Search

ความจริงที่บ้านแม่เกิบและผืนป่าอมก๋อย

หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โด่งดังขึ้นมาภายหลังจาก น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ “พิมรี่พาย” ยูทูบเบอร์บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง ที่ทุกคนรู้จักเธอในบทบาทแม่ค้าออนไลน์ ใช้เงินส่วนตัวกว่า 5 แสนบาท ช่วยเหลือเด็กในหมู่บ้าน แต่มุมมองมองและสิ่งที่เธอนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เคลื่อนไหวให้มีการตรวจสอบหมู่บ้านนี้โดยระบุว่าตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย

ชาวบ้านในอำเภออมก๋อยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ม้ง ลาหู่ ที่มากที่สุดคือชาวกะเหรี่ยง โดยตั้งรกรากกันมาช้านานตามที่ราบลุ่มในหุบเขา หรือตามไหล่เขา มีการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมซึ่งวิถีเช่นนี้ทำให้สามารถรักษาผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ไว้ได้และกลายเป็นป่ารอยต่อของ 3 จังหวัดคือเชียงใหม่ ตากและแม่ฮ่องสอน ที่ผืนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ

วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงอมก๋อยเป็นแบบอย่างที่น่าเรียนรู้ ก่อนที่จะมีการวิพากษ์วิจารณใดๆ จึงควรทำความเข้าใจเพื่อที่เราจะได้สวมแว่นถูกอัน

“คนที่นี่มีวิถีชีวิตความจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรดินน้ำป่า เพื่อเลี้ยงปากท้อง เลี้ยงครอบครัว อยากให้สังคมทราบถึงวิถีชีวิตของพวกเราก่อน” นายพิบูลย์ ธุวมณฑล ประธานเครือข่ายชาติพันธุ์ อ.อมก๋อย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่และทำงานในภาคประชาชนมายาวนานให้มุมมอง “ชนเผ่าชาติพันธุ์ที่นี่ล้วนทำกินกับป่า หากดูปริมาณพื้นที่ป่า จะพบว่าในพื้นที่ อ.อมก๋อย มีป่าเหลือเยอะที่สุด เพราะมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ใช้และอนุรักษ์ป่า แต่ทำไมคนดูแลป่าจึงต้องถูกกระทำอยู่ตลอด ทำไมไม่มองว่าชุมชนดูแลป่ามาโดยตลอด”

นายพิบูลย์สะท้อนว่า บางครั้งพวกเราถูกมองว่าชุมชนมีการขยายตัว รุกป่า แต่สาเหตุอาจเป็นเพราะพื้นที่ทำกินจำกัด หรือประสบภัยธรรมชาติ เช่น ฝนตกหนักทำ ให้เกิดดินสไลด์ เช่น ในปี 2547 เกิดเหตุกาณ์นี้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ ต.ยางเปียง ต.นาเกียน ต.แม่ตื่น ที่บ้านสบโขง มีผู้เสียชีวิต ทำให้ชุมชนจำเป็นต้องย้ายพื้นที่เพื่อความปลอดภัย ชาวบ้านจำเป็นต้องย้าย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของวิถีชีวิต หรือความเชื่อ ไม่ใช่ว่าชาวบ้านพากันย้ายกันตามใจชอบ

“วิถีชีวิตของชนเผ่าแทบไม่สร้างภาระให้กับใคร ช่วงที่โควิด-19 ระบาด รัฐบาลแทบไม่ต้องมาดูแลชาวอมก๋อย ถึงแม้จะมีการประกาศมาตรการ lock down ไม่มีของซื้อขายก็ปลูกกินเองเอง เลี้ยงตนเองได้ ช่วงเดือนเมษายน 2563 ชาวอมก๋อยยังได้ส่งผลผลิต เช่น มะเขือเทศ ที่ปลูกในพื้นที่ ขนลงไปแบ่งปันให้คนในเมือง แต่เวลานี้ชาวอมก๋อยกลับถูกแทรกแซงด้วยหลายเรื่อง และถูกทำให้เหมือนเป็นภาระของสังคม” หนุ่มอมก๋อยบอกความในใจแทนพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักถูกเข้าใจผิดเสมอ  

“ชีวิตของชนเผ่าในพื้นที่ห่างไกล ไม่อยากรบกวนใคร แม้แต่รัฐบาล ถนนไม่ดีก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร การประสานงาน ส่งเอกสารขอความช่วยเหลือยากลำบาก แต่เวลานี้ อ.อมก๋อย กำลังเผชิญปัญหา ทั้งโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 230-500 กิโลโวลต์ ต้องตัดป่า ตัดต้นไม้สองข้างทางเพื่อสร้างเสาไฟ กินพื้นที่หน้ากว้าง 40-60 เมตร จะกระทบไร่หมุนเวียนและการทำมาหากินของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ไร่หมุนเวียนเป็นเกษตรที่รักษาป่า ทำกันมานานแต่ป่าก็ยังเขียวชอุ่ม นอกจากนี้ยังมีโครงการอุโมงค์ส่งน้ำ จะผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินมาเติมให้เขื่อนภูมิพล ที่จะทำลายป่าอีกมหาศาล เพราะต้องเจาะอุโมงค์ผ่านพื้นที่ป่าถือว่าอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง โครงการแบบนี้ยิ่งทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ป่า  พวกเราไม่ปฏิเสธการพัฒนา แต่ไม่ควรสร้างผลกระทบต่อการทำมาหากินของชุมชน” จิตอาสาประจำอำเภออมก๋อย พูดถึงสิ่งที่ชาวบ้านกำลังเผชิญและกลายเป็นปัญหากลัดหนองของชุมชน นอกจากนี้ยังมีการเผชิญหน้าเรื่องการสัมปทานเหมืองแร่

ปัจจุบันพื้นที่ในอำเภออมก๋อย ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตป่าสงวน แทบจะไม่มีโฉนด แต่ชุมชนก็อาศัยอยู่และอนุรักษ์มาโดยตลอด 

สำหรับประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านแม่เกิบนั้น “แม่เกิบ” เป็นชื่อเรียกชื่อตามลำห้วยที่ไหลผ่านทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ชื่อว่าห้วยแม่เกิบ ที่ตั้งของหมู่บ้านตั้งอยู่ หมู่ที่ 15 ตำบลนาเกียน  อำเภออมก๋อย  จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านของชนชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงโปว์ หมู่บ้านแม่เกิบตั้งรกรากในพื้นที่แห่งนี้มากว่า 100 ปีแล้ว ส่วนใหญ่จะนับถือความเชื่อดั้งเดิม ประกอบอาชีพปลูกข้าวไร่หมุนเวียน และเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู และไก่เป็นต้น มีประปาภูเขามีน้ำใช้ตลอดทั้งปี สภาพการเดินทาง มี 2 ทาง คือทางจากบ้านศาลาเท ประมาณ 6 กม. และเดินทางจากแม่ฮองกลางประมาณ 1.5 กม. 

ชาวบ้านแม่เกิบมีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกัน  โดยแวดล้อมด้วยภูเขาสูงเหลื่อมสลับกัน ไม่มีพื้นที่ราบ การสร้างบ้านเรือนจึงตั้งตามไหล่เขา พิกัด สูง 740 เมตรจากระดับน้ำทะเล 

หมู่บ้านแม่เกิบตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภออมก๋อยเป็นระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร การเดินทางเข้าออกสะดวกในช่วงฤดูหนาว และฤดูแล้ง ส่วนในฤดูฝนการเดินทางเข้าออกลำบากมาก ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ประมาณ 5 ชั่วโมง ในฤดูฝนโดยต้องใส่โซ่พันล้อรถด้วย ในฤดูแล้งและฤดูหนาว รถยนต์สามารถเดินทางเข้าออกได้ แต่ต้องเป็นรถแบบขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น

แม้อยู่ห่างไกลและในดงลึก แต่หมู่บ้านแม่เกิบก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากอภิมหาโปรเจค ทั้งโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำและโครงการสร้างสายส่งไฟฟ้าที่ทำลายผืนป่าใหญ่ ได้พาดผ่านหมู่บ้านแห่งนี้ แต่ชาวบ้านยังรับรู้ข้อมูลน้อยมาก

หมู่บ้านแม่เกิบมีประชากร  45 ครอบครัว หรือ 180 คน สถานที่สำคัญของหมู่บ้านคือศูนย์การศึกษาชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ส่วนระบบสาธารณูปโภคนั้นยังต้องใช้ระบบไฟฟ้าโซล่าเซลล์ที่มีแค่บางหลังคาเรือนและใช้ประปาภูเขา

ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นนี้น่าจะเป็นประโยชน์ให้สังคมได้ใช้ในการวิเคราะห์ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อทางหนึ่งทางใด

——————–

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →