
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 สำนักข่าว vn.expresss.net ในเวียดนามรายงานว่า ถนนทางหลวงสายหลักของชุมชนบินมี่ เมืองโชฟู จังหวัดอันยาง เกิดถล่มลงสู่แม่น้ำหลังจากเกิดรอยร้าวมา 4 วันก่อนหน้านั้น โดยหลังจากเกิดรอยแยกของถนนต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องอพยพประชาชนนับสิบครัวเรือนที่อยู่ใกล้ๆออกไป
นายหวิน เวิน อายุ 70 ปี อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนนที่พังลงมา กล่าวว่า รอยแยกกว้างขึ้นเรื่อยมากถึง 20-30 เซนติเมตร เมื่อช่วงวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมาและเริ่มพังลงในแม่น้ำในที่สุด โดยถนนที่พังลงมีขนาดกว่างกว่า 10 เมตร ถือเป็นหนึ่งในสามของความกว้างของถนนทางหลวงสายหลักเส้นนั้น “ถนนคงพังไปเรื่อยๆ เราได้แต่หวังว่าหน่วยงานท้องถิ่นจะช่วยย้ายเราไปในที่ปลอดภัยสักแห่ง”
ทั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ถนนพังลงสู่แม่น้ำ โดยถนนพังไปแล้วยาว 85 เมตร และต่อมาก็พังเพิ่มอีก 30 เมตร เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา แม้จะมีการพยายามซ่อมแซมด้วยถุงทรายที่ใช้งบประมาณกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐแต่ 90 เปอร์เซ็นต์ของถนนก็พังลงสู่แม่น้ำอีก
จังหวัดอันยาง ได้สร้างถนนรอบเมืองยาว 5 กิโลเมตร เพื่อให้หลีกเลี่ยงการใช้ถนนสายหลักของชุมชนบินมี่ ถนนสายทางหลวงหมายเลข 91 ยาว 142 กิโลเมตรเชื่อมต่อชายแดนกัมพูชาไปยังเมืองเกิ่นเทอ ที่ปากแม่น้ำโขงเป็นแหล่งพื้นที่ทางเกษตรกรรมและสัตว์น้ำ มีถนนรวมกันกว่า 786 กิโลเมตร และถนนเกิดการพังทลายกว่า 562 สายริมน้ำและชายฝั่ง และยังพบการสูญเสียที่ดินประมาณ 500 เฮกตาร์ต่อปี คาดว่าผลกระทบจะต่อประชาชนนับล้านคนในปี 2573 ผู้เชี่ยวชาญต่างชี้สาเหตุการพังทลายของปากแม่น้ำโขงว่า การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนได้ส่งผลกระทบต่อการไหลตามธรรมชาติและยังกักตะกอนและการไหลที่แรงขึ้นของกระแสน้ำ นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้น้ำใต้ดินที่มากเกินไปในปากน้ำและการดูดทรายในลำสาขาของแม่น้ำ
นายเหงียน ซวน ฟุ๊ก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวเมื่อเดือนกันยายนปี2562 ว่า รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า 128.6 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อต่อสู้กับปัญหาการพังทลายในช่วงปี2562-2563 ใน 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ใช้งบประมาณกว่า 694 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อป้องกันการพังทลายของดินในปากแม่น้ำโขง
นาย เหงียน ซวน จุง รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาชนบทและเกษตรกรรมกล่าวในการประชุมกับผู้นำจังหวัดต่างในปากแม่น้ำโขงว่า เมื่อปี 2561-2562 มีการอนุมัติงบประมาณกว่า 174 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อแก้ไขปัญหานี้