
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ห้องวิภาวดีบอนรูม โรงแรมเซ็นทารา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวที Grant for Change เปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอสนับสนุนทุน ประจำปี 2563 วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยมีผู้สนใจขอรับทุน คณะกรรมการกองทุนฯ และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานจำนวนมาก นอกจากนี้มีการเปิดเวทีในภูมิภาคต่างๆ พร้อมกันที่ จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น จ.ชลบุรี และ จ.สงขลา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในภูมิภาคต่างๆ ร่วมและเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการยื่นขอรับทุนสนับสนุน
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนฯกล่าวในการเปิดงานว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีมติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 อนุมัติกรอบงบประมาณไม่เกิน 300 ล้านบาท ให้กองทุนฯ เปิดรับข้อเสนอโครงการในการรู้เท่าทันสื่อ การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรใหม่ๆ การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม การสนับสนุนให้ประชาชน องค์กร หน่วยงานรัฐมีการพัฒนาการการสื่อสารอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้ายที่ให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง
ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า สำหรับที่ผ่านมากองทุนฯ มีการจัดสรรทุนในปีแรกคือ ปี 2560 จำนวน 48 โครงการ งบประมาณ 82 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 138 โครงการ งบประมาณ 331 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 144 โครงการ งบประมาณ 397 ล้านบาท โดยในปีนี้คือ ปี 2563 กองทุนสื่อฯ เปิดให้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม – 3 กันยายน 2563 วงเงินงบประมาณไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยมี 3 ประเภท คือ 1.โครงการประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) วงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท 2.โครงการประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) วงเงินไม่เกิน 180 ล้านบาท และ 3.โครงการประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) กรอบงบวงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นประเภทใหม่ที่ทดลองเปิดรับเป็นปีแรก
“แม้จะมีช่วงระยะเวลาเปิดรับข้อเสนอน้อยกว่าปีก่อนๆ คือประมาณ 15 วัน แต่ทางกองทุนฯ ได้แก้ปัญหาโดยการจัดกิจกรรมเปิดตัว ประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล และมีโอกาสขอรับทุนสรับสนุนอย่างทั่วถึง นอกจากการแถลงข่าวในช่วงเช้าแล้ว ช่างบ่ายจะมีการเปิดคลีนิคเขียนโครงการอย่างไรให้ได้รับทุนทั้งในเวทีกรุงเทพฯและเวทีภูมิภาค พร้อมถ่ายทอดสดผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ และเปิดให้ผู้สนใจสามารถสอบถามแลกเปลี่ยนข้อสงสัยได้เต็มที่” ดร.ธนกร กล่าว
ด้านนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การเกิดขึ้นของกองทุนฯ เป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาล โดยมีพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่ิอปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปี 2558 รองรับ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการให้เกิดการแก้ปัญหาด้านสื่อ เนื่องด้วยเป็นผู้มีความเอื้ออาทร มีความต้องการสื่อสารในสิ่งดีๆ โดยได้รับการยกย่องจากสังคมโลกว่า ประเทศไทยมีสิ่งที่ดีงาม มีวัฒนธรรมที่ดีลำดับต้นๆ ของโลก นับเป็นความภาคภูมิจากสิ่งที่บรรพบุรุษมอบให้ไว้ เช่น ความห่วงใย ความเอื้ออาทร ความมีน้ำใจ นอกจากนี้สิ่งที่คนไทยมีอยู่แล้วคือความคิดสร้างสรรค์ ที่ถือเป็นสิ่งดี และคนไทยไม่เป็นเพียงผู้เสพสื่อเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนไทยมีช่องทางการผลิตสื่อที่ดีแก่สังคมใจ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ซึ่งเป็นเจตจำนงสำคัญที่ให้ทุกคนที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์เป็นครอบครัวเดียวกัน
“ให้ทุกคนเข้ามาร่วมสานพลัง สานต่อความเข้มแข็ง ทำอย่างไรให้เกิดสื่อปลอดภัยจริงๆ ทำให้เกิดสื่อที่ดีมากขึ้น และทำให้สื่อที่ไม่ปลอดภัยลดน้อยลง และไม่เกิดขึ้นอีกในสังคม เป็นสิ่งที่ท้าทายทุกคน ที่จะไม่เปิดรับสื่อที่สร้างความแตกแยกในสังคมและเดือดร้อนผู้คน และเราจะป้องกันสิ่งเหล่านี้กันอย่างไร” นายกฤษศญพงษ์ กล่าว