เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายประยงค์ ดอกลำไย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) เปิดเผยว่าในวันที่ 27 ชาวบ้านในหลายเครือข่ายจะแต่งชุดดำและมารวมตัวกันเพื่อขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ยุติการพิจารณากฎหมายในทุกๆฉบับเพราะ สนช.ไม่มีความชอบธรรมในการพิจารณากฎหมายเนื่องจากขณะนี้มีพระรากฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาชุดต่อไป โดยที่ผ่านมาการพิจารณากฏหมายก็เป็นไปอย่างเร่งรีบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้กฎหมายหลายฉบับมีช่องโหว่และส่งผลกระทบต่อประชาชนมากมาย เช่น พรบ.โรงงาน พรบ.พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
นายประยงค์กล่าวว่า เดิมทีกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งใจว่าจะไปรวมตัวกันที่บริเวณหน้ารัฐสภา แต่เมื่อทำหนังสือแจ้งไปยังสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ได้รับการปฎิเสธได้ระบุว่าบริเวณหน้ารัฐสภาเป็นเขตพระราชฐาน ดังนั้นจึงได้มีการปรับแผนใหม่โดยชาวบ้านจะมารวมตัวกันบริเวณวัดเบญจมบพิตรฯ จากนั้นจะส่งตัวแทนชาวบ้านราว 200 คนเข้าไปพบสนช.เพื่อขอให้ยุติการออกกฎหมายแบบตัวต่อตัว
“นอกจากสมาชิกเครือข่าย 168 องค์กร และสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)แล้ว อยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมกับเราได้ ให้แต่งชุดดำ และเขียนป้ายเรียกร้องให้ สนช.ยุติบทบาทเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สนช.ต้องยุติการออกกฎหมายทั้งหมด เพราะหากปล่อยให้มีการออกกฎหมายเพิ่มขึ้นจะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับประชาชน ตอนนี้ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เขากำลังจะพิจารณาเช่น ร่างพรบ.อุทยานฯ ร่างพรบ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์”นายประยงค์ กล่าว
ขณะที่นายสุรชัย งามตรง นักกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Enlaw ในรัฐธรรมนูญก็เขียนกติกาไว้ชัดเจนในช่วงรักษาการ แต่รัฐบาลชชุดนี้ก็ไม่ปฎิบัติ เช่นเดียวกับสนช.ที่ไม่มีความชอบธรรมที่จะออกกฎหมายอีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาการออกกฎหมาย 300-400 ฉบับได้สร้างปัญหาให้กับประชาชนมากมาย ซึ่งหากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งและตามแก้ทีละฉบับคงไม่ไหว ดังนั้นจึงมีแนวความคิดหนึ่งว่า อนาคตเป็นไปได้มั้ยที่จะออกกฎหมายยกเลิกกฎหมายที่ออกมาอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรมตามบัญชีแนบท้าย ซึ่งหากเป็นเหตุเป็นผลก็น่าจะทำได้
ด้าน ดร.สมนึก จึงมีวศิน นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า สนช.ควรยุติบทบาทในการออกกฎหมายทันทีเพราะกฎหมายที่ออกมาจำนวนมากไม่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล และส่วนใหญ่เป็นกฎหมายทุนที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพรบ.โรงงาน ที่เพิ่งผ่านไปซึ่งทำให้โรงงานไม่ต้องขอใบอนุญาตทุกๆ 5 ปีเหมือนแต่ก่อน ทำให้การตรวจสอบโรงงานเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะเมื่อก่อน หากโรงงานทำผิดกฎหมาย เรายังเรียกร้องไม่ให้ต่อใบอนุญาตได้ แต่ต่อไปทำเช่นนี้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะโรงงานได้ใบอนุญาตตลอดชีพ นอกจากนี้ในกฎหมายฉบับนี้ยังระบุด้วยว่าสถานประกอบการที่มีคนไม่เกิน 50 คนไม่ถือว่าเป็นโรงงานซึ่งจะส่งผลในวงกว้างสำหรับกิจการจำนวนมากที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)
“ที่ผ่านมา สนช.ชุดนี้ได้ออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มไว้มากมาย เช่น พรบ.อีอีซี ที่พูดถึงผังเมืองใหม่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก เขาเร่งรีบทำกันให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี แต่เขาแทบไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมหรือเสนอความคิดเห็นเลย”ดร.สมนึก กล่าว
ในวันเดียวกันที่อาคารรัฐสภา ภาคประชาชนในนามเครือข่าย People GO network ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้สนช. ยุติการพิจารณากฎหมายทุกฉบับที่ยังค้างการพิจารณาเพื่อความเหมาะสม และต้องการให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาต่อไป โดยมี นายพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล รองเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้รับหนังสือ
ขณะที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสนช. ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ… กล่าวว่า ตนได้หารือกับทีมงานแล้ว เห็นว่าเมื่อสังคมยังไม่สบายใจ ไม่เข้าใจในตัวร่างพ.ร.บ.ข้าว อาจเกิดเหตุเข้าใจผิด จึงขอเลื่อนการพิจารณาออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะอยากทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าร่างกฎหมายนี้เป็นเจตนาดี ต้องการช่วยเหลือชาวนาจริงๆ เมื่อรัฐบาลใหม่มาจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ ขอว่าอย่าโยงเรื่องดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี เพราะท่านไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้สั่งการอะไร แต่เป็นเรื่องที่เราหารือในสภา
“จะไม่หยิบยกมาพิจารณาในสนช.แล้ว เพราะเกรงว่าความขัดแย้งในสังคมจะมีมากขึ้น กลัวเกิดการเผชิญหน้าของฝ่ายสนับสนุน และไม่สนับสนุน เราจึงขอยุติดีกว่า แม้ว่าสนช.มีหน้าที่ออกกฎหมาย แต่ถ้าดำเนินต่อไปกฎหมายผ่านก็มีปัญหา ไม่ผ่านก็มีปัญหา เราไม่ดื้อรั้น ฟังเสียงประชาชน เมื่อยังไม่เข้าใจ ก็ขอยุติดีกว่า หวังว่าสักวันอาจคิดถึงผมก็ได้ เพราะร่างนี้เป็นประโยชน์” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ในช่วงหลายวันที่ผ่านมากระแสความไม่พอใจในการทำหน้าที่ออกกฎหมายของ สนช.ได้ดังกระหึ่มสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะภายหลังจากที่เตรียมพิจารณาร่าง พรบ.ข้าว โดยจำนวนมากได้โพสต์ข้อความให้สนช.ยุติการออกกฎหมายเนื่องจากเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน อย่างไรก็ตามล่าสุด สนช.ได้ยอมถอยในการพิจารณาร่าง พรบ.ข้าว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.