
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 นายสรายุทธ สนรักษา เครือข่ายรักษ์พระแม่ธรณี จ.ฉะเชิงเทรา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ว่า การที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC เลือกพื้นที่อำเภอบ้านโพธิ์เป็นพื้นที่เป้าหมายของ EEC โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือบก หรือ ICD ที่เป็นการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้านั้น ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่โดยสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำนา แหล่งเลี้ยงกุ้งและปลา รวมทั้งเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมน้ำหลาก ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบในหลายด้าน อีกทั้งที่ลาดกระบังก็มีโครงการ ICD ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นการตั้ง ICD ที่บางปะกงจึงซ้ำซ้อนไม่จำเป็น

“พื้นที่นี้เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งเพื่อส่งออก 60 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ของโลก เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากระพงและปลานิลแหล่งใหญ่ที่สุดของประทศ เป็นพื้นที่ผลิตข้าวพันธุ์ที่ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ผ่านมาชาวบ้านต้องเจอปัญหาน้ำท่วมที่เอ่อจากอมตะนครอยู่แล้ว และ ICD ที่จะตั้งใหม่ยังไปทับคลองท่าข้ามที่เป็นเป็นทางน้ำธรรมชาติเชื่อมต่อแม่น้ำบางปะกง พื้นที่เกษตรชั้นดีก็จะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม” นายสรายุทธ กล่าว
นานสรายุทธ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้นำชาวบ้าน ผู้นำศาสนา ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ EEC โดยได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นคัดค้านในเวทีประชาพิจารณ์ของ ICD ทั้ง 2 ครั้ง แต่ผลสรุปของเวทีกลับระบุว่าพื้นที่ อ.หนองตีนนก มีความเหมาะสม ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นในเวที ชาวบ้านจึงรวมตัวเชิญกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมประมง และกรมชลประทาน มาพบเพื่อให้ชาวบ้านได้ชี้แจงข้อมูลว่าพื้นที่ไม่เหมาะสมอย่างไร แต่สุดท้ายกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำร่างแผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เตรียมประกาศใช้แทนผังเมืองรวมภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งผัง EEC จะสอดรับนโยบาย เช่น เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 21 เขต พื้นที่ 86,755 ไร่ เขตส่งเสริมกิจการพิเศษ 4 แห่ง 18,484 ไร่ พื้นที่เมืองใหม่ พื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจอย่างน้อย 15,500 ไร่ โมเดลเมืองใหม่ 12,500 ไร่ ศูนย์การเงิน 500 ไร่ มหานครการบินตะวันออก 2,500 ไร่

“แม้ชาวบ้านจะคัดค้านมายาวนาน ชี้แจงเหตุผลอย่างไรก็ตาม แต่รัฐไม่เคยรับฟัง และในรายงานเวทียังคงสรุปว่าหนองตีนนกเหมาะสม ผังเมืองเดิมคือสีเขียวเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ที่ดินส่วนใหญ่เป็น สปก.ซื้อขายไม่ได้ แต่รัฐได้ออก พรบ.EEC มาแก้ฟังเมือง และใช้ ม.44 โยกอำนาจการออกผังเมืองจากกรมโยธาธิการและผังเมืองไปให้คณะกรรมการ EEC ซึ่งเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนประชารัฐเข้ามารวบรวมที่ดินแปลงใหญ่ในราคาถูก โดยผ่านการเวนคืนตาม พรบ.EEC” นายสรายุทธ กล่าว