สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ชาวบ้านลาวนับร้อยครัวถูกบังคับย้ายจากพื้นที่ส่วนขยายของโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา

สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี รายงานว่า ชาวบ้าน 100 กว่าครอบครัวถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่อยู่เดิมเพื่อเปิดทางให้กับการขยายพื้นที่ของโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ขนาด 1,878 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกในสปป.ลาว เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าในระยะที่ 1 เมื่อปี 2015 ระยะที่ 2 ในปีที่โครงการก่อสร้างเสร็จ และระยะที่ 3 คือส่วนขยาย โรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ที่แขวงไซยะบุรี ภาคเหนือของลาว ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียที่ดินและได้รับค่าชดเชยเพียงเล็กน้อย โดยโครงการส่วนขยายนี้จะต้องย้ายประชาชนออกจากพื้นที่นับ 100 กว่าครอบครัว

“ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าได้มีการทำสัญญาสัมปทานใหม่เพิ่มพื้นที่ระยะที่ 3 จำนวน 2,700 เฮกตาร์ หรือ 16,470 ไร่  ซึ่งเป็นที่ตั้งของชาวบ้านบ้านกิ่วงิ้ว และบางส่วนของบ้านปางบง เมืองเงิน แขวงไซยะบุรี” ตัวแทนของฝ่ายจัดการของโรงไฟฟ้าหงสา กล่าว

ทั้งนี้บ้านกิ่วงิ้ว มีประชากรจำนวน 115 ครัวเรือน ส่วนบ้านปางบง มี 18 ครัวเรือน ซึ่งเป็นจำนวนที่ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่แขวงไซยะบุรีแล้ว และทางจังหวัดได้เริ่มดำเนินการประเมินความเสียหายของแต่ละครอบครัว 

“ทางโรงไฟฟ้าและรัฐได้ตกลงที่จะจ่ายค่าที่ดิน 1,200 กีบ หรือประมาณ 4 บาท/ตร.ม ส่วนที่อยู่อาศัยจะจ่ายประมาณ  2,000 กีบ หรือ 6 บาทต่อตารางเมตร” เจ้าหน้าที่กล่าว  โดยเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินราคาที่ดินบ้านและที่อยู่อาศัยของพวกเขา

“มันแค่ 50% มูลค่าทรัพย์สินของเรา เราต้องได้ค่าชดเชยที่สูงกว่านี้ เพราะว่าพวกเราต้องย้ายหมู่บ้าน เราไม่ได้อยากจน เราอยากมีชีวิตดังเดิมที่เคยเป็นตอนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องย้ายออกไป พวกเราอยากอยู่ที่เดิม เพราะค่าชดเชยน้อยมากและแปลงอพยพใหม่สภาพไม่ดีกับหมู่บ้านเดิมของเรา” ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าว

“ขณะนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังทำกินและทำการเกษตรในพื้นที่เดิม ยังไม่มีการอพยพออกไปแต่ถ้าย้ายออกไปแปลงอพยพแล้ว พวกเราจะไปทำเกษตรได้ที่ไหน ที่ดินที่เราจะได้รับจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ แค่ได้ยินว่า ที่ดินจะอยู่บนยอดภูเขา ไม่มีแหล่งน้ำเลย” ชาวบ้านรายหนึ่งเสริมอย่างเป็นกังวล

“เมื่อมีโรงไฟฟ้าขยายพื้นที่ พวกเราสองหมู่บ้านต้องย้ายออกไป เราต้องเสียพื้นที่เกษตร วัวควาย ป่าไม้และแหล่งน้ำของพวกเราไปให้กับบริษัท” ชาวบ้านปางบงรายหนึ่งกล่าว และที่สำคัญพวกเขาต้องสูญเสียวิถีชีวิตที่พึ่งพาแม่น้ำไปตลอด

ขณะที่สำนักข่าวเวียงจันทน์ไทม์ รายงานเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2021 ว่า แปลงอพยพของโครงการโรงไฟฟ้าหงสาส่วนขยายเริ่มต้นเมื่อวันที่  1 มีนาคม และคาดว่าจะเสร็จเดือนพฤศจิกายน  ด้านเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมรายหนึ่งกล่าวว่า พื้นที่ส่วนขยายของโรงไฟฟ้าหงสาจะกระทบต่อพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย เพราะต้องมีการตัดป่าและทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคน ชี้ว่า โรงไฟฟ้าหงสา อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อชาวบ้านที่อยู่อาศัยรอบๆ โรงงาน ทั้งการเพิ่มขึ้นของโรคมะเร็ง ปัญหาระบบหายใจ และภาวะแท้งบุตรเนื่องจากมลพิษ

แม้ว่า รัฐบาลลาวจะพยายามส่งเสริมการผลิตพลังงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่โครงการหลายแห่งกลับเป็นปัญหาเนื่องจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อการประมง เกษตรกรรมและการอพยพโยกย้ายชาวบ้าน

อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหงสา เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด(BPP) 40% บริษัท ราช กรุ๊ป(มหาชน) 40 % และรัฐวิสาหกิจลาวโฮลดิ้ง(LHSE) 20 %  ภายใต้ชื่อ โรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ กำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 25 ปี และขายไฟฟ้าให้ลาว 100 เมกะวัตต์ เริ่มส่งไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2015

On Key

Related Posts

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →

KNU ประกาศกอบกู้มหารัฐกลอทูเลภายใต้ปฏิบัติการ Taw Mae Pha Operation ยื่นคำขาดทหารทัพแตกมอบตัวภายใน 2-3 วัน เผยเตรียมหารือกองกำลังฝ่ายต่อต้านบริหารเมืองเมียวดี ระบุสกัดกั้นทัพเสริม SACจนถอยร่น

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 ภายหลังกองปลดปล่อยแห่งชRead More →

ชักธงกะเหรี่ยงขึ้นสู่ยอดเสาเหนือเมืองเมียวดี-เผาธงชาติพม่าทิ้ง KNU ประกาศทางสัญลักษณ์ยึดพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ รศ.ดุลยภาคชี้จีนเป็นตัวแปรสำคัญ

วันที่ 15 เมษายน 2567 ที่กองบัญชาการควบคุมที่ 12 หRead More →

รัฐคะเรนนียังรบกันเดือด โฆษก IEC เผยฝ่ายต่อต้านยึดพื้นทางทหาร SACได้เกือบหมด-ปิดล้อมบอลาเค-ผาซอง ส่วนสู้รบในเมืองเมียวดีกองกำลังชาติพันธุ์รุมสกัดขบวนทหารพม่าเสริมทัพ

v เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 นายบันยา (Banya) โฆษกRead More →