เส้นทางจากด่านห้วยโก๋นชายแดนจ.น่านไปยังเมืองหงสาและมุ่งสู่เมืองไซยะบุรี แม้เป็นถนนลาดยาง แต่ก็คดเคี้ยวและสูงชันเป็นระยะๆ บางช่วงยังเป็นป่าเขาที่มีต้นไม้ใหญ่สุดหูสุดตา บางช่วงเป็นภูเขาหัวโล้น บางช่วงเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำลำห้วยไหลผ่าน แต่ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแหล่งนี้ นับวันจะถูกกัดกร่อนลงเรื่อยๆ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแขวงไซยะบุรีของสปป.ลาว เป็นที่มักคุ้นในสังคมไทยและสังคมโลกมากขึ้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชียของทางการลาว ที่นี่จะเป็นหม้อไฟฟ้าแห่งแรกในแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งโครงการสร้างเขื่อนแบบขั้นบันไดกำลังรุดหน้าอย่างเร่งรีบ
ขณะที่ถนนในช่วงห้วยโก๋น-โรงไฟฟ้าหงสา เพิ่งขยายช่องทางและราดยางใหม่เอี่ยม พลุกพล่านไปด้วยรถบรรทุกและรถพ่วงขนาดใหญ่ที่ขนอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือจำนวนมากเพื่อการก่อสร้างโรงไฟถ่านหินขนาดใหญ่
เมื่อถึงจุดหักศอกและสูงชัน มีคนคอยโบกรถอำนวยความสะดวกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสำหรับรถขนาดใหญ่ ส่วนรถเล็กๆก็ต้องใช้ความชำนาญไม่น้อยในการแซงหรือหลบหลีกเจ้าถนนที่วิ่งชักแถวยาวมุ่งสู่เมืองหงสา
แหล่งธรรมชาติทั้งบนดินและในน้ำของคนเมืองไซยะบุรีและหงสากำลังถูกแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ไหลสู่ประเทศไทยในอีกไม่กี่ปี ซึ่งทั้ง 2 โครงการขนาดยักษ์คือโรงไฟฟ้าหงสาและโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี กำลังถูกตั้งคำถามมากมายถึงความโปร่งใสหรือธรรมาภิบาล เพราะความจริงประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คืออภิมหาโครงการนับแสนล้านทั้ง 2 แห่งเป็นการตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างมโหราฬ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพียงแต่จะทำลายล้างหนักหรือเบาแค่ไหนเท่านั้น
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ นักข่าวกลุ่มเล็กๆ จากส่วนกลางลงพื้นที่เมืองหงสาและเมืองไซยะบุรี
หอหล่อเย็นและปล่องควันสูงลิ่วตั้งตระหง่านกลางหุบเขาเมืองหงสา ทั่วทั้งเมืองยามนี้เต็มไปด้วยฝุ่นตลบเนื่องจากการก่อสร้างและการขนส่งที่กำลังเร่งรุดซึ่งคืบหน้าไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านกลุ่มใหญ่ถูกย้ายไปอยู่ในแปลงอพยพที่ห่างออกไปไม่มากนัก ขณะที่ผู้คนในตัวเมืองหงสาที่อยู่ห่างจากโรงงานไฟฟ้าไม่กี่กิโลเมตร ยังคงใช้ชีวิตประจำวันตามปกติเพียงแต่มีคนแปลกหน้าทั้งคนไทย คนจีนและคนเวียดนามเพิ่มมากขึ้น
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานไฟฟ้าเล่าว่าเพื่อนบ้านเขาจำนวนมากโยกย้ายออกจากพื้นที่ไปแล้ว โดยบริษัทหงสาได้จัดพื้นที่ไว้ให้ แต่ที่นั่นชาวบ้านยังรู้สึกงงๆ เพราะไม่รู้จะทำอะไรดี และมีข่าวเป็นระยะๆว่าอนาคตพวกเขาจะถูกเก็บค่าเช่าในบ้านหลังใหม่
