
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 ที่บริเวณหน้าหาดราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้มีการจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 10 ภายใต้ชื่อ “ 10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลสู่กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ขึ้นเป็นวันที่สอง โดยมีการแสดงวัฒนธรรมและพิธีเปิดโดยมีนายพงษ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธาน
นางแสงโสม หาญทะเล ผู้แทนชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวรายงานถึงปัญหาของชาวเลว่า 1.ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย มี 25 ชุมชน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง ทั้งๆที่อาศัยมายาวนาน กลายเป็นที่ดินรัฐหลายประเภท 2.สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน จากการสำรวจพบว่ากำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง มีทั้งการออกเอกสารมิชอบทับที่ ถูกรุกล้ำแนวเขต ถูกห้ามฝังศพ 3. ถูกฟ้องขับไล่โดยธุรกิจเอกชนออกเอกสารมิชอบทับชุมชน ถูกดำเนินคดี 29 คดี มีชาวเลเดือดร้อนมากกว่า 3,500 คน 4.ปัญหาที่ทำกินในทะเล จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าแต่เดิม ชาวเลหากินตามเกาะแก่งต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 27 แหล่งแต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แหล่ง มีชาวเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ จับกุมพร้อมยึดเรือเพิ่มขึ้น
นางแสงโสม กล่าวว่า 5. พื้นที่หน้าชายหาดซึ่งทุกคนควรใช้ร่วมกัน ผู้หญิงชาวเลใช้ หาหอย หาปู วางเครื่องมือประมง และที่จอดเรือก็กลายเป็นสิทธิของโรงแรมและนักท่องเที่ยว เช่น หน้าหาดราไวย์ ทางธุรกิจเอกชนพยายามปิดทางเข้าออก หาดและที่จอดเรือของเกาะหลีเป๊ะ และเกาะพีพี ชาวเลถูกบีบบังคับ กดดันไม่ให้จอดเรือ 6.ปัญหาเรื่องการศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม กลุ่มชาวเลส่วนใหญ่ ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ 7.ปัญหาเรื่องสุขภาวะ 8.ปัญหาการไร้สัญชาติ ยังมีชาวเลกว่า 400 คนที่ไม่มีสัญชาติไทย

นายพงษ์บุญย์ กล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยตลอดโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งได้มีมติ ครม.ฟื้นฟูและอนุรักษ์ และในแผนปฎิรูปได้พูดถึงร่างพรบ.ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะโดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ล่าสุดยังได้มีการตั้งอนุกรรมการฯขึ้นมาดูโดยเฉพาะโดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ ทส.เป็นประธาน และเราทราบดีว่าชาวเลมีข้อจำกัดต่างๆโดยมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแต่ประเทศได้พัฒนารวดเร็วโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามัน ดังนั้นชาวเลจึงต้องปรับตัว ขณะที่ภาครัฐได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งนายวราวุธ และที่ปรึกษาคือน.ส.กัญจนา ศิลปะอาชา ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพื่อให้ประชาชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสนับสนุนให้ชาวเลมีความมั่นคง
เวลา 10.30 น.มีเวทีเสวนา “กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ : เพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและยุติความขัดแย้ง”โดยพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการแก้ปัญหาที่ดิน พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชุมชนชาวเล กล่าวว่า ปัญหาของชาวเลเกิดจากราชการ ไม่ใช่เกิดจากตัวชาวเล โดยประเทศไทยประกาศเป็นรัฐซึ่งรัชกาลที่ 5 เดินทางไปต่างประเทศเพื่อประกาศความเป็นสยามให้ทราบ ซึ่งทุกคนร่วมกันสร้างความเป็นประเทศไทย โดยที่เกาะหลีเป๊ะ ชาวเลยืนยันความเป็นสยามไว้ ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่ตกเป็นของมาเลเซีย เช่นเดียวกับฝั่งตะวันตกตั้งแต่เชียงรายถึงประจวบฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5ได้มอบให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปเยี่ยมชาวกะเหรี่ยง ทำให้พื้นที่นั้นไม่กลายเป็นของพม่า เช่นเดียวกับภาคตะวันออก ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นผู้กำหนดเขตแดนประเทศไทย

“ที่หลีเป๊ะผมเคยไปขึ้นศาลเป็นพยานให้ชาวเล เขาบอกว่าชาวเลไม่มีสิทธิตามกฎหมายเพราะไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินไว้ก่อน แต่ผมบอกว่าพวกเขามีสิทธิเพราะอยู่มาก่อนมีกฎหมายด้วยซ้ำ แม้กฎหมายเดิมบอกให้ต้องไปแจ้ง แต่ถ้าเขาไม่แจ้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกลิบสิทธิ”พลเอกสุรินทร์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีปู่คออี้ บ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ระบุว่าบ้านใจแผ่นดินที่ปู่คออี้อาศัยอยู่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หมายถึงปู่คออี้ไม่ได้บุกรุกแต่อยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อน เจ้าหน้าที่จะทำอะไรต้องขออนุญาตชาวบ้านก่อน ซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงกับชาวเลซึ่งมีมติ ครม.คุ้มครองเช่นเดียวกัน ถ้าชาวเลอยู่มานานนับร้อยปีก็คือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเช่นเดียวกับปู่คออี้ เจ้าหน้าที่จะมาจับกุมไม่ได้ ศาลยังบอกเพิ่มเติมว่าการที่เจ้าหน้าที่ไม่ปฎิบัติตามมติ ครม.ปี 2553 เรื่องคุ้มครองวิถีกะเหรี่ยง นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้มติ ครม.ดังกล่าวเป็นเหมือนกฎหมายด้วย และศาลยังสั่งให้ยุติการจับกุมและให้คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย ทั้งนี้ตอนนี้กำลังร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ทุกคนมีสิทธิได้รับการดูแล
ทั้งนี้ในเวทีเสวนา ยังเปิดโอกาสให้ชาวเลร่วมสะท้อนสะท้อนปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยส่วนใหญ่บอกว่ามีปัญหาที่ดิน แหล่งทำกิน และสัญชาติ ขณะที่ผู้แทนชาวเลหมู่เกาะสุรินทร์กล่าวว่าปัจจุบันชาวบ้านถูกอุทยานฯห้ามจับปลาขาย แต่จับปลากินได้ ทำให้ชาวบ้านต้องซื้อข้าวโดยเฉพาะในฤดูมรสุมที่ไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวเพราะปิดเกาะ ส่วนชาวเลจากหลีเป๊ะกล่าวว่าที่ดินที่เป็นหลุมฝังศพถูกบุกรุกและห้ามชาวบ้านเข้าไปฝังศพนอกจากนี้ชาวเลหลีเป๊ะยังถูกฟ้องร้องอีกหลายคดี

น.ส.อรวรรณ หาญทะเล ชาวเลชุมชนทับตะวัน จ.พังงา กล่าวว่า 10 ปีมติครม.ชาวเลยังคงถูกฟ้องเหมือนเดิมและเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นความไม่จริงใจของภาครัฐที่ไม่ได้ช่วยชาวเลเลย เราคิดว่า 10 ปี เมื่อมีมติ ครม.คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลออกมา เราจะคุ้มครองจริงจรัง แต่กลับไม่ใช่
“มติดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ควรนำมาพูดกันเล่นๆทุกปี อย่าล้อเล่นกับความเจ็บปวดของพวกเรา พวกเรายังมีหลูกหลานที่ต้องเลี้ยงดูและต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม จึงอยากให้จริงจังและมีแผนร่วมกัน มีหลายฝ่ายอยากแก้ปัญหาจริงจัง แต่หลายกระทรวงที่รับไปแล้วก็ไม่ทำ พวกเราชาวเล 5 จังหวัดพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้”น.ส.อรวรรณ กล่าว

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า มี 4 พื้นที่ที่ชาวเลยังมีปัญหาสัญญาติ เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งมีควรการเจรจากับอธิบดีกรมการปกครองว่าควรมีแผนเร่งด่วน ขณะที่ด้านการศึกษา ควรมีครูที่เข้าใจหลักสูตรพิเศษของท้องถิ่นเพื่อสืบทอดอัตลักษณ์วัฒนธรรมและภาษา เพราะเด็กๆชาวเลรุ่นใหม่มักไม่ค่อยพูดภาษาถิ่นซึ่งจะทำให้ภาษาสูญหาย ส่วนเรื่องการใช้พื้นที่ทางทะเลโดยที่อุทยานฯหมู่เกาะสุรินทร์นั้น อุทยานฯไม่ยอมให้ชาวเลจับปลาขาย ซึ่งน่าจะมีการเจรจาว่าถ้าใช้เครื่องมือดั้งเดิมกี่ชนิด และจับปลาปริมาณเท่าไหร่ ถึงสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่อุทยานห้ามขาด และควรมีการมีการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวในรูปแบบชุมชนด้วย
นางสุภางค์ จันทวานิช โครงการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย กล่าวว่า ชาวเลแต่ละจังหวัดควรมีสิทธิในการหากิน โดยกำหนดการใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการจับปลาดำรงชีวิตและไม่ได้จับปลาจำนวนมาก ขณะที่เรื่องท่องเที่ยวควรต้องนำเสนอสิ่งที่มีอยู่เช่นวิถีชีวิตของชาวเลอยู่แล้วให้นักท่องเที่ยวโดยมีคำอธิบายที่ชัดเจน และควรมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น เรื่องการระบายน้ำ หรือสุขา
นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่า มติ ครม.เรื่องคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล 10 ปี อยากให้มองถึงความคืบหน้าด้วย ไม่ใช่มองแต่ความล้มเหลว ซึ่งในอดีตนั้นชาวเลยังไม่มีการรวมตัวใดๆ แต่ปัจจุบันเสียงของชาวเลสามารถเรียกให้หน่วยงานราชการรับฟัง เช่น ตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆขึ้นมาพิจารณา ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมาไม่สูญเปล่า เวลาทำงานเรื่องชาติพันธุ์อยากให้กำลังใจวัฒนธรรมจังหวัดที่อยู่เบื้องหลัง หากไม่มีคนเหล่านี้ การผลักดันขับเคลื่อนมติ ครม.จะไม่ออกมาถึงแบบนี้ และอีกรูปธรรมในความสำเร็จคือในรัฐธรรม 2560 ที่ระบุไว้ชัดเจนถึงการให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และยังระบุว่าให้มีกฎหมายภายในปี 2564 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในการก้าวต่อไป ขณะเดียวกันเราต้องพิจารณาว่าอะไรคือปัญหาที่เป็นรากฐาน เช่น ทัศนคติทางลบที่มองชาวเล เราต้องทำให้เขาเห็นว่าชาวเลมีศักยภาพเหมือนคนทั่วไป
นายวิทวัส เทพสง ผู้แทนชาวเล กล่าวว่าการขุด-ทำลายหลุมฝังศพหรือพื้นที่ทางวัฒนธรรมไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะเหมือนกับสิ่งสำคัญทางศาสนาของคนทั่วไป ขณะที่กลุ่มชาวเลที่มีเอกสารสิทธิในที่ดินมักเป็นคนที่แต่งงานกับคนจีนซึ่งมีความคิดครอบครอง ส่วนเรื่องการทำมาหากินในทะเลนั้น เราได้กำหนดเครื่องมือประมง 17 ชนิดร่วมกับภาครัฐซึ่งเป็นเครื่องมือที่ชาวเลใช้มานานและไม่ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมและควรให้เขาใช้ต่อไป โดยมีข้อตกลงกันแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการต่อเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
“ตอนนี้เรามี 11 พื้นที่ที่พวกเราจะผลักดันให้เป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรมชาวเล เราอยากให้ราชการมาร่วมลงนามด้วย เพื่อประกาศร่วมกัน”นายวิทวัส กล่าว
ทั้งนี้ก่อนปิดงานชาวเลจาก 5 จังหวัดอันดามันได้ร่วมกันประกาศปฏิญญา ในการขับเคลื่อน ให้เกิดกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งจะร่วมกัน ทำงานให้เกิดการแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ จำนวน 10 ข้อ อาทิ การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้แก่ชุมชนชาวเลที่อาศัยในที่ดินรัฐในรูปแบบโฉนดชุมชนหรือสิทธิร่วมของชุมชน การร่วมกันปกป้องสุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางจิตวิญญาณไม่ให้ถูกรุกราน การร่วมกันปกป้องการละเมิดสิทธิชุมชนชาวเลจากการฟ้องขับไล่ของเอกชน
//////////////////////////