
จากนครโฮจิมนห์ รถบัสคันเล็กพาเราสู่ทิศตะวันตก ถนนท้องถิ่นสองเลนพาเราข้ามสะพานน้อยใหญ่หลายสิบแห่ง ผ่านพื้นที่เกษตร แปลงผัก สวนผลไม้ ทุ่งนาเขียวขจี วิ่งคู่ขนานไปกับคลองที่มีเรือสัญจรขนส่งผลผลิตทางการเกษตร จนมาหยุดที่ริมฝั่งน้ำเพื่อรอขึ้นแพขนานยนต์ ข้ามแขนงของแม่น้ำโขงสู่เมืองลองเซิน จังหวัดอันยาง
ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ สายน้ำโขงแตกเป็น 9 สาขา แผ่กว้างครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดของเวียดนามใต้ ดังที่ชาวเวียดเรียกกันว่า “กิ๋วล่อง” หรือมังกรเก้าหาง Mekong Delta เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของทั้งประเทศเวียดนาม ดินแถบนี้สมบูรณ์ด้วยตะกอนแร่ธาตุที่พัดพามากับแม่น้ำโขง รวมทั้งน้ำจืดที่แม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรม

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม เครือข่ายแม่น้ำเวียดนาม สถาบันนิเวศวิทยาภาคใต้ (นครโฮจิมินฮ์) มหาวิทยาลัยอันยาง และเครือข่ายนักอนุรักษ์ Save the Mekong จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “อนาคตแม่น้ำโขง ความกังวลของภาคประชาชนต่อโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ” ณ มหาวิทยาลัยอันยาง มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ หลายฝ่ายอย่างน่าสนใจ ทั้งชาวบ้านจากปากน้ำโขง หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ เอ็นจีโอ และสื่อมวลชน
ดร.วู งก ลอง ผู้อำนวยการสถาบันนิเวศวิทยาภาคใต้ นำเสนอว่าแม่น้ำโขงให้ผลผลิตมากมายหล่อเลี้ยงประชาชนเวียดนามทั้งประเทศ ปากน้ำโขงผลิตข้าวปีละ 4 ล้านตัน สร้างงาน สร้างแหล่งหากิน แต่เขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างมากมายในจีน สร้างผลกระทบมหาศาลต่อลุ่มน้ำทางตอนล่าง “เราต้องหาทางสร้างสมดุลย์ วันนี้เราจึงจัดเวทีนี้ด้วยความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ทั้งในเวียดนาม ไทย และกัมพูชา เพื่อสะท้อนเสียงความเป็นห่วงจากประชาชนต่อกรณีผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขง เพื่อให้ชาวเวียดนามได้รู้ข้อมูล ได้เข้าใจ และสร้างความรับผิดชอบแก่หน่วยงานภาครัฐ” ดร.ลอง กล่าว

ดร. ดอง วัน นิ มหาวิทยาลัยเกิ่นเธอ (Cantho University) นำเสนอข้อมูลเรื่องปลา ข้าว และวิถีชีวิตของประชาชนบนสามเหลี่ยมปากน้ำโขง เขากล่าวว่าในปี 1988 หลังสงคราม เวียดนามเป็นประเทศหิวโหย แต่ก้ได้พัฒนาตนเองจนเมื่อปี 2012 คือปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกข้าวถึง 7.7 ล้านตัน ส่วนใหญ่มาจากการผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมปากน้ำโขง
“การทำนา การผลิตข้าวต้องใช้น้ำปริมาณมาก แต่หลายปีที่ผ่านมาข้อมูลสถิติของเราแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มปริมาณน้ำและตะกอนในพื้นที่ปากน้ำโขงลดลงทุกปี เราเห็นแล้วว่าทรัพยากรน้ำโขงกำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งในทางปริมาณ คุณภาพ เวลา และเส้นทาง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่ปากน้ำ”
นักวิชาการท่านนี้เปรียบเทียบแม่น้ำโขงเป็นดังต้นไม้กลับหัว เริ่มจากทางตอนบนในจีน แม่น้ำโขงไหลมาจากราก หล่อเลี้ยงจนเป็นต้นใหญ่ มีใบ พุ่มไม้ ซึ่งก็คือนาข้าวและพื้นที่เกษตร เขากล่าวว่า “นี่คือความอัศจรรย์ของลุ่มน้ำ กัมพูชาและเวียดนาม พึ่งพาแม่น้ำโขงในการผลิตข้าว แต่หากถูกกั้นด้วยเขื่อนมากมายตลอดลำน้ำ ต้นไม้ที่เลี้ยงเราทั้งภูมิภาคต้นนี้คงต้องตาย”
แม่น้ำโขงที่ไหลจากการละลายของหิมะเชิงเขาหิมาลัย ผ่านจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมความยาว 4,909 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในภูมิภาค ความหลากลายทางชีวภาพอันดับ 2 ของโลก รองเพียงแม่น้ำอเมซอน แต่มีการสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงทางตอนบนในมณฑลยูนนานของจีน “เขื่อนม่านวาน” เมื่อสิบกว่าปีก่อน จากนั้นนักสร้างเขื่อนจีนก็เดินหน้าเรื่อยๆ จนปัจจุบันเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนสร้างเสร็จแล้วถึง 5 แห่ง

ส่วนทางตอนล่างของแม่น้ำโขง โครงการเขื่อนไซยะบุรี ก่อสร้างอย่างรวดเร็วในประเทศลาว ห่างจากชายแดนไทยที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงประมาณ 200 กิโลเมตร เขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างโดยบริษัท ช.การช่าง มูลค่าก่อสร้างเขื่อนราว 1.2 แสนล้านบาท มีการสนับสนุนทางการเงินจาก 6 ธนาคารสัญชาติไทย อาทิ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงเทพ กรุงไทย และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่โครงการนี้มีการคัดค้านมากมายจากนักอนุรักษ์ ชาวบ้าน ไปจนถึงกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากก่อสร้างโดยไม่ได้รับฉันทามติจาก 4 ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) และยังไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน
นายฮวงคิม ชาวเวียดนามจากจังหวัดดุงตาบ เวียดนามใต้ กล่าวในเวทีว่าเมื่อได้ยินคนบอกว่าสร้างเขื่อนทางตอนบน เขาก็เชื่อแน่นอนว่าทรัพยากรและน้ำในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมจะเปลี่ยนไป “การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงจะสร้างปัญหาในทุกประเทศ ยากที่จะหยุดเขื่อนให้ได้ แต่เราอยู่ท้ายน้ำ อยู่ทางเวียดนาม เราไม่รู้จะทำอย่างไร อยู่ท้ายน้ำเราได้แต่รับปัญหา รับผลกระทบเต็มๆ
“สามเหลี่ยมปากน้ำต้องใช้น้ำทำนา ถ้าเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องหาทางปรับตัว เขื่อนทางตอนบนกักเก็บน้ำ ปล่อยน้ำเวลาผลิตไฟฟ้า ไม่ได้สนใจท้ายน้ำว่าจะกระทบอย่างไร”
ขณะที่นางดูเยิน ผู้แทนสหพันธ์สตรีจากจังหวัดกาเมา กล่าวว่าจังหวัดกาเมาเป็นแผ่นดินที่เกิดได้จากตะกอนแม่น้ำโขงที่ค่อยๆ ทับถม “แต่ตอนนี้ตอนนี้ถูกน้ำทะเลรุก ฉันเกิดมากับทรัพยากรของบ้านเรา แต่น้ำโขงที่ไหลเปลี่ยนแปลงไปทำให้แผ่นดินและชายฝั่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะมาก ในช่วงหลังๆ เห็นได้ชัดเจน
“ห้าหกปีที่ผ่านมาหลายพื้นที่หายไปเลย หากประเทศตอนบนสร้างเขื่อนมากๆ เราก็จะเสียตะกอนดิน ส่งผลให้จะสูญเสียที่ดินไปมากมาย