“อีกสองปีเมื่อเขาเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้า หากยังมีฝุ่นมากอยู่ รัฐบาลก็ได้เตรียมพื้นที่ที่ไปทางหลวงพระบาง เพื่อย้ายคนบ้านใหญ่ (ชุมชนเมืองหงสา) ไปด้วย” เขาแสดงความกังวล เพราะทุกวันนี้พวกเขาก็แทบทำนาไม่ได้ ขณะที่เอกชนจีนได้เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกแตงโม ซึ่งใช้เวลาแค่สั้นๆ ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลแตงโมลูกโตได้แล้ว เพียงแต่รสชาติไม่เหมือนแตงพื้นถิ่นดั้งเดิม
“กินแล้วบ่แซบ มันใช้ทั้งปุ๋ยทั้งยา ไม่เหมือนแตงบ้านเราที่ปลูกเองตามธรรมชาติ” ชาวบ้านรายนี้บอกความรู้สึกถึงผลผลิตแตงโมชนิดใหม่
ชาวบ้านรายนี้ชี้ให้ดูแผลของภูเขาซึ่งคือร่องรอยการระเบิดเปิดหน้าดินเพื่อเอาถ่านหินลิกไนขึ้นมา โดยบริษัทได้เปิดหน้าดินไว้หลายๆที่แล้วเอาถ่านหินมาตากไว้ ขณะเดียวกันเขาได้เร่งก่อสร้างเขื่อนอย่างน้อย 2 แห่งกั้นแม่น้ำเล็กๆที่เป็นน้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อนำน้ำมาใช้ในขั้นตอนการผลิตและการหล่อเย็น โดยบริษัทกำลังสร้างคลองส่งน้ำขนาดใหญ่เชื่อมมายังโรงไฟฟ้า
น้ำเสียงของชาวบ้านหงสาค่อนข้างไม่พอใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เขาไม่กล้าทำอะไรนอกจากเชื่อฟังฝ่ายปกครองที่บอกให้เสียสละเพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่าทีของชาวบ้านเมืองหงสาไม่แตกต่างกับชาวบ้านในหลายหมู่บ้านฝั่งไทยซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโรงงานเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะโรงงานอยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง 35 กิโลเมตร ที่ผ่านมาบริษัทหงสาพยายามที่จะชี้นำให้เห็นแต่ข้อดีของโครงการ และได้มีการนำข้าราชการและผู้นำชุมชนรวมถึงสื่อมวลชนท้องถิ่นไปดูงานในโครงการโรงไฟฟ้าหงสากันแล้วหลายระรอก เพื่ออธิบายให้เห็นถึงระบบที่ได้มาตรฐานและจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการจึงไม่ดังเท่าที่ควร มีเพียงชาวบ้านในแนวสายส่งเท่านั้น ที่ประกาศชัดเจนว่าไม่ยอมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ใช้พื้นที่ของตัวเอง พร้อมกับการฟ้องศาลปกครอง
นางพวงทอง เลื่องลือ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ต.ดู่ใต้ อ.เมือง จ.น่าน กล่าวว่าหลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าจะมีแนวสายไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของชุมชน แถมยังมีการก่อสร้างสถานีไฟฟ้ารองรับด้วย จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ชาวบ้านจึงได้ทราบข่าวจากการที่มีคนเข้ามารังวัดที่ดินทำกินของชาวบ้าน
“ชาวบ้านมีที่ดินทำกินกันคนละ 2-3 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่นาและสวนลำไย หากสายไฟพาดผ่านก็มีข้อห้ามต่างๆมากมาย เขาก็ไม่รู้จะย้ายไปทำกินที่ไหน ที่สำคัญเรายังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพ เพราะไม่รู้ว่าจะมีโรคอะไรตามมา เช่น มะเร็ง” ผู้ใหญ่พวงทองแสดงความกังวลใจ ที่ผ่านมาเธอและชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการในจังหวัดหลายแห่ง แต่เรื่องกลับเงียบหายไป
