
สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีรายงานเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ว่า แขวงอัตตะปือ ได้จัดสรรที่ดินบุกเบิกใหม่เนื้อที่ประมาณ 2,140 เฮกตาร์ให้ผู้ประสบภัยเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตก เป็นที่ดินทำกินแก่ 5 หมู่บ้าน 1,270 ครอบครัวที่ยังอาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว โดยคาดว่าชาวบ้านจะสามารถทำนาในฤดูเพาะปลูกของปีนี้
เจ้าหน้าที่เมืองสนามไซย รายหนึ่งกล่าวว่า ทางการได้ปรับที่ดินนั้นและจะมอบให้ผู้ประภัย โดยขนาดของพื้นที่ขึ้นอยู่จำนวนของสมาชิกในครอบครัว เช่น หากมีสมาชิกครอบครัว 2 คนจะได้รับที่ดิน 1 เฮกตาร์ หากสมาชิกครอบครัวมี 3-4 คนขึ้นไปจะได้จำนวน 2 เฮกตาร์และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อยางไรก็ตาม ถ้าหากมีเพียงคนเดียวก็จะไม่ได้ที่ดินแต่จะต้องไปรวมกับครอบครัวอื่น
นอกจากนี้ ทางการแขวงอัตตะปือจะฟื้นฟูที่ดินเดิมที่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อนเพื่อให้ชาวบ้านได้กลับไปทำการเกษตรในพื้นที่หมู่บ้านเก่า
ชาวบ้านผู้ประสบภัยรายหนึ่งกล่าวว่า “ครอบครัวเรามี 3 คน เราจะได้รับที่ดิน 2 เฮกตาร์ บางครอบครัวมี 5 คน ก็จะได้ 3 เฮกตาร์ แต่เราก็ยังไม่ได้รับพันธุ์ข้าวสำหรับการเพาะปลูก มีเพียงบ้านท่าแสงจันเท่านั้นที่ได้รับพันธุ์ข้าว นอกจากพันธุ์ข้าวแล้ว พวกเรายังต้องการเครื่องมือการเกษตรอีกด้วย เนื่องจากในเมืองสะหนามไซยไม่มีร้านขายอุปกรณ์การเกษตรดังกล่าว ต้องเข้าไปซื้อในตัวแขวงอัตตะปือ ต้องเดินทางหลายชั่วโมงและถนนก็ลำบากมาก”
ชาวบ้านมิดสำพัน รายหนึ่งกล่าวว่า หากได้รับที่ดินจากทางการ ก็คงทำการเกษตรเพียงเล็กน้อย เพราะที่ดินที่รัฐจัดสรรให้นั้นเป็นที่ราบต่ำและเคยเกิดน้ำท่วมทุกปี อาจจะทำแค่พอได้กิน เพราะกลัวน้ำท่วม
เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรกรรมและป่าไม้ของอัตตะปือกล่าวว่า “เป็นโครงการนำร่อง กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้จะมอบพันธุ์ข้าวประมาณ 4 ตัน เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย โดยทางการจะบุกเบิกและเตรียมพื้นที่ทั้งหมด และให้ชาวบ้านหว่านข้าวได้ บางพื้นที่ดินดีสมบูรณ์” โดยรัฐบาลวางแผนที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัยให้เป็นปกติและมั่นคงในปี 2566 แผนดังกล่าวรวมถึงการสร้างบ้านถาวร ถนนและสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่ดินและเงินค่าชดเชยที่ยังคงค้างอยู่
ทั้งนี้เหตุการณ์สันเขื่อนดินย่อยของเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตก เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งหมด 19 หมู่บ้าน 3,540 ครอบครัว ประชากรเกือบ 14,440 คน เสียชีวิต 71 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ชาวบ้านจำนวน 4,400 คนยังอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว และนับหมื่นคนที่เริ่มกลับไปอยู่บ้านเดิม