“พี่น้องฉันเติบโตมาได้ก็เพราะทรัพยากรแม่น้ำ มีดินดี มีที่เพาะปลูก มีน้ำมีท่า ที่ผ่านมาชาวบ้านเราก็ด้ก็พยายามป้องกันตลิ่งพัง แต่ในแม่น้ำเมื่อตะกอนหายไป ปลาก็ค่อยๆ หายไป นั่งจิบกาแฟริมน้ำเมื่อก่อนเห็นปลาว่ายมากมาย ตอนนี้ไม่มีแล้ว นอกจากนี้น้ำทะเลรุก ปกติน้ำทะเลเข้ามาช่วงเดือนตุลาคม แค่สองเดือน แต่ตอนนี้น้ำเค็มรุกมากขึ้น นานขึ้น ปลูกผักก็ต้องรดน้ำ ปลูกผักถ้าสูบน้ำจืดจากบ่อมารดน้ำ จะแพงกว่าราคาผักเสียอีก ต้นทุนของชาวบ้านตอนนี้แพงขึ้นเรื่อยๆ
“อยากเห็นรัฐบาลและท้องถิ่น หารือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ ถ้าประชาชนแย่งทรัพยากรกันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ผู้ชายเดินทางไปไหนก็ได้ แต่ผู้หญิงเราอยู่บ้านดูแลลูก มีหน้าที่ดูแลอนาคตของลูกหลาน ปัญหารุมเร้า ประชาชนบางคนก็ต้องออกไปหางานในเมือง อยากให้หน่วยงานรับผิดชอบมาดูแล
ถ้าสร้างเขื่อนทางตอนบนช่วยคิดถึงคนท้ายน้ำด้วย”
นอกจากความกังวลของชาวปากน้ำแล้ว ลูกน้ำโขงที่กัมพูชาก็ได้มานำเสนอข้อมูลในเวที นายเทก วานารา รองผู้อำนวยการ NGO Forum in Cambodia กล่าวถึงกรณีเขื่อนไซยะบุรี ว่าที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยข้อมูลชัดเจนและไม่มีคำตอบเรื่องผลกระทบ ชาวกัมพูชาเองก็กังวลมากเรื่องเขื่อนไซยะบุรี สิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องชะลอโครงการเพื่อให้เกิดการศึกษา มีส่วนร่วมจากผู้ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นแม่น้ำนาชาติ
ส่วนของประเทศไทย สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา (กลุ่มรักษ์เชียงของ) ในฐานะนักอนุรักษ์ที่ทำงานปกป้องแม่น้ำโขงมากว่า 1 ทศวรรษ มองว่าการประชุมครั้งนี้เป็นมิติใหม่ของภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง
“เวทีนี้ที่เวียดนาม เห็นชัดเจนว่าว่าประชาชนสามารถแสดงออกได้เต็มที่ นำเสนอเรื่องเขื่อนและปัญหาแม่น้ำโขงอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะภาควิชาการและชาวบ้านเวียดนาม นำเสนอได้ชัดเจนเรื่องผลกระทบต่อพื้นที่ปากน้ำ ทั้งเรื่องชายฝั่งถูกกัดเซาะ ผลกระทบต่อการเกษตร น้ำจืดที่ขาดแคลนซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อน” สมเกียรติกล่าว
“เห็นได้ว่ารัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหานี้มาก งานนี้ไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอ มีสื่อเวียดนามทั้งของรัฐและสำนักข่าวต่างๆ มานำเสนอประเด็นอย่างกว้างขวาง วันนี้ในเวียดนามปัญหาแม่น้ำโขงสามารถแสดงออกได้มากขึ้น”
วันนี้ระบบนิเวศของดินแดนปากแม่น้ำโขงกำลังเปลี่ยนไป ชาวนา ชาวไร่ ชาวประมงและคนเล็กคนน้อยในเวียดนามจำนวนมากกำลังเผชิญกับผลกระทบใหญ่หลวงจากการสร้างเขื่อนกั้นสายน้ำแห่งนี้ ขณะที่รัฐบาลเวียดนามเองก็ดูกังวลในไม่น้อยถึงขนาดว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้
เมื่อรากแก้วรากแขนงของ “ต้นน้ำโขง” ถูกกางกั้นตัดตอนด้วยสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่า “เขื่อน” จึงเป็นธรรมดาที่ กิ่งและใบ ย่อมเหี่ยวเฉา
สุดท้ายต้นไม้ต้นนี้มีแต่รอวังร่วงโรย ยิ่งหากชุมชนและรัฐบาลแม่น้ำโขงยังไม่สำนึกและไม่คิดที่จะรีบแก้ไข ทุกอย่างอาจจะสายเกินไป
——————
โดย โลมาอิระวดี