“เราเคยถามบริษัทหงสาเมื่อตอนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงมาว่าโครงการโรงไฟฟ้าถานหินลิกไนต์นี้จะส่งผลกระทบข้ามแดนมาหรือไม่ เขาตอบว่ามันอยู่ไกล คงไม่มีผลอะไร แต่เราไม่เชื่อเพราะมีตัวอย่างที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ผู้แทนบริษัทพยายามบอกแต่ข้อดีๆ แต่ไม่เคยเล่าข้อเสียให้เราฟังเลย เขาบอกว่าเราจะได้มีไฟฟ้าใช้มากๆ แต่พวกเราไม่ต้องการเพราะเราใช้ไฟกันบ้านละนิดๆหน่อยๆเท่านั้น” ผู้ใหญ่พวงทองระบายความอึดอัดใจที่อัดอั้นมานาน
ผู้ใหญ่พวงทองเล่าว่าได้เคยเสนอแนะไปว่าจริงๆแล้ว แนวสายไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องพาดผ่านชุมชนและสถานีไฟฟ้าก็ไม่จำเป็นต้องมาตั้งใกล้ชุมชน เพราะหากย้ายแนวไปด้านหลังเขาแก้วก็จะหลีกเลี่ยงชุมชนได้
“พวกเราไม่ได้ขัดขวางความเจริญ แต่ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยหน่อยได้มั้ย เขาเคยเชิญเราไปดูงานที่หงสา แต่เราไม่ไปเพราะรู้อยู่ว่าเขาจัดฉากไว้หมดแล้ว จนถึงตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าชาวน่านจะได้รับผลกระทบจากโรงงานไฟฟ้าลิกไนต์หรือไม่ ทุกคนต่างก็กังวล”
ขณะที่ผู้แทนโรงไฟฟ้าหงสาซึ่งไม่ประสงค์จะออกนามกล่าวว่ากรณีที่ชาวบ้านคัดค้านตามแนวสายส่งนั้น เป็นเรื่องที่กฟผ.ต้องดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ทราบเป็นการภายในกันว่ามีเงื่อนงำเกี่ยวกับผลประโยชน์พอสมควร เพราะมีอดีตผู้ใหญ่ในกฟผ.ได้กว้านซื้อที่ดินไว้ล่วงหน้า แต่บังเอิญไปทับกับแนวสายส่ง ทำให้ไม่พอใจเพราะที่ดินราคาตก ส่วนเรื่องการอพยพชาวบ้านในเมืองหงสานั้น ทางบริษัทได้สร้างบ้านจัดสรรให้ใน 2 พื้นที่ จำนวน 450 ครอบครัว ในราคาหลังละ 3 แสนบาท ส่วนที่ทำกินอยู่ห่างจากหมู่บ้าน 10 กิโลเมตร จำนวนหลังละ 10 ไร่
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและกำลังถูกเจาะลึกสำหรับโครงการหงสาลิกไนต์คืองบประมาณ 1 แสนล้านที่ใช้ในการลงทุนเป็นการสนับสนุนโดยธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่ง แต่ที่ค้างคาใจใครหลายคนคือธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินซึ่งเป็นธนาคารของรัฐที่ปล่อยเงินกู้จำนวนมหาศาล ทั้งๆที่มีข้อตกลงและหลักเกณฑ์จากธนาคารทั่วโลกเกี่ยวกับการปล่อยกู้ว่าต้องคำนึงถึงมาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งแม้บริษัทอ้างว่าได้ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้ว แต่ก็ได้รับการท้วงติงพันธมิตรนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมโลกในหลายประเด็น อาทิ การปล่อยมลพิษทางอากาศที่สูงกว่ากำหนด
เห็นได้ชัดว่า “ไอ้โม่ง”ที่อยู่เบื้องหลังงานนี้มีคอนเนกชั่นไม่ธรรมดา เช่นเดียวกับกรณีโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเรามีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนอพยพจากการสร้างเขื่อนมาเช่นเดียวกัน.
เรื่อง/ภาพ โดย โลมาอิรวดี