โดย ภาสกร จำลองราช padsakorn@hotmail.com

ผมตื่นลืมตามองเห็นดาวระยิบระยับอยู่บนท้องฟ้า ดูเวลาก็ปาเข้าไปตีสองแล้ว นอนดูอยู่สักพักนึกขึ้นได้ว่า “เราเห็นดาวได้อย่างไรว่ะ” เพราะจำได้ว่าเมื่อเย็นตอนกางเต็นท์ก็คลุมฟลายชีทจนมิดชิดแล้วนิ ลมที่พัดแรงและส่งเสียงหวีดหวิวตั้งแต่หัวค่ำทำให้พอจะนึกออกว่าเกิดอะไรขึ้น จึงรีบผุดลุกไปนอกเต็นท์
เชือกเส้นหนึ่งที่ผูกฟลายชีทขาดกระจุย ทำให้ผ้าใบปลิวไปติดต้นไม้ใกล้ๆ โชคดีที่ยังมีเชือกอีกเส้นหนึ่งที่ยังยึดโยงอยู่กับเหล็กหมุด ทำให้ฟลายชีทไม่ปลิวตกภูเขาไป หลังจากใช้ความพยายามเอาเชือกสำรองซ่อมแซมอยู่พักหนึ่งก็สามารถคลุมเต็นท์และกลับเข้าไปนอนได้ดั่งเดิม

ค่ำคืนนี้พวกเรานอนอยู่ในหุบเขาบนยอดดอยในอำเภออมก๋อย แรกทีเดียวตั้งใจว่าจะขับรถไปให้ถึงแม่น้ำเมย ชายแดนตะวันตกในจังหวัดตาก ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งในโครงการผันน้ำสู่เขื่อนภูมิพล แต่เส้นทางบนยอดเขาอันคดเคี้ยวและต้องไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ทำให้เป้าหมายของเราต้องเปลี่ยนไป เพราะดวงอาทิตย์ใกล้ลับเหลี่ยมภูเขาแล้ว หากไม่รีบหาที่นอนคงลำบากแน่ เนื่องจากอุณภูมิลดลงอย่างลวดเร็วเหลือแค่ตัวเลขหลักเดียว
จุดที่เราเลือกแวะพักอยู่ริมลำน้ำขุนสองซึ่งเป็นหุบเขากลางผืนป่าอมก๋อย
พวกเราทีมข่าวสำนักข่าวชายขอบ (transbordernews.in.th ) ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและสำรวจโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่าโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ซึ่งกรมชลประทานตั้งวงเงินงบประมาณไว้ราว 7 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่บ่ายวันที่ 6 ธันวาคม
โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินและยวมสู่เขื่อนภูมิพลเป็นโครงการเก่าที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนเริ่มวางแผนไว้ตั้งแต่ปี 2538 และกรมชลประทานได้นำมาปัดฝุ่นใหม่ เพียงแต่เปลี่ยนมาผันน้ำยวมแห่งเดียวเนื่องจากแม่น้ำสาละวินเป็นสายน้ำนานาชาติที่ไหลลัดเลาะอยู่แค่แนวชายแดนไทย ดังนั้นการผันน้ำโดยตรงอาจประสบปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านได้

ดูเหมือนว่ากรมชลประทานก็ไม่มั่นใจว่าจะผลักดันโครงการนี้ได้สำเร็จเพราะเป็นโครงการใหญ่และผลกระทบค่อนข้างกว้างขวาง จึงได้เพิ่มพลังแนวร่วมโดยดึงส.ส.ในสภาผู้แทนฯ ทั้งซีกฝ่ายค้านและรัฐบาล ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลเป็นเป้าหมายใหญ่ เช่นเดียวกับโครงการผันน้ำในแม่น้ำโขงสู่พื้นที่ภาคอีสาน โดยสมาชิกรัฐสภาบางคนถึงกับประกาศว่าจะผลักดันโครงการผันน้ำให้แล้วเสร็จสิ้นภายในรัฐบาลชุดนี้
โครงการผันน้ำในแม่น้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลมีองค์ประกอบหลักประกอบด้วย 1.เขื่อนกั้นแม่น้ำยวมในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความสูง 69.50 เมตร เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นโดยมีอาคารระบายน้ำล้นและถนนเข้าหัวงานอ่างเก็บน้ำมีความยาว 10 กิโลเมตร 2.สถานีสูบน้ำซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านสบเงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ห่างจากตัวเขื่อน 22 กิโลเมตรซึ่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 6 เครื่องผันน้ำลงอุโมงค์ 3.ถังพักน้ำและอุโมงค์ซึ่งมีความยาว 64 กิโลเมตร เริ่มต้นจากบ้านสบเงาเจาะทะลุป่าเขาแล้วไปออกที่ลำห้วยแม่งูดริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลใน อ.ฮอด จ.ตาก
พวกเราเริ่มต้นสำรวจและเก็บข้อมูลที่ปลายอุโมงค์ของโครงการบ้านแม่งูดโดยนายนายวันชัย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด พาพวกเราไปดูพื้นที่ที่ปากอุโมงค์จะโผล่มายังลำห้วยแม่งูดโดยเขาเล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นชาวกะเหรี่ยงซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อปี 2507 มาครั้งหนึ่งแล้ว หากมีการผันน้ำเข้ามาอีกย่อมทำให้น้ำในอ่างสูงขึ้นและเกรงว่าจะท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้าน
“โครงการนี้แทบไม่มีประโยชน์กับชาวบ้านเลยเพราะผันน้ำแค่ช่วงหน้าฝนซึ่งตอนนั้น พวกเรามีน้ำอยู่แล้ว ผมและชาวบ้านแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการนี้มาโดยตลอด ทุกวันนี้ยังแทบไม่มีใครเข้ามาชี้แจงให้ชาวบ้านรู้รายละเอียดเลย พวกเรารู้สึกหดหู่ใจมากเพราะเขาไม่เคยเห็นใจชาวบ้านริมอ่างเก็บน้ำเลย”
ความเห็นของผู้ใหญ่บ้านแม่งูดก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับชาวบ้านในอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งพวกเราได้เข้าไปเก็บข้อมูลในวันที่สอง โดยพื้นที่อมก๋อยจะมีแนวอุโมงค์และท่อพาดผ่าน ซึ่งจากความยาวทั้งหมด 64 กิโลเมตร พบว่า 90% อยู่ในพื้นที่ผืนป่าอมก๋อย แต่ที่น่าประหลาดใจคือชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้เรื่องเลยว่าจะมีแนวอุโมงค์ของโครงการใหญ่ขุดผ่าน
ประชาชนในอำเภออมก๋อยส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงเช่นกัน พวกเขามีวิถีชีวิตผูกโยงอยู่กับธรรมชาติโดยเฉพาะป่าเขา ดังนั้นพวกเขาจึงช่วยกันดูแลรักษาผืนป่าเอาไว้ได้เป็นอย่างดี จนทำให้ป่ารอยต่อใน 3 จังหวัดแห่งนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

