
โดย ภาสกร จำลองราช
ภาพเต่ามะเฟืองตะกายขึ้นจากหลุมบนหาดคึกคัก จังหวัดพังงา และค่อยๆ เดินลงทะเลถูกถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กและสื่อต่างๆ นำไปขยายผลสร้างความสุขให้คนมากมายในสังคมเนื่องจากเป็นภาพที่หาดูยาก ทั้งๆ ที่ในอดีตชายหาดในทะเลอันดามันเป็นที่วางไข่สำคัญของเต่ามะเฟือง แต่เมื่อกระแสการท่องเที่ยวและพัฒนารุกไล่มาถึง ภาพเหล่านี้ได้เลือนหาย จนในปีนี้ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ออกมาปกป้องรังไข่และตั้งกล้องถ่ายทอดสด จึงทำให้ความรู้สึกมีความหวังที่เต่ามะเฟืองจะกลับมาวางไข่เหมือนในอดีต
เมื่อลูกเต่ามะเฟืองคลานลงสู่ทะเล เขาก็ดำเนินชีวิตไปตามวิถี ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าในวันหนึ่งลูกเต่าเหล่านี้จะมีชีวิตรอดได้กลับมาวางไข่ในดินแดนที่แม่เต่าเคยวางไข่หรือไม่
มีเสียงปรบมือดังๆ ให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลฯที่สามารถดูแลรังไข่เต่าไว้ได้จนลูกเต่าทั้งหลายดำเนินชีวิตไปตามวงจรธรรมชาติ

ห่างจากหาดคึกคักไปไม่ไกลนัก ชาวมอแกนนับร้อยชีวิตยังคงอาศัยอยู่ในเต็นท์ หลังจากบ้านกว่า 60 หลังถูกไฟเผาผลาญไปตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งขณะนี้ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์และภาครัฐหลายหน่วยงานกำลังเร่งมือที่จะสร้างบ้านหลังใหม่ให้
แต่มอแกนไม่ใช่เต่ามะเฟืองที่แค่ปกป้องที่วางไข่หรือสร้างบ้านให้เท่านั้น เพราะหากต้องการฟื้นฟูวิถีชีวิตของพวกเขาก็ต้องให้อิสระกับเขาเช่นเดียวกับการเอาใจช่วยให้เต่ามะเฟืองคลานลงทะเล
แต่สภาพที่เป็นของของชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ทุกวันนี้ถูกตีกรอบด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่หน่วยงานราชการสร้างขึ้นมากมาย ทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่ที่นี่มานับร้อยๆ ปีก่อนที่กฎหมายฉบับใดๆ จะบังคับใช้เสียอีก
ขณะนี้อุยานฯ ได้วัดพื้นที่และเตรียมสร้างบ้านให้เสร็จภายใน 2 เดือนในพื้นที่เดิม 6.16 ไร่ บริเวณอ่าวบอนใหญ่ แม้จะมีเสียงสะท้อนจากชาวมอแกนแบบกระซิบมาว่า อยากให้ขยายบ้านและขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น เพราะชุมชนเดิมก่อนไฟไหม้นั้น อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด บางครอบครัวอยู่กันนับ 10 คนในบ้านหลังแคบๆ แต่ท่าทีของอุทยานฯและจังหวัดพังงาคือเร่งรีบปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือให้เสร็จสิ้นโดยด่วน
ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอยู่ในทะเลอันดามันมานานหลายร้อยปี โดยหมู่เกาะสุรินทร์เป็นถิ่นหนึ่งที่พวกเขาหลบมุมเข้ามาพักอยู่อาศัยในฤดูมรสุมเพราะมีภูมิประเทศที่เหมาะสม คือเป็นอ่าวที่หลบลมได้และยังมีน้ำจืดให้กินใช้ได้ตามต้องการ แต่เมื่อพ้นหน้ามรสุม ชาวเลจะใช้เรือก่าบางเป็นบ้านร่อนเร่กันเป็นคาราวานเครือญาติไปตามเกาะต่างๆ ตั้งแต่เกาะย่านเชือก (ปัจจุบันอยู่ในเขตพม่า) เกาพระทอง บ้านน้ำเค็ม ทุ่งหว้า (พังงา) แหลมตุ๊กแก ราไวย์(ภูเก็ต) เกาะพีพี เกาะลันตา(กระบี่) เกาะหลีเป๊ะ(สตูล)
“มีแค่ข้าวสารแค่กระสอบเดียว เคย(กระปิ) เราก็อยู่ได้เป็นเดือนๆ แวะหาหอย หาปลาไปเรื่อยๆ พอใกล้หน้ามรสุมเราก็วนกลับมาอยู่ที่ที่นี่” แม่เฒ่าหมี่เซียะ กล้าทะเล วัย 73 ปี อยู่บนเกาะสุรินทร์มาตั้งแต่เกิดโดยพ่อแม่ของแกปักหักอยู่ที่อ่าวบอนใหญ่มาตั้งแต่แกจำความได้
ครอบครัวของแม่เฒ่าหมี่เซียะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนมอแกนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทุกๆปีในเดือนเมษายน แม่เฒ่ายังต้องทำหน้าที่แม่หมอในพิธีหล่อโบงซึ่งเป็นการฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษและการลอยเรือ
“บ้านพ่อแม่ฉันอยู่ตรงโน้น” นางชี้ไปที่ต้นมะพร้าวใหญ่ซึ่งอยู่อีกมุมหนึ่งของชายหาดอ่าวบอนซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุทยานฯ ไม่อนุญาตให้มอแกนสร้างบ้าน
