
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่โรงงานผลิตยา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1” โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ร่วมในพิธี พร้อมทั้งปลูกกัญชาต้นแรกถูกกฎหมาย ต่อมาในช่วงบ่าย นพ.ปิยะสกล และคณะผู้บริหารปลูกต้นอ่อนกัญชาล็อตแรกจำนวน 140 ต้น ซึ่งเป็นการปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายครั้งแรกของไทยและอาเซียน ซึ่ง นพ.ปิยะสกล เป็นผู้นำทีมปลูกต้นแรก โดยนำต้นอ่อนกัญชาลงในจุดปลูก ซึ่งเป็นระบบรากลอย (Aeroponics) ใช้พ่นสารอาหารไปที่ราก และจะมีการควบคุมแสงและอุณหภูมิเพื่อให้ได้สารสกัดตามที่ต้องการและมีความคงตัว ไม่เกิดการปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลง เพื่อนำมาผลิตยาจากกัญชา ชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้ต้องทำให้กัญชาของประเทศไทยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 ที่ออกมา หลักการ คือ ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการวิจัยและทางการแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ กัญชายังเป็นพืชเสพติด และไทยเข้าร่วมอนุสัญญายาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หากเอาไปใช้โดยไม่ใช่ทางการแพทย์จะผิดอนุสัญญา ดังนั้น เราต้องเร่งที่จะทำให้กัญชาเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะหลายชาตินำไปแล้วหลาย 10 ปี เช่น แคนาดา อิสราเอล ซึ่งตนตั้งเป้าอยากให้พัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อสู้กับต่างชาติให้ได้ภายใน 2-3 ปี เพราะหลังจาก 5 ปีแล้วต่างชาติจะเข้ามา
“เราจะเร่งพัฒนาก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย วันนี้ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ อภ.จะปลูกกัญชา ซึ่งเรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ที่ไหนก็ได้มาปลูก ต้องใช้คำว่าได้มาตรฐานระดับนานาชาตินำไปทำยาอย่างแท้จริง หรือเมดิคัลเกรด (Medical Grade)” นพ.ปิยะสกล กล่าว
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ต้องเร่งพัฒนาสารสกัดให้ได้คุณภาพระดับเมดิคัลเกรด เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง อภ.ได้รับกัญชาของกลางมาพัฒนาเป็นยา แต่พบว่ามีการปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลงเยอะมาก จึงต้องพัฒนาให้ได้คุณภาพที่สุดด้วยการทุ่มงบประมาณ10 ล้านบาท เพื่อทำการปลูกกัญชาในรูปแบบระบบปิดในพื้นที่ 100 ตารางเมตร ซึ่งจะมุ่งเน้นให้เป็นพืชยามาตรฐานสากล โดยต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1.ประสิทธิผล ใช้เป็นยาที่มีคุณภาพอย่างไร เพราะแต่ละสายพันธุ์มีสารสำคัญต่างกันใช้รักษาโรคต่างกัน จะปลูกพันธุ์ไหนรักษาโรคอะไร 2.เรื่องความปลอดภัย ไม่มียาฆ่าแมลง ปนเปื้อนโลหะหนัก และ 3.คุณภาพ สารสำคัญต้องคงที่ โดยเฉพาะสารทีเอชซีและซีบีดี ทั้งหมดจึงเรียกว่าเป็นเมดิคัลเกรดหรือเกรดใช้ทำยาได้ เพราะอยากให้คนไทยใช้ของมีคุณภาพและได้ผลจริง
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จะใช้เวลาในการปลูก 4 เดือน และคาดว่าจะสกัดสารออกมาเป็นน้ำมันชนิดหยดใต้ลิ้นได้ในช่วง ก.ค.นี้ จำนวน 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร หรือประมาณ 10,000 ขวดต่อปี โดยจะนำมาใช้รักษาในกลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนแล้ว 4 โรค คือ ผลข้างเคียงจากการรับคีโมรักษามะเร็ง ลมชัก ปลอกประสาทอักเสบ และปวดเรื้อรัง
ผศ.วิเชียร กีรตินิจกาล นักวิชาการคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้พัฒนาการปลูกกัญชาให้ อภ. กล่าวว่า หลายคนบอกว่า ทำไมไม่ใช้กัญชาสายพันธุ์ไทย นั่นเพราะกัญชาสายพันธุ์ไทยมีสารทีเอชซีสูง ก่ออาการเมามาก ส่วนซีบีดีต่ำ ซึ่งการทำเป็นยาต้องมีสาร 2 ตัวนี้ ขึ้นกับแต่ละโรคว่าต้องใช้สารตัวไหนมากน้อยย่างไร อย่างเช่น โรคลมชัก ต้องใช้สารซีบีดีมาก อาจไม่เหมาะกับพันธุ์ไทย แต่เรื่องผลข้างเคียงจากคีโมพันธุ์ไทยอาจเหมาะสม แต่ว่าพันธุ์ไทยยังไม่ได้รับปรับปรุง จึงนำพันธุ์ต่างประเทศที่ปรับปรุงแล้วเข้ามา คือ สายพันธุ์อินดิกา