
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เว็บไซด์ All in Laos รายงานว่า ผ่านมาเกือบ 2 ปี การสร้างบ้านเรือนให้ผู้ประสบภัยจากเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตกเมื่อปี 2561 ที่เมืองสะหนามไซย แขวงอัตตะปือ ประเทศลาว คืบหน้าเพียง 30-40% เท่านั้น โดยมีบ้านเรือนที่ต้องก่อสร้างทั้งหมด 802 หลัง ซึ่งจำนวน 102 หลังได้รับความช่วยเหลือจากไทยและองค์กร UN HABITAT และอีกจำนวน 700 หลัง ใช้เงินของบริษัทพัฒนาเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย
นายคำแพง ไซแพง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้ลงไปตรวจสอบความคืบหน้าในพื้นที่ พร้อมทั้งระบุว่า สาเหตุที่งานก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น แบบบ้านเรือน ไม่ตรงตามความต้องการของชาวบ้าน ทำให้มีความยุ่งยากและการก่อสร้างล่าช้าออกไป และสาเหตุอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม นายคำแพง ได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งมือและเอาใจใส่ในการประสานงานและแก้ไขปัญหาที่ยังค้างคาอยู่และเร่งดำเนินการสร้างบ้านเรือนของผู้ประสบภัยให้สำเร็จตามระยะเวลาที่วางไว้
ด้านสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีรายงานว่า บ้านเรือนที่สร้างใหม่ให้ผู้ประสบภัยนี้ชื่อว่า บ้านดงบาก-เหยคำ มูลค่าการก่อสร้างกว่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ บ้านหลังใหม่มีหลายขนาดตั้งแต่ 1-4 ห้องนอน โดยบริษัทเซเปียนเซน้ำน้อยจำกัด ดำเนินการสร้างบ้านจำนวน 700 หลัง และอีก 66 หลังก่อสร้างโดยแหล่งทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น และ 45 หลัง ได้รับการช่วยเหลือจากประเทศไทย
ผู้ประสบภัยรายหนึ่งกล่าวว่า อยากได้บ้านหลังใหม่แล้ว ตอนนี้ครอบครัวของเขาต้องไปอาศัยอยู่กับครอบครัวของพ่อแม่ ส่วนค่าชดเชยได้เพียง 4-5 ล้านกีบ หรือ ประมาณ 17,000 บาทและยังไม่รู้ว่าที่เหลือจะได้หรือไม่และเมื่อไหร่ ซึ่งได้มามันไม่เพียงพอ ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพเดือนละ 868 บาท ($28)ไม่มีการจ่ายมา 3 เดือนแล้ว และคาดว่าจะเริ่มจ่ายในเดือนกรกฎาคมนี้ เจ้าหน้าที่แขวงกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เงินช่วยเหลือค่าดำรงชีพเป็นการช่วยเหลือชั่วคราวและอาจจะไม่มีการจ่ายต่อไป หากว่าชาวบ้านได้รับค่าชดเชยเต็มจำนวน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประสบภัยจากเหตุเขื่อนแตกยังกังวลว่า ยังไม่มีมั่นใจกับสภาพพื้นที่หมู่บ้านแห่งใหม่ เนื่องจากบ้านบางหลังไม่มีการปรับหน้าดินและบางหลังตั้งอยู่ที่ลาดชัน และยังกังวลว่าอาจจะไม่มีน้ำใช้และไฟฟ้าที่เพียงพอ
———-