หมู่เกาะสุรินทร์เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้เกียรติ “พระยาสุรินทรราชา” (นงยูง วิเศษกุล) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลในมณฑลภูเก็ต เดิมชาวมอแกนเรียกเกาะแห่งนี้ว่า “ปอลาว หละต้ะ” ประกอบด้วย 5 เกาะย่อย มีพื้นที่ 135 ตารางกิโลเมตร หรือ 84,375 ไร่ โดยอ่าวบอนใหญ่ที่เป็นชุมชนชาวเลในปัจจุบันอยู่ที่เกาะสุรินทร์ใต้ ซึ่งอยู่ติดกับเกาะสุรินทร์เหนือซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานอุทยานฯโดยมีช่องเขาขาดคั่นกลาง
จากเอกสารของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขียนโดยคณะวิจัยที่มี ดร.นฤมล อรุโณทัย เป็นหัวหน้าคณะระบุว่าหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นบ้านและแหล่งอาหารของมอแกนมากกว่าศตวรรษ โดยมีสถานที่อย่างน้อย 10 แห่งในหมู่เกาะสุรินทร์ที่ชาวมอแกนเคยตั้งบ้านเรือน และในปี 2514 กรมป่าไม่ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จนกระทั่งปี 2524 ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ
“ช่วงแรกเป็นระยะเวลาบุกเบิกโดยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ลงสำรวจทำความรู้จักและสร้างสัมพันธ์ทีดีกับมอแกน นำอาหารมาเลี้ยงโดยมอแกนเป็นผู้ให้ข้อมูล เช่น แหล่งน้ำจืด มอแกนผู้หนึ่งเล่าว่า เดิมมีมอแกนกลุ่มหนึ่งตั้งหมู่บ้านเล็กๆ อยู่บริเวณที่ตั้งสำนักงานอุทยานฯ ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ที่มอแกนเรียกขานว่า บูฮู้ เอบูม บุงะ แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ มอแกนได้แนะนำว่าสถานที่นี้เหมาะสมที่จะตั้งสำนักงานอุทยานฯ เพราะเป็นหัวแหลมที่มีชายหาดและมีทัศนียภาพงดงามของช่องขาด ต่อมามอแกนก็ย้ายออกไปจากจุดนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้อุทยานฯตั้งสำนักงาน”

ระหว่างปี 2529-2539 หมู่เกาะสุรินทร์เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเพราะเริ่มมีการประชาสัมพันธ์โดยเฉพาะแนวปะการังน้ำตื้นที่สวยงามมาก ขณะที่ชาวมอแกนได้อาชีพใหม่คือเก็บหอยขายนักท่องเที่ยว แต่วิถีชีวิตของยิปซีทะเลที่ร่อนเร่เริ่มถูกตีกรอบให้ปักหลักอยู่กับที่ แม้แต่เรือก่าบางซึ่งเป็นบ้านเคลื่อนที่โดยทำมาจากตัดไม้ขนาดใหญ่ในผืนป่าบนเกาะก็ถูกสั่งห้าม ทำให้บ้านชายฝั่งที่เคยใช้หลบมรสุมชั่วคราวกลายเป็นบ้านหลังเดียวที่เหลืออยู่ วิถีชีวิตในท้องทะเลกว้างที่ดำเนินมาตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐไทยถึงกาลอวสาน
ก่อนเหตุการณ์สึนามิถล่มอันดามันเมื่อปี 2547 มีชุมชนมอแกน 2 แห่งในหมู่เกาะสุรินทร์คือที่อ่าวบอนเล็ก บนเกาะสุรินทร์ใต้และอ่าวไทรเอนบนเกาะสุรินทร์เหนือ แต่หลังคลื่นยักษ์มาเยือนได้สร้างความเสียหายและทั้ง 2 ชุมชนถูกย้ายมาอยู่รวมกันที่อ่าวบอนใหญ่
นับจากนั้นเป็นต้นมา ชุมชนมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ได้กลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโปรแกรมทัวร์ดำน้ำดูปะการังหมู่เกาะสุรินทร์ โดยชาวมอแกนมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับจ้างทำงานในอุทยานฯ เดือนละ 3,000-4,000 บาท บางส่วนรับจ้างขับเรือให้บริษัททัวร์ ส่วนที่เหลือคือทำของที่ระลึก
กว่า 30 ปีแล้วที่ชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ถูกทำให้เรียบร้อยและสงบเสงี่ยมตามกรอบที่อุทยานฯ วางไว้ วิถีชีวิตที่เคยโลดโผนในทะเลอันดามันได้จบสิ้นลงไปนานแล้ว
การคืนวิถีชีวิตให้พวกเขา มิใช่แค่การสร้างบ้าน เราควรใช้โอกาสนี้ร่วมกันฟื้นฟูและสนับสนุนให้ชาวมอแกนดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีมิใช่หรือ
แม้ล่าสุดอุทยานฯยินยอมที่จะขยายบ้านหลังใหม่กว้างขวางขึ้นให้กับชาวมอแกน แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบของการฟื้นฟูซึ่งจริงๆ แล้วเคยมีมติคณะรัฐมนตรีมิถุนายน 2553 วางแนวทางฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลไว้แล้ว เพียงแต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ
วันนี้ลูกเต่ามะเฟืองดำหายไปในทะเลกว้าง แม้จะมีความหวังน้อยนิดว่าวันหนึ่งพวกเขาจะได้กลับมาวางไข่ในหาดทรายที่แม่เคยนำทางไว้ แต่ก็ยังดีเพราะอย่างน้อยได้ดำเนินวิถีตามครรลอง ขณะที่ชีวิตของมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ดูช่างไม่มีความหวังเอาเสียเลยที่จะได้กลับไปดำรงวิถีชีวิตยิปซีทะเลเหมือนบรรพบุรุษ นอกเสียจากว่าสังคมไทยจะช่วยเกื้อหนุน