
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่กรมโยธาและผังเมือง กทม. ตัวแทนชาวบ้านจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น นำโดยนายรุ่งเรื่อง ระหมันยะ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านกระบวนการจัดทำเปลี่ยนผังเมืองสีเขียวเป็นสีม่วงเพื่ออุตสาหกรรม โดยมีนายสุเทพ ประเทืองโภคเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ เป็นตัวแทนมารับหนังสือ

ทั้งนี้เนื้อหาในหนังสือที่นายรุ่งเรืองยื่นระบุว่า การที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดสงขลา เร่งดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ 3 ตำบล (ตำบลนาทับ ตำบลสะกอม และตำบลตลิ่งชัน) ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน โดยให้เปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่ดังกล่าวจากสีเขียวเป็นสีม่วงเพื่อให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นบนฐานข้อมูลที่ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. จัดทำขึ้นในฐานผู้ขับเคลื่อนโครงการ โดยอ้างว่าเกิดขึ้นจากความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้ผ่านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว

ในหนังสือระบุว่า จนเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองจังหวัดสงขลาเพื่อนำวาระการเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษนิคมอุตสาหกรรมจะนะบนเนื้อที่ 16,700 ไร่ ที่ครอบคลุมทั้ง 3 ตำบลดังกล่าวให้คณะกรรมการทำการพิจารณา อันเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขผังเมืองตามพระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวแม้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจะอ้างว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลก็ตาม หากแต่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมีความเห็นว่า ตลอดการดำเนินการดังกล่าวมีความผิดปกติและไม่เป็นไปตามระเบียบกฏหมายของ พรบ.ผังเมืองฉบับปัจจุบันและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังนี้
1.ศอ.บต. ในฐานะผู้ขับเคลื่อนโครงการพยายามปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่เห็นต่างทุกระดับของกระบวนการตั้งแต่เวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับชุมชน ระดับอำเภอ ในหลายครั้ง จนมีปรากฏเหตุการณ์ผ่านสื่อสาธารณะและสื่อโซเชี่ยล
2.เวทีรับฟังความคิดเห็นในชุมชนที่อ้างว่าจัดแล้วกว่า 30 เวที และรวมถึงเวทีประชาพิจารณ์ใหญ่ เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2563 เป็นเวทีที่ไม่ได้มาตรฐานตามความหมายของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2548 ที่ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพราะไม่มีการชี้แจงวัตถุประสงค์อย่างตรงไปตรงมาว่าจัดขึ้นเพื่ออะไร อยู่ในขั้นตอนไหนของกระบวนการแก้ไขผังเมือง อีกทั้งในเวทีระดับชุมชนเหล่านั้นไม่มีผู้รู้ด้านโครงการหรือด้านกระบวนการผังเมืองร่วมให้ข้อมูลด้วยในหลายครั้ง
3.การพิจารณาแก้ไขผังเมืองจังหวัดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 มีเจตนาปิดกั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ โดยเฉพาะการตัดสัดส่วนของคณะกรรมการที่เป็นภาคประชาชนในพื้นที่ออก ทั้งที่เคยมีบทบาทสำคัญในการร่วมจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเรื่องนี้เครือข่ายได้มีการทำหนังสือทักท้วงไปที่สำนักงานการโยธาและผังเมืองจังหวัดสงขลาแล้ว แต่มไม่มีการรับฟังแต่อย่างใด
4.กระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมเพื่อโครงการนี้ ไม่ถูกต้องตามระเบียบที่กฎหมายบัญญัติไว้ และมีความพยายามที่จะรวบรัดขั้นตอนสำคัญ โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อเรื่องนี้โดยตรงอย่างรอบด้านและทั่วถึง ด้วยเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต ซึ่งหวังเพียงจะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเอื้อกลุ่มทุนเอกชนเพียง 2 บริษัทอย่างผิดปกติวัสัย
“การนำผลสรุปของกระบวนการที่ไม่ชอบทั้งหมดนี้ ส่งให้ ครม.พิจารณาในการประชุมเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 จึงมีความไม่ชอบธรรมด้วยประการทั้งปวง และเป็นการสร้างข้อมูลและเหตุผลอันเป็นเท็จเพื่อนำประกอบให้รัฐบาลตัดสินใจจนมีมติให้เดินหน้าโครงการท่ามกลางความคลางแคลงสงสัยของประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความผิดพลาดในการดำเนินโนโยบายนี้ในอนาคตได้ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจึงไม่เห็นด้วยกับแนวปฏิบัติดังกล่าวของ ศอ.บต. และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลาทั้งหมด จึงเสนอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทบทวนกระบวนการทั้งหมดที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ และต้องนำความผิดปกติของเรื่องนี้ทั้งหมดรายงานต่อคณะกรรมการผังเมือง และรัฐบาลเพื่อให้มีการทบทวนในระดับนโยบายต่อไปด้วย”ในหนังสือระบุ
—————-