“ทุกวันนี้เรามีคุณภาพชีวิตที่เป็นปกติสุขดีอยู่แล้ว เมื่อมีโครงการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเข้ามา พวกเราย่อมรู้สึกเป็นกังวลใจ” นายพิบูลย์ ธุรมลฑล สมาชิกกกลุ่มชาติพันธุ์อมก๋อย เล่าถึงสาเหตุที่ออกมาคัดค้านโครงการผันน้ำครั้งนี้ และเมื่อเดือนก่อนชาวบ้านอมก๋อยแสดงพลังร่วมกันคัดค้านสัมปทานเหมืองถ่านจนประสบผลสำเร็จ
ยอดเขาสูงตระหง่านตั้งสลับซับซ้อนครอบคลุมด้วยความเขียวขจีจนสุดตา ป่าใหญ่ผืนนี้มีหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยตั้งอยู่ห่างๆ กันส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มนต์เสน่ห์ของธรรมชาติท้าทายให้พวกเราเลือกที่จะขับรถไปตามถนนลูกรังที่สูงชันตัดข้ามป่าเขาแทนที่จะใช้ถนนลาดยาง
จนกระทั่งพวกเราต้องมาแวะพักอยู่ริมลำน้ำขุนสองอันเย็นเฉียบ
แม้ต้องเผชิญความหนาวเหน็บในหุบเขาสูงจนถุงนอนแทบเอาไม่อยู่ แต่พวกเราก็ได้สัมผัสถึงธรรมชาติอันดิบๆ ทั้งน้ำตกไม่มีชื่อที่ไหลหล่นจากผาสูง เราได้เห็นถึงวิถีการทำไร่หมุนเวียนดั้งเดิมซึ่งทำให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
ใน 2 วันสุดท้าย พวกเราได้ลงพื้นที่สำรวจแม่น้ำยวม แม่น้ำเงาและแม่น้ำเมย ซึ่งแม้โครงการระบุว่าจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม แต่ทั้งแม่น้ำเงาและแม่น้ำเมยซึ่งผูกโยงกันอยู่ต่างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย รวมทั้งแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของแม่น้ำเหล่านี้
ตลอดเส้นทางของแม่น้ำยวมที่จะถูกน้ำท่วม หากมีการสร้างเขื่อน ต่างเต็มไปด้วยป่าสักและไม้ใหญ่ บางจุดมีน้ำตกเล็กๆงดงาม บางจุดเป็นแก่ง-ผาอันมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ
“ถ้าโครงการเกิดขึ้นจริง พวกเราจะทำอย่างไร ตอนนี้ชีวิตนับถึง 10 แล้วจะให้เริ่มต้นนับ 1 ใหม่หรือ เราไม่เอาด้วยหรอก ต้นแม้แต่ละต้นกว่าจะเติบโตจนออกผลต้องใช้เวลา จู่ๆจะให้ผมย้ายไปอยู่ที่อื่น ผมก็ไม่ยอม” นายประจวบ ทองฤทธิ์ ชาวบ้านสบเงา สะท้อนความอัดอั้นตันใจ บ้านเขาเป็น 1 ใน 4 หลังซึ่งอยู่ในจุดที่โครงการจะก่อสร้างสถานีสูบน้ำ แต่จนบัดนี้ผู้พัฒนาโครงการก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าให้เขาไปอยู่ที่ไหนและอยู่อย่างไร
การสำรวจเส้นทางของโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลตั้งแต่ปากอุโมงค์ไปจนถึงจุดสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม พบว่ายังมีข้อมูลอันสับสน และมีคำถามมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ ขณะที่กรมชลประทานได้พยายามผลักดันให้เดินหน้าแต่กลับยังไม่มีอธิบายที่ชัดเจนให้กับชาวบ้านและระบบนิเวศ
บางทีการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลเพื่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาในครั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่การสูบน้ำมาจากชาวบ้านชายขอบเพื่อสนองคนภาคกลางเท่านั้น แต่เป็นการสูบเอาความสุขจากคนเล็กคนน้อยมาสนองคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจ