Search

ย่ำเมืองทวาย ย่ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

 

โกอองบอเว และเพื่อนๆ ให้มุมมองสถานการณ์ในพม่าแก่สื่อมวลชนไทย
โกอองบอเว และเพื่อนๆ ให้มุมมองสถานการณ์ในพม่าแก่สื่อมวลชนไทย

มีเสียงบ่นว่ารถยนต์ในนครย่างกุ้งติดหนึบยิ่งกว่าปีก่อนมาก ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปริมาณรถแท็กซี่ที่เพิ่มขึ้นมากมาย เนื่องจากรัฐบาลได้ปลดล็อคให้มีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศได้อย่างเสรีขึ้น ทำให้รถแท็กซี่เก่าๆที่เราเป็นเมื่อปีกลายหายไปเกือบหมด

เสรีภาพที่มากขึ้น ทำให้รอยยิ้มในนครย่างกุ้งมีมากขึ้นไปด้วย การค้าขายและทำธุรกิจต่างๆเป็นไปอย่างคึกคัก

 

พวกเราใช้เวลาสั้นๆที่แวะพักค้างคืนในนครย่างกุ้งก่อนการเดินทางสู่เมืองทวาย หารือแลกเปลี่ยนกับนักเคลื่อนไหวและปัญญาชนของพม่าหลายคน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของพม่าในรอบ 1 ปี

 

สื่อมวลชนกลุ่มเล็กๆได้ไปเก็บข้อมูลและค้นหาข้อเท็จจริงในหลากหลายแง่มุมของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เมืองทวาย ประเทศพม่าอีกครั้ง

พวกเรานัดพบกันที่อาคารหลังหนึ่งซึ่งเป็นสำนักงานขององค์กรภาคประชาสังคม โดยสามารถชมทิวทัศน์ของมหาเจดีย์ชเวดากองได้อย่างแจ่มชัด

 

มหาเจดีย์ชเวดากองในวันฟ้าครึ้ม
มหาเจดีย์ชเวดากองในวันฟ้าครึ้ม

โกอองบอเว และเพื่อนๆอดีตนักศึกษาปี 88 เริ่มต้นสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ประชาชนกล้าที่จะพูดและแสดงออกมากขึ้น เช่นเดียวกับสื่อมวลชนที่มีโอกาสเสนอข่าวและข้อเท็จจริงมากขึ้น โดยเริ่มมีหนังสือพิมพ์รายวันเกิดขึ้นแล้วหลังจากมีแต่รายสัปดาห์มาโดยตลอด แม้กฎหมายการเซ็นเซอร์ยังคงอยู่ แต่ก็ผ่อนปรนมากขึ้น ขณะที่สื่อมวลชนได้พากันรวมตัวตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมาและช่วยกันร่างกฎหมายสำหรับผู้ที่ประกอบวิชาชีพนี้โดยผลักดันเข้าสู่รัฐสภา

 

“ตอนนี้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ออกข่าวได้ทุกวัน การจะเขียนอะไรลงไปก็ไม่ต้องขออนุญาตก่อน แต่ข่าวใดที่ไม่จริงหรือเป็นเรื่องอนาจารก็จะถูกดำเนินการย้อนหลัง ตอนนี้ข่าวเรื่องการเรียกร้องสิทธิต่างๆมีมากขึ้น”อดีตนักศึกษาและนักโทษการเมือง ฉายภาพสื่อมวลชนที่เป็นกลไกสำคัญในสังคมพม่ายามนี้ แม้น้ำเสียงเขายังไม่ค่อยพอใจกับโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นอยู่มากนัก โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐบาลทหาร

 

“รัฐบาลประกาศว่าทุกคนมีเสรีภาพในการพูด แต่นั่นเป็นเพียงการพูดลอยๆ หากใครประท้วงรัฐบาล ก็ต้องขออนุญาตก่อน การขออนุญาตก็ขั้นตอนมากมายและมักไม่ได้รับอนุญาต หากใครไปประท้วงโดยไม่ขออนุญาตก็ถูกจับ”

 

ว่ากันตามจริง การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมนั้น ไม่ใช่แค่รัฐบาลพม่าเท่านั้น รัฐบาลใดในโลกก็คล้ายๆกัน คือไม่อยากเห็นประชาชนรวมกลุ่มประท้วง เพราะมักจะมองว่าเป็นการประจานความล้มเหลวของรัฐบาล เพียงแต่ในส่วนของพม่าดูจะควบคุมเข้มข้นหน่อย เพราะมีกฎหมายหลายฉบับที่เป็นผลมาจากรัฐบาลทหาร

 

แผงหนังสือพิมพ์ในสนามบินย่างกุ้ง หนังสือพิมพ์รายวันเริ่มมีให้เห็น
แผงหนังสือพิมพ์ในสนามบินย่างกุ้ง หนังสือพิมพ์รายวันเริ่มมีให้เห็น

เมื่อถามถึงเรื่องกลไกในระดับรัฐสภาของพม่าว่าสามารถเเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่ พวกเขาตอบว่า ได้ แต่ไม่มากนักเพราะโครงสร้างรัฐสภาพม่ามีส.ส.ร้อยละ 25 มาจากทหาร ร้อยละ 65 เป็นคนที่เปลี่ยนเสื้อผ้ามาจากทหาร และที่เหลือร้อละ 10 เท่านั้นที่เป็นคนอื่นๆ เช่น พรรคเอ็นแอลดี กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ดังนั้นอำนาจที่แท้จริงยังเป็นของทหาร แม้ดูเหมือนรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเป็นพลเรือน แต่คนที่คุมจริงๆยังเป็นทหาร การตัดสินใจเรื่องสำคัญๆยังต้องผ่านสภาที่ปรึกษาความมั่นคงซึ่งเป็นกลุ่มนายทหารระดับสูง

 

“ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลทำอะไรไม่ได้คือกรณีการสู้รบในรัฐคะฉิ่น รัฐบาลบอกให้กองทัพหยุดสู้รบ แต่เหล่านายทหารระดับสูงกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วย และยังคงเดินหน้าโจมตีต่อไป ซึ่งรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ ตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีที่เกี่ยวกับกิจการชาติพันธุ์ ยังต้องเป็นคนที่มาจากทหาร และการบริหารงานก็อยู่ภายในคณะที่ปรึกษาความมั่นคง”

 

โกอองบอเวบอกว่า ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็ร่างกันขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนยอมรับและมีสมาชิกรัฐสภามาจากประชาชนที่แท้จริง เพราะไม่อยากให้ทหารครองอำนาจสืบต่อไป

 

“เราเพิ่งเริ่มต้น ผมคิดว่ายังต้องใช้เวลาในการพัฒนาประชาธิปไตยอีก 20-30 ปีกว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง”เขาวิเคราะห์อนาคต และเมื่อถามถึงปัจจัยเปราะบางที่อาจทำให้กระบวนการที่เขาวาดหวังต้องสะดุด

 

“รัฐบาลนี้ประกาศมาโดยตลอดว่าไม่หันหลังกลับ ขณะนี้ต่างชาติก็เข้ามาพม่ามากมายซึ่งทำให้ทหารไม่กล้าทำอะไร แต่ก็ไม่แน่ว่าเขาจะย้อนกลับไปสู่แบบเดิมอีกหรือไม่” เขาสะท้อนความไม่มั่นใจว่าทหารจะหวนกลับมายึดอำนาจคืนอีกหรือไม่ ซึ่งประชาชนในพม่าส่วนใหญ่ต่างก็รู้สึกกังวลใจเช่นเดียวกับเขา

 

ประสบการณ์การต่อสู้อันยาวนาน จนถูกส่งไปอยู่ในเรือนจำนานหลายปี ทำให้อดีตนักศึกษาปี 88 ต่างมีบทเรียนอันเจ็บปวดจากระบอบเผด็จการทหาร ขณะเดียวกันสัญญาณในการเตือนภัยทางสังคมของพวกเขาย่อมทำงานได้ดีกว่าคนทั่วไป

ปัจจัยเปราะบางประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากและกลายเป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังถูกจับตามองอย่างยิ่งคือกรณีความขัดแย้งระหว่างคนพุทธกับมุสลิม ซึ่งเขาและเพื่อนๆพยายามชี้ให้เห็นถึงความไม่ปกติ

 

“กรณีความขัดแย้งระหว่างพุทธและมุสลิม เราเชื่อว่ามีการขบวนการสร้างภาพและขยายความให้เกิดขึ้น โดยคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของประวัติศาสตร์ ชาวบ้านอยู่ร่วมกันมานานไม่เคยมีปัญหา อย่างมากก็เกิดแค่คดีอาญาขึ้นบ้าง แต่ระยะหลังนี้ อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดในรัฐฉาน เป็นเรื่องของคนๆเดียว ซึ่งเป็นเรื่องความขัดแย้งปกติ แต่มีคนบางกลุ่มอยากขยายให้เป็นเรื่องของความบาดหมางระหว่างศาสนา

 

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คล้ายกับที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ คือเริ่มจากมีการตีกัน แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้จักเข้ามาสร้างความเสียหาย ชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องก็เข้าร่วมด้วยเพราะมีการประโคมข่าว หลังจากนั้นคนกลุ่มนี้ก็ออกไป พอตำรวจมาจับก็ได้แต่ชาวบ้านที่มาผสมโรงทีหลัง แต่กลุ่มคนที่สร้างความเสียหายจริงๆตำรวจจับไม่ได้ และคนกลุ่มนี้ก็ไม่กลัวตำรวจเลย ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา แค่เห็นตำรวจหรือพอตำรวจยิงปืนขึ้นฟ้า เขาก็กลัวแล้ว แต่คนกลุ่มนี้ไม่กลัว คนกลุ่มนี้พยายามที่จะสร้างกระแสเพื่อให้เป็นเรื่องการเมืองและศาสนา ท้ายที่สุดรัฐบาลจับได้แค่ชาวบ้านใจร้อนเท่านั้น”

 

ทวาย4แม้พวกเขาพยายามไม่พูดชี้ชัดว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการสร้างความแตกแยกนี้เป็นใคร แต่ก็คิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากขั้วอำนาจเดิมซึ่งก็คือทหาร ที่ไม่พอใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการถูกลดบทบาทลง

“กรณีที่เกิดในรัฐฉาน พระท่านเข้าไปห้ามด้วยซ้ำเพราะไม่ต้องการให้มีการทำร้ายกันชาวมุสลิม แต่ข่าวกลับออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง”

 

พวกเราปิดท้ายการสนทนาด้วยประเด็นทุนต่างชาติที่ทะลักเข้าพม่าโดยมุ่งตักตวงทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติต่างๆอันอุดมสมบูรณ์ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม

“การลงทุนจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของรัฐบาลทหารกับรัฐบาลพลเรือน พวกเราคิดว่าโครงการใดที่ยกเลิกได้ รัฐบาลชุดนี้ก็ควรจะยกเลิกไปซะ ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมก็พยายามให้คำแนะนำ ซึ่งก็มีวิธีการอยู่หลายอย่าง เช่น ร่วมมือกับพรรคการเมืองนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภา หรือไม่ก็มีเจ้าหน้าที่จากสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าไปตรวจสอบโครงการ หรือ เดินทางไปยังสถานทูตเพื่อคัดค้าน”

 

เราตั้งคำถามสุดท้ายถึงภาพนักลงทุนไทยในสายตาของคนพม่า เพราะก่อนหน้านี้ได้รับรู้ถึงความเกลียดชังของประชาชนพม่าต่อนักธุรกิจชาวจีนที่เข้ามาตัดตวงทรัพยากร จึงอยากรู้ว่าในส่วนของไทยจะเป็นอย่างไร แต่พวกเขาก็ไม่ได้เฉลยตรงๆ โดยตอบแบบเลี่ยงๆว่า เห็นด้วยถึงความจำเป็นในการดึงนักลงทุน แต่การลงทุนนั้นก็ไม่ควรส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีการลงทุนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ในทวาย) ซึ่งส่งผลกระทบกับชาวบ้านมาก จึงเป็นเรื่องที่ไม่ดี

 

“ใครที่จะเข้ามาลงทุนก็ควรคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดด้วย ประเทศไทยเองก็เคยมีบทเรียนหลายอย่างมาแล้ว อย่างกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หากคิดจะย้ายสิ่งนั้นมาไว้ในพม่า ก็ย่อมไม่ได้รับการยอมรับ”

 

ดูท่าแล้วกรณีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถูกจับตามองจากชาวพม่าทั่วประเทศไม่น้อย ยิ่งโครงการนี้มีความลุกลี้ลุกลนมาตั้งแต่ต้น ก็ยิ่งทำให้เกิดความสงสัยมากขึ้น และยิ่งตอนหลังรัฐบาลไทยลงมาถือหุ้นเองและเล่นเองเต็มตัว ถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรีหญิงของไทยออกตระเวนชักชวนให้นักลงทุนต่างชาติมาร่วมทุนลงขันด้วยตัวเอง

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการลงทุนหรือผลตอบแทนทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างของระบบทุนและธรรมาภิบาลข้ามแดน ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกของชาวพม่าทั้งประเทศด้วย

 

===============================

โดย โลมาอิรวดี

 

On Key

Related Posts

หวั่นดินโคลนไหลตามลำน้ำสายปนเปื้อน ผู้เชี่ยวชาญ-นักวิชาการจี้รัฐเร่งตรวจสอบ-กลัวแพร่กระจาย หลังฝนตกห่าใหญ่ท่วมขังประจานมาตรการรับมือ-แจ้งเตือนภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ในช่วงบ่าย 15.00 น.นายชRead More →

ชาวนาลุ่มน้ำกกนับแสนไร่หวั่นแช่สารพิษระหว่างดำนา สภาเกษตรกรเชียงรายจี้รัฐชี้แจงด่วน เผยทุกข์ซ้ำหลังจากราคาข้าวตก ผวจ.เชียงรายเผยตรวจคุณภาพน้ำ-ตะกอนดินได้ไม่ต่อเนื่องเหตุข้อจำกัดด้านห้องปฎิบัติการ

นายวรวัฒน์ เดชวงค์ยา สาธารณสุขอำเภอแม่อาย เชียงใหมRead More →