เรื่องโดย เพียรพร ดีเทศน์
ป้ายผ้าเขียนว่า No Dam พาดบนผาหินอีกฝั่งของลำน้ำ ใบไม้ร่มรื่นพริ้วไหวเมื่อกระทบสายลมอ่อนๆ ผู้คนมากมายนั่งร่วมกิจกรรม ณ ลานใต้ร่มไม้ใหญ่ในผืนป่าสักทองที่ใหญ่ที่สุดของไทย ริมแม่น้ำยมที่ “ผาอิง” ต.สะเอียบ จ.แพร่ เพื่อประกาศจุดยืนในงานวันหยุดเขื่อนโลก International Day of Actions for Rivers and Peoples ซึ่งเป็นปีที่ 30 แล้ว ของการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น รูปธรรมขบวนการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชนที่เข้มเข็งมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนหนึ่งของความแข็งแกร่งของชุมชนสะเอียบ ในการรักษาทรัพยากรลุ่มแม่น้ำยม ตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษ คือกลุ่มคนหนุ่มสาวที่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับคนรุ่นพ่อแม่ และในวันนี้พวกเขาเหล่านั้นอยู่ในวัย 40 กันแล้ว
“ทิน” เยาวลักษณ์ ศรีคำภา นักวิชาการอิสระ เล่าว่าเริ่มจากตอนที่อายุ 9-10 ขวบ ราวๆ ช่วงต้นทศวรรษ 2530 ได้ยินเรื่องโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ยินผู้ใหญ่ในหมู่บ้านพูดว่าไม่เอา แต่ที่โรงเรียนประถม ครูกลับบอกว่าเขื่อนดี ช่วยพัฒนาประเทศ ทำให้เศรษฐกิจดี จะมีไฟฟ้าใช้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม จึงเกิดคำถามว่าทำไมพูดไม่ตรงกัน จึงไปถามแม่ บอกแม่ว่าครูบอกว่าเขื่อนดีนะ บ้านเราจะเจริญ แม่ตกใจ และบอกว่าให้หยุดพูด หากชาวบ้านได้ยินจะมีปัญหาได้ ก็ได้แต่เก็บความสงสัยไว้
ต่อมาเมื่ออายุ 14 ปี มีองค์กรพัฒนาเอกชน YT มาทำค่ายพัฒนาเยาวชนเพื่อสิ่งแวดล้อม มีพี่ๆ นักศึกษา และ NGOs ชวนตัวแทนเยาวชน 3 หมู่บ้านไปร่วมกิจกรรม จึงได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ทราบข้อมูลว่าเขื่อนคืออะไร ผลกระทบคืออะไร หากวันหนึ่งเขื่อนสร้าง พวกเราชาวบ้านต้องโดนอพยพเราจะเป็นอย่างไร จนได้คำตอบที่เคยสงสัย
หลังจากร่วมกิจกรรมค่าย ก็เข้าใจเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เยาวชนผู้หญิง10 คนก็รวมตัวกันตั้งกลุ่มเยาวชน และมีพี่ๆ ผู้ชายเป็นพี่เลี้ยง ช่วงนั้นคือ พ.ศ. 2537 เป็นช่วงการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยธนาคารโลก (World Bank) มีหน่วยงานรัฐเข้ามากดดกันชาวบ้าน แกนนำชุมชนบางคนโดนขู่ฆ่า ผู้ใหญ่จึงเห็นว่าคิดว่าเด็กๆ ไม่ควรทำเรื่องนี้ ควรเรียนหนังสือ
“แต่เราเห็นว่าเด็กๆ ต้องช่วย เราแอบประชุมลับใต้ถุนบ้าน หาข้อมูล เอามาจัดบอร์ดเผยแพร่ พี่ๆ ส่งข้อมูลมา เช่น สถานการณ์เขื่อน ข่าวสารต่างๆ ข้อมูลโครงการ เด็กๆ พวกเราก็ตัดข่าวหนังสือพิมพ์มาจัดบอร์ดในหมู่บ้าน ที่หน้าตลาดสด อัปเดทสถานการณ์” ทิน กล่าว
กลุ่มเยาวชนตะกอนยมในยุคบุกเบิก เด็กๆ ได้จัดค่ายเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เป็นพี่เลี้ยงเอง หาทุนกันเอง จากกองทุนเยาวชน หรือรับบริจาคจากมูลนิธิต่างๆ ทำผ้าป่าในหมู่บ้าน ขอบริจาคอาหารแห้งจากวัดในเมือง เข็นรถเพื่อขอบริจาคจากในหมู่บ้าน
“ตะกอนยม” มีสมาชิกใหม่เพิ่มทุกๆ ปี มีรุ่นถัดๆ มา เชื่อมกับเครือข่ายภายนอก และขยายเนื้อหาไปเรื่องที่กว้างขึ้น เช่น โลกาภิวัฒน์ การสร้างจิตสำนึกต่างๆ จนเกิดเป็นเมล็ดพันธุ์พลเมืองที่มีจิตสำนึกต่อสังคม แม้จะเติบโตขึ้นไปทำงานแขนงต่างๆ แต่กลุ่มเยาวชนตะกอนยมก็มีความเข้าใจในประเด็นชุมชน
“แคน” ชาติชาย ธรรมโม สมาชิกกลุ่มตะกอนยม เล่าว่าในช่วงเริ่มต้นการต่อสู้เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น มี “กลุ่มหนุ่มสาวบ้านดอนชัย” เป็นกำลังหลัก ต่อมากลุ่มหนุ่มสาวเริ่มมีครอบครัว และเห็นว่าต้องมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเสริม นักกิจกรรมทางสังคมที่เข้ามาทำงานกับชุมชน เช่น หาญณรงค์ เยาวเลิศ จึงได้ชวนกลุ่ม YT เข้ามาทำกิจกรรมกับเด็ก ตั้งเป็นกลุ่มลูกแม่ยม ซึ่งมีกลุ่มกระจกเงาได้เข้ามามาสอนการทำงาน ผ่านกระบวนการละคร โดยตนเองเริ่มทำงานกับขบวนการปกป้องชุมชนตั้งแต่อายุประมาณ 10 ปี เข้าร่วมกิจกรรมค่ายลูกแม่ยม ที่จัดที่วัดดอนชัย ในหมู่บ้าน
กลุ่มเยาวชนร่วมทำงานกับผู้ใหญ่อย่างเข้มข้น เช่น ได้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล 99 วัน ร่วมกับสมัชชาคนจน ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ฯลฯ
แคน เล่าว่าที่ตนเองจำได้แม่นมากคือ ที่วิทยาลัยเทคนิคแพร่ บรรดานักเรียนจาก ต.สะเอียบ ถูกกดดันว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว เพราะคัดค้านเขื่อน คัดค้านการพัฒนา จนถึงกับถูกประกาศตำหนิที่หน้าเสาธงวิทยาลัย “พวกเราจึงได้ให้เพื่อนๆ นักเรียนจาก ต.สะเอียบ สมัครเป็นประธานแผนกทั้งหมด และต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถช่วยโรงเรียนได้ แต่เรื่องที่เราค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น ต้องเข้าใจด้วยเหตุผลของชุมชน”
จากนั้นแคนได้ไปสมัครงานที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช และเพื่อนๆ ในกลุ่มเยาวชนต่างคนต่างเติบโตไปในทางที่ตนเองชอบและถนัด แคนเชื่อในงานฝึกอบรมคนรุ่นใหม่ จึงไปทำงานโครงการฝึกอบรมเยาชนเพื่อการพัฒนา
“กุล” สายัณน์ ข้ามหนึ่ง ทำงานที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เป็นประธานกลุ่มตะกอนยมรุ่นต่อมา กุลเล่าว่าที่จำได้คือ ตอนเรียนชั้นประถม 4 ได้ร่วมกิจกรรมกลุ่มกระจกเงา ก่อตั้งกลุ่มลูกแม่ยม ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมแสดงสะครเด้ก ที่สะท้อนเรื่องธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของป่า โดยช่วงแรกๆ พี่ๆ ที่มาทำงานกับกลุ่มเด็ก ยังไม่ได้ให้ข้อมูลมากนักเรื่องโครงการเขื่อน ตอนนั้นเป็นช่วงที่ชาวบ้านเลิกทำไม้ (จากการสัมปทานป่า)
จากนั้นได้เข้าค่ายและกิจกรรมต่างๆ ได้เรียนรู้เรื่องการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ข้อมูลเขื่อน และผลกระทบต่างๆ
เมื่อไปเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่จังหวัดแพร่ ก็ถูกกดดันจากครูในโรงเรียน และคนในจังหวัดแพร่
“ครั้งหนึ่งที่ร้ายแรงมาก คือครู ประกาศให้นักเรียนจาก ต.สะเอียบ ยกมือ และประกาศว่าพวกนี้ไม่เสียสละ และเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในทุกโรงเรียนในแพร่ ในเวลานั้น โดยบอกว่าพวกเราเป็นพวกขัดขวางความเจริญ” กุลเล่า
ครั้งหนึ่ง ครูสอนวิชาสังคมศึกษา ให้นักเรียนอภิปรายเรื่องโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น มุมของครู คือซึ่งเห็นด้วยกับโครงการเป็นเขื่อนอย่างมาก เมื่อเพื่อนๆ เห็นด้วยก็ชี้นำ มีเพียงนักเรียนจาก ต.สะเอียบสองคนที่คัดค้านก็ถูกกดดัน
“เหตุการณ์แบบนี้เกิดทุกชั้นเรียนในทุกแผนก ถือเป็นยุคที่โดนกดดันหนักที่สุด พ.ศ. 2540 เรียนปวช. ที่มีข่าวสมัชชาคนจนชุมนุมหน้าทำเนียบ มีป้ายสนับสนุนเขื่อนในเมืองแพร่มากมาย พวกเรานักเรียนก็ใช้วิธีไปฉีกป้ายออก พ่อแม่ก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ที่แย่คือ มันกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนสะเอียบกับคนในเมือง ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น” กุลเล่า
กุลบอกอีกว่า ที่โรงเรียนประจำจังหวัด มีการเกณฑ์ให้นักเรียนลงชื่อสนับสนุนโครงการเขื่อน มีเแต่ด็กนักเรียนจากสะเอียบเป็นหัวหน้าชั้น แอบถ่ายเอกสารออกมา จึงทราบว่าผู้ว่าฯ สั่งให้ทุกโรงเรียนล่ารายชื่อผู้สนับสนุนโครงการเขื่อน จนชาวบ้านจาก ต.สะเอียบ ต้องพากันมาประท้วงที่ตัวจังหวัด
ช่วงก่อนเรียนจบ กุลได้เป็นประธานกลุ่มประสานงานเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำต่างๆ ราว 10 ลุ่มน้ำ ทั่วประเทศ จำได้ว่าทุกครั้งที่ผู้ใหญ่มีแถลงการณ์ กลุ่มเยาวชนก็จะออกแถลงการณ์จากเยาวชน มีข้อเรียกร้องคือ ให้รักษาทรัพยากรธรรมชาติและอนาคตของลูกหลาน และยืนยันจะทำงานต่อจากพ่อแม่
หลังจากนั้นก็ได้ส่งต่อไม้ให้น้องรุ่นต่อๆ ไป จนสถานการณ์การผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นลดลง ได้เปลี่ยนเป็นกิจกรรมค่ายเรียนรู้ เช่น เก็บผักหวาน หาเห็ด เรียนรู้วิถีป่า สำนึกรักษ์บ้านเกิดและพื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยมีน้องๆ เป็นผู้ประสานงาน
ปัจจุบันมีการก่อตั้ง “โฮงเฮียนแม่น้ำยม” ใช้รูปแบบงานวิจัยไทบ้าน รวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้ท้องถิ่นเรื่องแม่น้ำและนิเวศ สอนให้เด็กๆ เรียนรู้ชุมชนและทรัพยากรของตนเอง
กับคำถามว่าทำไมจึงให้ความสำคัญกับงานเยาวชน กุลบอกว่าคิดว่าเรื่องนี้สำคัญในทุกพื้นที่ เพราะเด็กๆ คือผู้สืบทอด และงานเคลื่อนไหวเพื่อการปกป้องสิทธิชุมชน เป็นงานที่ต้องทำยาว การสร้างเยาวชนที่เข้มแข็งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
กุลบอกว่า จนถึง ณ เวลานี้ เชื่อว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างไม่ได้แน่ๆ แต่อย่างไรก็ตามชุมชนต้องอยู่ต่อได้ ให้ชุมชนเรียนรู้และเท่าทันสถานการณ์ ทั้งในประเทศและภูมิภาค ชาวสะเอียบต่างรู้ดีว่านอกจากเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว มักจะมีโครงการอื่นๆ ที่เสนอกั้นแม่น้ำยม เขื่อนยมบนยมล่าง อ่างเก็บน้ำเตาปูน และอื่นๆ เข้ามาอีก
กลุ่มเยาวชน ต่างเชื่อว่าขบวนการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นการต่อสู้บนฐานของความไม่ยุติธรรมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อย่างการสร้างเขื่อน ขบวนการชาวบ้านทำให้เกิดการยอมรับในสิทธิชุมชนในการร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคุณูปการแก่พื้นที่อื่นๆ ทั้งในประเทศและในภูมิภาค
เป็น “ตำนานเขื่อนแก่งเสือเต้น” ที่ชาวบ้านคนธรรมดาสามารถยันโครงการเขื่อนไว้ได้
การผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น กุลบอกว่า เชื่อว่าเป็นความต้องการผลประโยชน์ ต่างๆ อาจหมายถึงเงินทอน อาจหมายถึงไม้สักทองในป่าแม่ยม ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้นทุกวัน และไม่สามารถหาได้ที่ไหนอีกแล้ว เชื่อว่าวัตถุประสงค์หลักที่มีการผลักดันโครงการอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำยม
“การผลักดันสร้างเขื่อนทำให้ลุ่มน้ำยมเสียโอกาสในการใช้ทางเลือกการบริหารจัดการน้ำอื่นๆ” กุลบอก และสรุปว่าที่เราทำ คือปกป้องรักษาผืนป่าสักทองผืนใหญ่ของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ของคนสะเอียบ
วันนี้แม้ยังมีความพยายามปรับรูปแปลงร่าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” บนแม่น้ำยม เป็น “อ่างเก็บน้ำเตาปูน” แต่พลังของชุมชนและคนหนุ่มสาวยังคงแข็งแกร่งในการปกป้องป่าสักทองผืนใหญ่ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ “นักปั้น”โครงการซึ่งมีทั้งบิ๊กข้าราชการในหน่วยงานรัฐและนักการเมืองใหญ่
โปสเตอร์และป้ายติดประกาศ “ห้ามบุคคลและหน่วยงานที่ผลักดันเขื่อนแก่งแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง อ่างเก็บน้ำเตาปูนฯลฯ เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด” ยังคงปลิวว่อนอยู่ตามสื่อสังคมออนไลน์ และริมถนนไปสู่สะเอียบ เพราะฉะนั้นการที่นักปั้นโครงการจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยม จึงไม่ใช่เรื่องง่าย