
———
องค์กร Transient Workers Count Too (TWC2)
สรุปความโดย บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
——————-
องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานในสิงคโปร์เผยแพร่เรื่องราวของแรงงานอพยพในที่พักที่รัฐบาลสิงคโปร์จัดให้ เนื่องจากได้รับฟังเรื่องราวมากมายจึงได้คัดเลือกบางชีวิตของแรงงานเหล่านั้นมาเล่าสู่กันฟัง
หนึ่งในนั้นคือ Chodam-J (นามสมมติ) แรงงานจากบังกลาเทศที่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสแต่ก็ถูกกักตัวอยู่ในหอพักขนาดเล็กในย่านวู้ดแลนด์ส (Woodland) ที่มีเพียง 2 คูหา แต่ละคูหาละมี 3 ชั้น แต่ละชั้นมีห้องใหญ่เพียงห้องเดียวที่จุคนได้ 20 คน เพราะฉะนั้นคูหาหนึ่งมีคนอาศัยอยู่ราว 60 คน ทั้ง 2 คูหาจึงสามารถรับคนเข้าพักร่วม 120 คน แต่จำนวนห้องอาบน้ำและห้องสุขานั้นมีน้อยกว่ามาก เพราะแต่ละคูหามีห้องอาบน้ำและสุขาเพียง 10 ห้องที่อยู่ชั้นล่างสุด เพราะฉะนั้น สัดส่วนจึงอยู่ที่ 1 ห้องน้ำและสุขาต่อคนใช้ 12 คน และห้องน้ำเหล่านี้ก็ไม่สบู่ แรงงานจึงต้องเอาข้าวของเครื่องใช้ประเภทสบู่ น้ำยาทำความสะอาด กระดาษชำระ และอุปกรณ์วัดอุณหภูมิติดตัวไปทุกครั้งเมื่อต้องการใช้ห้องอาบน้ำหรือสุขา
หอพักแห่งนี้ปลอดคนติดเชื้อได้เพียง 2–3 สัปดาห์ จนกระทั่งมีแรงงานก่อสร้างชาวจีนที่ถูกย้ายจากไหนไม่ทราบชื่อมาอยู่รวมด้วย เพียงเวลาไม่นาน จำนวนคนงานจีนเหล่านั้นถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้รัฐบาลประกาศให้หอพักแห่งนี้อยู่ในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ปัจจุบันหอพักแห่งนี้มีรายงานคนติดเชื้อ 10 ราย และได้ถูกรับไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่คนที่เหลือที่พักอยู่ในห้องเดียวกันยังต้องอยู่เหมือนเดิม แต่เจ้าหน้าที่แพทย์ได้เข้ามาตรวจหาเชื้อและให้แรงงานตรวจเช็คอาการด้วยตัวเองทุกวัน หลังจากนั้น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเมื่อได้รับการรักษาหายแล้วถูกส่งตัวกลับมาพักด้วยกันในห้องเดิม แม้ว่าห้องจะทำความสะอาดแล้ว แต่ก็ยังมีความกังวลเกิดขึ้นในหมู่แรงงาน รวมถึง Chodam-J ด้วยแม้ว่าเขาจะพักอยู่ในอีกคูหาหนึ่งก็ตาม
หลังจากหอพักอยู่ในมาตรการควบคุมของรัฐ ในแต่ละวันแรงงานจะได้รับแจกอาหารในช่วงถือศีลอดเดือนรอมฎอน ช่วงเช้าอาหารส่งมาถึงเวลาตี 4 ส่วนอาหารเย็นมาในเวลา 5 โมงเย็น เพื่อให้ทันช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดินราวทุ่มหนึ่ง Chodam-J ให้ความเห็นต่ออาหารที่รัฐจัดให้ว่า “ก็พอกินได้ (เราก็แค่กินมันไป)”
เรื่องราวชีวิตของแรงงานอีกคนได้รับการถ่ายทอด คนนี้มีนามสมมติว่า Chodam-K เขาเพิ่งอายุ 45 ปีไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาถือเป็นคนที่อายุมากที่สุดเมื่อเทียบกับอายุเฉลี่ยของแรงงานอพยพที่มาจากบังกลาเทศ เขาไว้เคราสั้นๆ ที่มีสีขาวแซมให้เห็นแล้ว หน้าผากค่อนข้างเถิกและมีร่องรอยของคนผมร่วง เขาเพิ่งเริ่มทำงานกับบริษัทท้องถิ่นในสิงคโปร์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาเขาได้ทำเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับค่าจ้าง ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ส่งกระทบกับเขาต่อกรณีร้องเรียนที่ทำไปอย่างมาก เนื่องจากกระทรวงกำลังคน (Ministry of Manpower: MOM) ได้ปิดหน่วยบริการรับเรื่องร้องเรียน หากแรงงานคนใดต้องการดำเนินการใดๆ ต้องจัดการผ่านระบบอิเลกทรอนิกส์ ทำให้แรงงานอายุมากที่ไม่ถนัดกับการใช้เทคโนโลยีอย่าง Chodam-K ตกที่นั่งลำบากอย่างไม่ต้องสงสัย
ขั้นตอนที่เขาต้องเริ่มต้นคือการมีอีเมลส่วนตัว ซึ่งที่ผ่านมาองค์กร TWC2 ได้อาสาเข้าไปช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้เวลาที่มีกรณีเกิดขึ้นในศาล ด้วยการช่วยสมัครอีเมลส่วนตัวให้กับแรงงานหลายคนที่มีอีเมลเป็นครั้งแรกในชีวิต รวมถึงสอนเรื่องการตั้งรหัสผ่าน ถึงกระนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่แรงงานเหล่านี้จะเข้าใจว่ามีอีเมลไปทำไมรวมถึงวิธีการใช้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Chodam-K กับเพื่อนมาขอความช่วยเหลือองค์กรนี้ในวันที่มีการแจกอาหารฟรีให้กับแรงงานอพยพ เขาและเพื่อนอธิบายว่าได้รับโทรศัพท์จากผู้หญิงที่พูดภาษาเบงกาลี (ภาษาราชการของบังกลาเทศ) บอกกับเขาว่าให้ตอบอีเมลหลายฉบับที่ส่งโดยกรมที่ดูแลเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องค่าจ้าง Chodam-K เองก็พูดภาษาอังกฤษได้แบบกระท่อนกระแท่น แม้เขาจะพยายามอธิบายเรื่องราวให้กับอาสาสมัครของ TWC2 ก็ยังต้องพึ่งพาให้เพื่อนช่วยล่ามให้
เจ้าหน้าที่อาสาสมัครพยายามช่วยเหลือและเปิดอีเมลอ่านจากโทรศัพท์มือถือของเขา แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจเรื่องราวได้ทั้งหมด อีเมลฉบับล่าสุดจากกรมที่ดูแลข้อพิพาทค่าจ้างแสดงออกถึงความหงุดหงิดรำคาญใจอย่างเห็นได้ชัดที่ Chodam-K ไม่ได้ตอบอีเมลกลับไป แต่เขาก็ยืนยันว่าได้สื่อสารกลับไปแล้ว ตลอดการสนทนาของเขากับอาสาสมัคร เพื่อนของเขาต้องอธิบายทุกอย่างแทนว่าผู้หญิงที่พูดภาษาเบงกาลีได้บอกว่าหากเขาไม่ตอบอีเมลไปในทันที กรณีของเขาอาจจะต้องปิดคดีไป ทำให้องค์กร TWC2 อดสงสัยไม่ได้ว่าคนอย่าง Chodam-K ซึ่งพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ถึงถูกคาดหวังจากเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ให้เขียนภาษาอังกฤษผ่านเครื่องมือสื่อสารที่เรียกว่า “อีเมล” เขาจะรู้หรือเปล่าด้วยซ้ำว่าจะกดคำว่า “ส่ง” ที่ตรงไหน ทำให้อาสาสมัครองค์กรนี้ต้องช่วยอีเมลกลับไปยังเจ้าหน้าที่ว่าควรที่จะสื่อสารกับ Chodam-K ด้วยวาจาผ่านล่ามภาษาเบงกาลี จึงจะสามารถร้องขอให้เขาทำในสิ่งที่รัฐต้องการได้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวจากแรงงานที่ถูกกักตัวอยู่ที่ศูนย์แสดงสินค้าที่ถูกดัดแปลงเป็นหน่วยรักษาชุมชน (Community Care Facility: CCF) แรงงานคนหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสแต่มีอาการไม่หนัก ได้ส่งรูปถ่ายและคลิปวีดิโอสั้นๆ จากที่ที่เขาถูกกักตัวมาให้องค์กรนี้ดู คนที่ถูกส่งตัวมาอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและยังไม่พบว่ามีอาการเสี่ยงด้านสุขภาพ เขาเล่าว่าได้รับการดูแลและอาหารแจกเช่นกัน แรงงานทุกคนต้องมาเข้าคิวรับอาหาร ซึ่งคิวตอนเช้าจะไม่ยาวมากเท่ามื้อเย็นที่เริ่มแจกตอน 4 โมงเย็น บางวันเขาเข้าคิวรอถึง 2 ชั่วโมงกว่าจะได้รับอาหาร ที่นี่มีหุ่นยนต์อัจฉริยะคอยแจกจ่ายยาให้กับผู้ติดเชื้อด้วย เสียดายที่เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ไม่สามารถแจกอาหารได้ ไม่เช่นนั้นก็คงประหยัดเวลาการเข้าคิวไปได้มาก
Chodam-M เป็นแรงงานอีกคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน เขาเพิ่งเดินทางมาทำงานในสิงคโปร์เมื่อช่วงต้นปี 2562 หลังจากต้องเสียเงินราว 15,000 ดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อให้ได้มาทำงานที่สิงคโปร์ แน่นอนว่าเขาต้องยืมเงินจำนวนนี้มาจาก “เพื่อนในหมู่บ้าน” ผ่านไปแค่ 6 เดือนเท่านั้น เขาก็พบปัญหาไม่ได้รับค่าจ้าง ทำให้ต้องยื่นเรื่องร้องเรียนและขอให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างที่ยังคงค้างอยู่จำนวน 6,000 ดอลลาร์ ขณะนี้เรื่องฟ้องร้องอยู่ในการพิจารณาไปแล้ว 8 เดือน ข้อมูลล่าสุดที่เขาได้รับจากกระทรวงกำลังคนคือไม่สามารถตามหานายจ้างของเขาพบ ขณะที่เขาได้รับข้อความข่มขู่ทวงเงินจาก “เพื่อนในหมู่บ้าน” หากเขาไม่จ่ายเงินคืนให้เร็วที่สุด ซึ่งมันไม่มีทางเป็นไปได้เพราะเขาไม่ได้รับเงินค่าจ้างเลยตั้งแต่ต้นปี 2562 ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงกำลังคนแนะนำให้เขารับเงิน 2,000 ดอลลาร์ฟรีๆ จากกระทรวงฯ ทดแทนค่าจ้างที่เขาไม่ได้รับ แต่ Chodam-M คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะเงินจำนวนนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เขายืมเงินจาก “เพื่อนในหมู่บ้าน” ได้ นั่นหมายความว่าหากเขากลับบ้านไปเมื่อใด ชีวิตเขาต้องอยู่ในความเสี่ยงหรือแขวนอยู่บนเส้นด้าย
ขณะที่องค์กร TWC2 มีนโยบายที่เข้มงวดเรื่องการให้เงินช่วยเหลือแรงงานรายบุคคล ซึ่งทางองค์กรก็เข้าใจว่าทุกคนต่างมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินแทบทั้งนั้น หากเราคิดที่จะให้เงินกับใครคนใดคนหนึ่ง นั่นหมายความว่ามันจะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะจะมีคนมาขอความช่วยเหลือเรื่อยๆ ทางองค์กรคงต้องมีเงินเป็นล้านๆ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ทาง TWC2 ต้องบอกกับ Chodam-M ไปตรงๆ ว่าไม่สามารถให้เงินช่วยเหลือได้ทั้งที่ตระหนักว่าเขาตกอยู่ในอันตราย แต่แท้จริงแล้วเขาคือเหยื่อของความล้มเหลวที่สิงคโปร์ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องเงินจำนวนมากที่แรงงานต้องจ่ายให้กับเอเยนต์จัดหางาน
สิ่งที่ทางองค์กรนี้ทำได้คือการสนับสนุนสิ่งของจำเป็นเล็กน้อยๆ ด้วยการตั้งทีมความต้องการในสิ่งจำเป็นเล็กๆ น้อยๆ (Small Essential Needs Team: SENT) เช่นขนมขบเคี้ยว ถั่ว หรือกาแฟผสมทรีอินวัน ด้วยปริมาณที่สามารถไปแจกจ่ายและแบ่งปันในกลุ่มแรงงาน โดยปกติอาสาสมัครไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่กักกันได้ ทำได้เพียงวางถุงสิ่งของตรงบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่ ซึ่งก็ได้หวังว่าเจ้าหน้าที่รปภ.จะเป็นคนเอาถุงของเหล่านี้ไปแจกแรงงานในช่วงระหว่าง 2 ชั่วโมงที่พวกเขาสามารถออกจากห้องกักตัวเพื่อพักผ่อนหรือเดินเล่น
เรื่องเล่าสุดท้ายมาจากแรงงานชื่อ Chodam-L ผู้ที่ยังมีใบอนุญาตทำงานในสิงคโปร์ทั้งที่ก็ไม่แน่ใจว่าช่วงระบาดของโควิด-19 นายจ้างยังมีงานให้เขาทำอีกหรือไม่ ตามกฎหมายแล้ว นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้เขาอยู่ไม่ว่าจะมีงานให้ทำหรือไม่ก็ตาม Chodam-L เล่าเรื่องนี้ให้ฟังแบบติดตลกว่า เจ้านายพูดกับเขาว่าเขาเป็นคนงานที่ดีและเป็นคนที่ไว้ใจได้ และตามข้อกฎหมายเขาต้องจ่ายเงินเดือนให้กับ Chodam-L และพูดว่าจะโอนเงินเข้าธนาคารให้ แต่ก็มาบอกทีหลังว่าเมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว ให้ไปถอนเงินที่ธนาคารมาคืน นี่คือสิ่งที่เจ้านายพูดกับเขา ซึ่ง Chodam-L ก็ต้องทำตามที่เจ้านายพูดเพราะมันเป็นหนทางเดียวที่เขาจะยังได้ทำงานต่อไปในสิงคโปร์
ในตอนท้ายของรายงานชิ้นนี้ องค์กร TWC2 เปิดเผยว่ารู้สึกแปลกใจที่ได้รับบริจาคของมากมายเกือบทุกวันจากคนในสิงคโปร์เพื่อนำไปช่วยเหลือแรงงาน ทำให้สามารถจัดโครงการแจกจ่ายอาหารฟรีให้กับแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ถูกบอกเลิกจ้าง จนกระทั่งทางองค์กรต้องประกาศแจ้งกับผู้หวังดีให้ติดต่อมาก่อนเอาของมาบริจาค เพราะของบางอย่างหากไม่รีบเอาไปให้กับแรงงานก็จะหมดสภาพไป และทางองค์กรก็ไม่มีโกดังหรือพื้นที่เก็บของเหล่านี้
——————–
ที่มา: https://bit.ly/3bUQiI7
หมายเหตุ-บทความนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับ the Department of Southeast Asia Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทย
//////////////////////////////