Search

แรงงานพม่าโอดถูกสังคมไทยรังเกียจมองเป็นตัวเชื้อโรค-ไม่ขายของให้-ไม่ให้ขึ้นรถโดยสาร-ไม่ให้เช่าห้องแถมต่อต่างๆนานา นักวิชาการแนะรัฐเปลี่ยนมุมมองชี้เศรษฐกิจไทยใช้แรงงานข้ามชาติสูงถึง 10%ของอัตรากำลังแรงงาน

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2563 ได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “ฟังเสียงเพื่อนบ้านในวันที่โรคมองเราเท่ากัน”ซึ่งถ่ายทอดสดโดยเพจนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส ทั้งนี้นายแจ็ค แรงงานพม่าในจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่าสถานการณ์ที่มหาชัยได้มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาควบคุมดูแล ความกังวลคือโควิดเข้ามาสู่รอบที่สอง ทำให้แรงงานพม่าไม่มีการทำงานแต่ต้องเสียค่าเช่าห้อง อยากให้เจ้าของห้องพักเห็นใจ เรายังเห็นห่วงเรื่องของเด็กๆและคนท้อง เพราะตอนนี้เราไม่ได้ค่าจ้าง และอีกไม่กี่วันสิ้นเดือนก็ต้องจ่ายค่าห้อง หากโควิดยังอยู่ต่อไปอีก 3-4 เดือนเราจะทำอย่างไร ในรอบแรกอาจพอมีเงินเก็บอยู่แต่เศรษฐกิจยังไม่ทันดีขึ้น ก็มาเจอรอบสองอีก 

นาย Min Latt  แรงงานพม่าในย่านตลาด อตก.กล่าวว่าเมื่อวันที่ 21 มีการมาตรวจโควิดเกือบ 100 คน ส่วนรายได้ยังปกติดอยู่ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่อนาคตจะเป็นอย่างไรยังไม่แน่นอน เรารู้สึกกังวลอยู่บ้าง แต่วันนี้ยังได้ค่าแรงปกติอยู่ เรามีระบบการตรวจเช็คกันเอง ใครที่มาจากต่างจังหวัดต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้านก่อน หรือคนที่อยู่ในชุมชนแต่ไปที่อื่นมาเมื่อกลับมาก็ต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้านทราบเช่นกัน

นาย Ye Min แรงงานพม่าจากจังหวัดพังงา กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติย่านนี้เข้ามาทำงานภาคบริการ ภาคเกษตรและประมง โดยภาคบริการตกงานตั้งแต่โควิดรอบแรก บางส่วนต้องออกไปหางานอื่นทำ บางส่วนกลับพม่า บางส่วนก็ยังอยู่ในไทย ขณะนี้มีแรงงานเข้าไปทำงานในภาคเกษตรมากขึ้น เช่น สวนยางและสวนปาร์ม แม้ราคายางและปาร์มไม่ดีแต่แรงงานก็เข้าไปทำเพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ส่วนภาคประมงนั้น ได้รับผลกระทบบางส่วนเช่น เรือจับปูจักจั่น แต่แรงงานประมงอื่นยังออกเรือได้ปกติ ตอนนี้พวกเราประสบปัญหามาก บางคนที่ถูกไล่ออกจากงาน หาบ้านเช่ายากเพราะเจ้าของบ้านไม่อยากให้เช่า สำหรับคนที่ตกงานภาคบริการนั้น ได้เงินจากประกันสังคม 3 เดือน แต่ก็ตกงานเหมือนเดิมก็ต้องมาเช่าห้องรวมกัน บางส่วนไปรับจ้างในภาคเกษตร

“แรงงานภาคบริการลำบากกว่าเพื่อนเพราะตกงานก่อนเพื่อนและไม่ค่อยมีใครมาช่วยเหลือ ถ้านายจ้างใจดีมีชื่อไว้ บางคนถูกคัดชื่อออกภายใน 15 วัน ทำให้ต้องหลุดจากระบบ หยุดจากประกันสังคม กลายเป็นคนเถื่อน ต้องรักษาพยาบาลเอง มีคนหลุดออกไปเยอะมาก พอไปหางานใหม่ ไปได้เจอนายจ้างใหม่ ถ้าเจ้าหน้าที่ไปตรวจพบก็โดนสองเด้ง”นาย Ye Min กล่าว

น.ส. Ma Yar Zuu แรงงานพม่าจากเชียงราย กล่าวว่า ตอนนี้มีปัญหามากเพราะนายจ้างเลิกจ้าง และหางานใหม่ยาก เมื่อนายจ้างสั่งปิดงาน มีปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าห้องและซื้อของกิน บางคนเป็นครอบครัวใหญ่ สามีตกงาน ภรรยาท้องและมีลูก 3-4 คน  ค่าเช่าห้องก็ไม่มีเงินจ่ายค่าห้อง จะย้ายไปที่อื่น เจ้าของห้องใหม่ก็ไม่ยอมรับเพราะกลัวติดเชื้อโควิด นอกจากนี้ยังมีปัญหาค่าแรง เพราะนายจ้างจ่ายไม่ครบโดยอ้างว่าลูกค้าไม่มี และมีปัญหาไม่มีหน่วยงานดูแลเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด และการไปต่อพลาสปอร์ตทำได้ยากมาก 

