เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ที่ศาลาประชาคมอำเภอปากชม จังหวัดเลย เครือข่ายชาวบ้าน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ร่วมกันแถลงประกาศเจตนารมณ์การประชุมภายหลังจากเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาได้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาแผนเชิงรุกด้านการประมงระดับชุมชน ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง โดยระบุว่า แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านตั้งแต่ทิเบต จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นแม่น้ำนานาชาติ ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนที่ได้พึ่งพาแม่น้ำโขง ทั้งการใช้น้ำทำการเกษตร การหาปลา ความหลากหลายของพันธุ์ปลา มีความสำคัญในเรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ เช่น การบุญประเพณีบั้งไฟพญานาค รวมถึงพิธีกรรมที่ชุมชนได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขง สะท้อนว่าแม่น้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้คน

ในคำประกาศเจตนารมณ์ระบุว่า แม่น้ำโขง ถูกนำไปใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนาต่าง ๆ มากมาย เช่น การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีน อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ได้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อพวกเรามานับสิบกว่าปี ต่อมามีการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงสองแห่งบนแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่เหนือชายแดนของไทยลาวขึ้นไปเพียง 200 กิโลเมตร การทดลองผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีเมื่อเดือนกรกฎาคม2562 ได้ทำให้เกิดภาวะน้ำโขงแห้งอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็ว การอพยพของปลาที่ผิดฤดูกาลและพืชพันธุ์แห้งตายตลอดสายน้ำโขง ได้สร้างความวิตกและกังวลต่อพวกเราชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมน้ำโขงเป็นอย่างมาก

ในคำประกาศระบุด้วยว่า วันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายที่เราจะเห็นชีวิตแม่น้ำโขงตอนล่าง พวกเราประชาชนลุ่มน้ำโขง คนปลูกผักริมโขง ชาวนา ผู้ใช้น้ำ คนหาปลา คนเลี้ยงปลา พ่อค้า คนขับเรือส่งสินค้าข้ามฟาก ขอเรียกร้องให้ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรี ดังนี้ 1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ลงมาแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งโขงที่กำลังเกิดขึ้น 2. ขอเรียกร้องให้ภาคเอกชนไทย ที่เป็นเจ้าของโครงการ และธนาคารไทย ผู้สนับสนุนโครงการ ได้แสดงความรับผิดชอบและมีมาตราการแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 3.ประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนและความรับผิดชอบ ในการดำเนินธุรกิจของเอกชนข้ามพรมแดน ต้องถูกหยิบยกเป็นวาระสำคัญการประชุมผู้นำอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วนของภูมิภาค

“ปรากฎการณ์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของพวกเราคนหาปลา คนปลูกผัก พ่อค้าแม่ค้า ประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงในขณะนี้ และยังส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมประเพณีของคนลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจพวกเราเป็นอย่างยิ่ง และพวกเราขอเรียกร้องให้เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน”คำประกาศระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 29 ตุลาคม เขื่อนไซยะบุรีจะเริ่มผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กผฟ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ลงนามไว้ โดยบริษัทซีเคพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ช.การช่าง ที่เป็นผู้พัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรีได้ทุ่มซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายฉบับ เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ โดยลงเนื้อหาและภาพเป็นปกหุ้ม ขณะที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจได้ลงปกหุ้มสี 4 หน้าซึ่งมีลักษณะคล้ายสคูปเช่นเดียวกัน ส่วนหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสดได้ลงประชาสัมพันธ์ระบุว่า “พบกับหนังสือพิมพ์ประวัติศาสตร์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี แทรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 29 ตุลาคม 2562″

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้ลงข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี มีความคืบหน้ากว่า 99.9% เหลือเก็บงานรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งจะเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในวันที่ 29 ตุลาคม นี้ คาดจะมีรายได้ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งในช่วงที่ทดสอบเดินเครื่องจะมีรายได้ประมาณ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งจะนำส่วนนี้มาลดต้นทุนการก่อสร้าง

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี ใช้เงินลงทุน 1.35 แสนล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้ 7.6 พันล้านหน่วยต่อปี ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) 29 ปี ในราคา 2 บาทต่อหน่วย ทำให้เป็น จุดแข็งของโครงการนี้ ซึ่งจะช่วย ลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประเทศไทยในระยะยาว เพราะต้นทุนไฟฟ้าพลังน้ำ มีราคาต่ำสุด

ทั้งนี้ ซีเคพาวเวอร์ ตั้งเป้าภายในปี 2568 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5 พันเมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันยังมีกำลังผลิตไฟฟ้า 2,167 เมกะวัตต์ จากโครงการเขื่อนน้ำงึม 2, ไซยะบุรี และโครงการโซล่า ในไทย

นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตามแผน มีกำหนดจะเจรจาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว อีก 2 โครงการ แต่ละโครงการมากกว่า 1 พันเมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ได้ตามเป้าหมาย โดยโครงการสร้างเขื่อน ในแม่น้ำโขงตั้งแต่นอกชายแดนจีน ลงมาจุดที่มีศักยภาพสามารถสร้างได้ มี 11 เขื่อน อยู่ในสปป.ลาว 9 เขื่อน และ ในกัมพูชา 2 เขื่อน

สำหรับเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและใกล้เปิดดำเนินการ คือ เขื่อนไซยะบุรี ของซีเคพาวเวอร์ และเขื่อนดอนสะโฮง ที่มาเลเซียเป็น เจ้าของโครงการ คงเหลือจุดที่สร้างได้ 9 เขื่อน

อย่างไรก็ตาม จุดที่มีศักยภาพที่ควร จะสร้างก่อนมีอยู่ 4 เขื่อน คือ ปากแบ่ง, หลวงพระบาง, ปากลาย และสานาคา ซึ่งทั้ง 4 แห่งอยู่ทางด้านตอนบนของแม่น้ำโขงทำให้มีกระแสน้ำไหลแรงกว่า ส่วนแม่น้ำอื่นๆ ใน สปป. ลาวคาดว่า สามารถสร้างเขื่อนได้ประมาณ 20 เขื่อน แต่ทางซีเคพาวเวอร์ ยังไม่สนใจ เพราะเป็น เขื่อนขนาดเล็กผลิตไฟฟ้าได้น้อย ทำให้มีความคุ้มทุนน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ก็มีเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในเมียนมา ที่แม่น้ำสาละวิน เพราะอยู่ใกล้ไทยคุ้มค่า ในการสร้างสายส่งมายังไทย โดยมีจุดที่ สามารถสร้างได้ 3 เขื่อน แต่ต้องขึ้นอยู่กับ ปัจจัยหลัก 2 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยง ในการลงทุนในเมียนมา และความคืบหน้า ของการทำสมาร์ทกริดในไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ เพราะหากสมาร์ทกริดเสร็จเร็วก็สามารถเชื่อมสายส่งจาก เมียนมาไปขายไฟฟ้ายังประเทศรอบข้าง ประเทศไทยได้

“ซีเค พาวเวอร์ยังคงคำนึงถึงการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่อยู่บนความสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เป็นอันดับแรกของการบริหารโครงการ” นายธนวัฒน์ กล่าว

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.