับขยายบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่กันอย่างแออัดหรือมัดมือมัดเท้าพวกเขาจนไม่สามารถทำอะไรได้เลย

นายสุริยัน กล้าทะเล ชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ กล่าวว่าหากสร้างบ้านขนาดเท่าเดิมเหมือนกับที่สร้างหลังสึนามิก็ถือว่าเล็กไปหน่อยเนื่องจากปัจจุบันครอบครัวขยาย บางบ้านอยู่กัน 2 ครอบครัวทำให้แออัด ซึ่งตอนนี้คนที่บ้านถูกไฟไหม้ยังไม่รู้เหมือนกันว่าบ้านใหม่จะเป็นอย่างไรเพราะไม่มีใครถาม แต่หากทำแบบเดิมก็ควรสร้างให้หน้าจั่วบ้านเยื้องกัน เพราะเป็นความเชื่อว่าหากสร้างจั่วบ้านตรงกันจะทำให้เจ็บป่วย

“จริงๆแล้วในหาดเดิมที่ถูกไฟไหม้ยังมีพื้นที่หน้าหาดอีกมุมหนึ่งซึ่งสามารถสร้างบ้านได้อีกสัก 20-30 หลัง แต่อุทยานฯไม่อนุญาตทั้งๆที่พื้นที่เก่าอยู่กันอย่างแออัด หากขยายออกไปจะช่วยลดความแออัดได้อีกเยอะ”นายสุริยัน กล่าว

ด้านนางสุนี ไชยรส อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สังคมไทยมีบทเรียนที่ชัดเจนในการช่วยเหลือชาวเลเมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะจากสึนามิ ดังนั้นสิ่งที่ควรตระหนักในการช่วยสร้างบ้านและพัฒนาชุมชนให้ชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์ในวันนี้   คือ สังคมไทยทั้งเอกชนและรัฐซึ่งมีน้ำใจช่วยเหลือกันมากมาย ทั้งเงินข้าวของรวมทั้งสร้างบ้าน   เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ขออย่าคิดง่ายๆโดยไม่ยอมรับและเข้าใจวิถีชีวิต และไม่ยอมให้ผู้ประสบภัยได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเอง และที่สำคัญอย่าโยกย้ายพวกเขาออกจากถิ่น และการออกแบบบ้านให้คำนึงถึงวัฒนธรรมของเขา การช่วยเหลืออาชีพก็ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตเดิมด้วย รวมทั้งช่วยพิจารณาเรื่องสัญชาติให้รวดเร็วขึ้นด้วย

นายไมตรี จงไกรจักร เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ กล่าวว่า การสร้างบ้าน ฟื้นชุมชนมอแกนหลังไฟไหม้ ควรเป็นโอกาสในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลตามมติคณะรัฐมนตรี และการสร้างบ้านนั้นไม่ใช่การออกแบบบ้าน เพื่อสร้างบ้านเท่านั้น แต่ต้องออกแบบชุมชนตามวิถีชีวิตซึ่งความเป็นจริง ประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชาวเล  ควรจัดประชุมอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงเพื่อการฟื้นฟูชาวเลด้วยกลไกกรรมการ จะทำให้ฟื้นฟูด้วยความเข้าใจ

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →