
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน น.ส.จารยา บุญมาก ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบรายงานจากรัฐแคลิฟอเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงการชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวว่า เมื่อเวลา 14 .00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่ศาลอลามิด้า รัฐแคลิฟอเนียร์ มีผู้ชุมนุมกว่า 300 คน เดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้ปฏิรูประบบตำรวจ หลังจากชาวอเมริกันแอฟริกันหลายคนถูกกระทำความรุนแรงจากข้อกล่าวหาของตำรวจในคดีต่างๆ รวมทั้งเรียกร้องให้คนอเมริกันออกมาแสดงจุดยืนเพื่อสร้างความเท่าเทียมในอเมริกาให้เกิดขึ้น โดยไม่แบ่งแยกสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา โดยผู้ชุมนุมใช้เวลาเดินขบวนกว่า 4 ชั่วโมงไปตามสวนสาธารณะ ท้องถนน และหยุดแวะทำกิจกรรมไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตจากการกระทำเกินเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในหลายจุดพัก โดยการประท้วงดังกล่าวประกอบด้วยผู้ชุมนุมหลากหลายเชื้อชาติทั้งเอเชีย ตะวันออก คนผิวขาว ชาวผิวสี คนละตินอเมริกา ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเดินประท้วงนั้น มีประชาชนมากมายที่อยู่ในอาคาร บ้านพักออกมาโบกมือทักทาย ส่งเสียงสนับสนุน และบีบแตรส่งเสริมผู้ชุมนุมอย่างคึกคัก
ชายผิวสีรายหนึ่งที่ร่วมชุมนุม เล่าว่า ตนพร้อมภรรยาและลูกวัย 8 เดือน ออกมาเดินขบวนตั้งแต่วันแรก ขณะนี้เป็นเวลา 8 วันแล้วที่ตนยังยืนยันจะประท้วงต่อไป เนื่องจากตนและภรรยาตกงานช่วงการระบาดของโควิด 19 และยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงในการประท้วง แม้ลึกๆจะโกรธรัฐบาลไม่น้อย แต่ก็จะไม่ทำอะไรอย่างวู่วามเด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวถามถึงการทำลายข้าวของตามห้างร้านต่างๆ ของผู้ประท้วง ซึ่งชายผู้นี้กล่าวว่า ถึงอย่างไรธุรกิจก็ยังอยู่รอดและไม่มีวันตายจากเหมือนชีวิตคนผิวสีที่จนตรอกเรื่อยไป

“ธุรกิจที่ถูกทำลายลงส่วนมากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นองค์กรใหญ่ มีประกันความเสียหายที่เบิกเงินจากรัฐบาลได้ เสียหายครั้งใดก็กลับมาฟื้นฟู ทำงานต่อได้ ถ้าคุณดูหนังเรื่อง เดอะ เทอร์ทีน ( the 13th) Netflix จะเห็นว่าธุรกิจการงานของคนผิวสีเป็นยังไง ถูกเล่ายังไงบ้าง ในหลายต่อหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นนี่ไม่ใช่เพื่อจอร์จ ฟลอยด์คนเดียวนะ นี่เพื่อชาวผิวสีทุกคน สำหรับคนที่เข้าใจคนผิวสีผิดก็เข้าใจผิดวันยังค่ำ เพราะพวกเขาไม่มีวันรู้ว่า ชีวิตคนผิวสีวัยหนุ่มสาวป็นยังไงบ้าง ในสหรัฐ ฯ ไม่มีทางที่จะเข้าใจพวกเรา ไม่มีทางที่จะรู้ด้วยซ้ำว่า เมื่อใดบ้างที่ตำรวจจะมาลากเราในบางคืน และคืนนั้นเราอาจจะไม่ได้กลับบ้านเลยอีกตลอดชีวิต” ชายผิวสีผู้นี้กล่าว
ขณะที่สองผู้ชุมนุมชาวเอเชียที่ร่วมขบวน กล่าวว่า แม้พวกเขาไม่ใช่คนผิวดำ แต่จำเป็นต้องออกมาประท้วง เพราะเชื่อว่าความเงียบไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น และคนอเมริกาทุกคน ไม่ว่าจะมาจากไหน ควรคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เมื่อมีสิทธิ์เปล่งเสียงก็ต้องพูดออกมา พูดความจริงให้ชัดว่า คนผิวสีถูกกระทำรุนแรงมากกว่าคนผิวขาวและเชื้อชาติอื่นๆ

“เหตุการณ์เหยียดผิวและเลือกปฏิบัติกับคนผิวสีในอเมริกาเกิดขึ้นนานพอๆ กับการก่อสร้างประเทศเลยก็ว่าได้ เราไม่สามารถพูดได้อีกต่อไปว่า ประเทศเรา (อเมริกา) เท่าเทียม และมันไม่มีความเสมอภาคเลยด้วยซ้ำ ถ้าจะเสมอภาคกันทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดพลาดของตัวเอง ตำรวจต้องรับผิดชอบ นักการเมืองต้องรับผิดชอบ เราเองต้องรับผิดชอบ และคนในครอบครัวของเราต้องรับผิดชอบ”
สาวเชื้อสายเอเชียยังกล่าวด้วยว่า การก่อจลาจลจากกลุ่มผู้ประท้วงทั่วประเทศต่อกรณี “จอร์จ ฟลอยด์” เป็นเรื่องซับซ้อน และปัญหามันซับซ้อนกว่านั้น เพราะปัญหาเกิดจากความไม่เท่าเทียมแล้วสั่งสมมานาน
“ฉันเป็นคนผิวสี ฉันเกิด และโตที่อเมริกา แน่นอนว่าฉันโกรธมาก และเชื่อว่าความไม่เงียบไม่ใช่คำตอบที่ดี ยังไงก็แล้วแต่แม้ว่าช่วงการประท้วงนี้จะมีคนถือโอกาสเอาการประท้วงไปปล้นข้าวของเครื่องใช้ ฉันว่าไม่ยุติธรรมเลยกับผู้ประท้วงจริง แต่ฉันยังเชื่อในหลักการเดียวของการสื่อสาร นั่นคือ ชีวิตคนผิวสีมีค่า อย่างตอนนี้คนผิวสีมากมายต้องออกมาเสี่ยงชีวิตท่ามกลางโรคระบาด เราจะทิ้งพวกเขาได้ยังไง” เธอกล่าว

ทั้งสองสาวกล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมคือ หลังการระบาดของโควิด 19 เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นอเมริกันผิวสีหลายคนถูกปฏิเสธจากการให้ทุนของรัฐบาลที่เรียกว่า PPP loan ขณะที่เจ้าของธุรกิจรายอื่นได้รับการช่วยเหลืออย่างง่ายดาย แต่คนผิวสีไม่มีสิทธิ์เข้าถึงงบประมาณจากรัฐบาลแม้แต่น้อยนิด แม้ว่ามีนักการเมือง และฝ่ายงบประมาณหลายคนที่เป็นคนผิวสีเข้าไปบริหารแล้วก็ยังไม่มึความเท่าเทียม
ทั้งนี้ PPP Loan หรือ Paycheck Protection Program หมายถึง เงินทุนสำรองที่รัฐบาลอเมริกาแจกให้ธุรกิจขนาดเล็ก ระหว่าง เกิดการระบาดของโควิด 19 โดยมีเงื่อนไขว่า ให้เจ้าของธุรกิจต้องจ้างงานพนักงาน จ่ายค่าเช่า และจ่ายค่าบริหารธุรกิจออกไป อย่างเหมาะสม
ส่วนหนังเรื่อง The 13th เป็นสารคดีที่เล่าถึงการใช้นักโทษผิวสีเป็นทาส โดยการยัดเยียดคดีความ ทำให้เกิดนักโทษผิวสีจำนวนมากมายกว่า 25 % ของนักโทษทั้งหมดทั่วโลก สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯ อเมริกา

สำหรับกรณีการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวและเรียกร้องให้ตำรวจรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่ได้เลือกปฏิบัติต่อคนผิวสีนั้น เป็นการประท้วงทั่วประเทศที่ยืดเยื้อมานาน 8 วันแล้ว โดยเขตอลามีดา รัฐแคลิฟอร์เนียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (เคอร์ฟิว) เป็นวันที่ 3 ตั้งแต่เวลา 20.00 น.- 05.00 น
//////////////////////////////////////////////////////////////////