“พวกเราน้อยใจที่คนไทยมักว่าคนพม่าเป็นคนแพร่เชื้อโควิด ทั้งๆที่โควิดติดกับทุกๆคน ทำให้พวกเรารู้สึกเครียดมาก ไปซื้อของแม่ค้าคนไทยก็ต่อว่าและไม่ยอมขายของให้ เขามองเราเหมือนตัวเชื้อโรค ตอนนี้หลายคนไม่มีงานทำ ไม่มีค่าห้อง ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน พวกเราเองก็กลัวติดโควิด เราต้องการหน้ากากและเจล เพราะที่เชียงรายไม่พอใช้”น.ส. Ma Yar Zuu กล่าว

นาย Ko Thar Aye แรงงานพม่าในจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า โควิดรอบสอง ทำให้มีผลตามมาหลายอย่างทั้งๆที่โรงงานที่ตนทำงานไม่มีคนติดเชื้อ แต่เพราะเป็นอาสาสมัครจึงมีคนแจ้งเข้ามาว่าตกงานและไม่มีงานทำ บางที่นายจ้างให้เลิกทำงาน บางคนไม่มีใบต่ออายุเพื่ออยู่อย่างถูกต้อง บางส่วนพอไปซื้อของก็มีการแบ่งแยกไม่ยอมขายของให้ ทำให้คิดว่าทำอย่างไรดีเพราะได้รับผลกระทบจึงได้จัดตั้งกลุ่มเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้าไม่ใช่คนพม่า เป็นแรงงานชาติอื่นก็ติดเชื้อเช่นกันเพราะเชื้อโรคไม่ได้เลือก เราไม่ได้ถือโทษว่าถูกคนไทยมองไม่ดีเพราะมีคนไทยจำนวนมากช่วยเหลือเราอยู่ 

นายที แรงงานพม่าอีกรายหนึ่งกล่าวว่า แม้แต่รถโดยสารก็ไม่รับยอมให้พวกตนขึ้น ร้านอาหารก็ปฎิเสธขายของให้ เมื่อก่อนแรงงานพม่าและแรงงานไทยอยู่ด้วยกันดี แต่ตอนนี้แรงงานไทยก็ไม่ยอมอยู่ด้วย 

นายสืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า คนไทยที่ข้ามมาจากท่าขี้เหล็กยังข้ามมาเป็นระยะๆในศูนย์กักกันของภาครัฐและพบติดเชื้ออยู่บ้าง ส่วนที่ต่อเนื่องจากสมุทรสาคร ทางจังหวัดเชียงรายก็เร่งตรวจไปแล้วกว่า 1 พันแรงงานข้ามชาติแต่ไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่ความเครียดเกิดจากการถูกกล่าวหามากกว่า ตอนนี้ทั้งเจลและหน้ากากยังมีความจำเป็นที่ต้องส่งให้ชุมชนแรงงานข้ามชาติอยู่อีก รัฐควรเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติและควรเปลี่ยนคำว่าแรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานข้ามชาติ

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าตัวเลขแรงงานข้ามชาติในระบบก่อเนเกิดโควิดมีประมาณ 2.8 ล้านคน และเมื่อเกิดโควิดเหลืออยู่  2.3 ล้านคน หายไปประมาณ 5 แสนคน ส่วนหนึ่งกลับพม่าประมาณ 1 แสนคน อีก 4 แสนคนหายไปไหน เชื่อว่าบางส่วนยังอยู่ในประเทศไทยแต่หลุดจากระบบ หากต้องมองว่าแรงงานข้ามชาติสำคัญแค่ไหน ที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติรวมทั้งในระบบและนอกระบบประมาณ 4 ล้านคนหรือประมาณ 10% ของกำลังแรงงานไทยซึ่งเยอะมาก เทียบเป็นจีดีพีประมาณ 4-6 % หรือ 8 แสนล้านบาทและพวกเขาส่งเงินกลับ 3 แสนล้านบาท พวกเขาช่วยเศรษฐกิจไทยและส่งเงินกลับไปพัฒนาบ้านตัวเอง โดยแรงงานเหล่านี้อยู่ในอาชีพที่คนไทยไม่ทำ เช่น ก่อสร้าง ประมง เกษตร 

“เราเห็นชัดเจนว่าพวกเขาไม่ได้เข้ามาแย่งงานคนไทยทำ โควิดช่วยเปิดแผลให้เราเห็นว่าเขาอยู่กันอย่างแออัด เขาเข้าประกันสังคม 1 ล้านคน แต่กว่าจะพบว่ามีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อโควิดก็เป็นเวลานาน แสดงว่ารัฐเข้าไม่ถึงพวกเขา ในช่วงโควิดมีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด สิ่งที่อยากเสนอคือการสร้างเครือข่ายของแรงงานข้ามชาติ ที่ภาครัฐควรเข้ามาทำงานด้วย เครือข่ายนี้จะช่วยให้เราออกจากวิกฤตได้ ภาครัฐไม่สามารถทำงานจากข้างบนลงมาข้างล่างได้อีกแล้ว ภาครัฐในพื้นที่ยังไม่เข้าใจระบบ ดังนั้นผู้บริหารข้างบนต้องลงมาดูว่าข้างล่างเจอปัญหาอะไรอย่างจริงจัง” รศ.ดร.กิริยา กล่าว

—————–

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →