เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 เพจ Cross Cultural Foundation (CrCF) ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เผยแพร่รายงานข่าวโดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ whc.unesco.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของคณะกรรมการมรดกโลก ของ UNESCO ระบุถึงเอกสารร่างมติคณะกรรมการมรดกโลกฉบับแก้ไข ฉบับที่ 44 COM 8B.7 เกี่ยวกับผืนป่าแก่งกระจาน อันเป็นร่างที่ถูกเตรียมจะเสนอโดย 9 ประเทศ ได้แก่ ประเทศรัสเซีย จีน โอมาน ซาอุดิอาระเบีย เอธิโอเปีย เซนต์คิตส์แอนด์เนวิส มาลี สเปน และไทย โดยรัฐภาคีในคณะกรรมการมรดกโลกซึ่งประกอบด้วยประเทศทั้งหมด 21 ประเทศ
โดยมติรับรอง (adopted) หรือขอให้แก้ไขบางส่วน (referral) หรือขอให้แก้ไขก่อนนํามาเสนอใหม่ (deferral) จะต้องมีมติเสียงข้างมากจากประเทศที่เป็นตัวแทนในคณะกรรมการมรดกโลกที่เข้าร่วมประชุม ก่อนที่จะขึ้นทะเบียน (inscribed) ในบัญชีรายชื่อมรดกโลกทางธรรมชาติอย่างเป็นทางการ สาระสำคัญของร่างฉบับนี้ คือ การมีมติขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานของประเทศไทยในบัญชีมรดกโลก ตามหลักเกณฑ์ที่ 10 โดยระบุว่า ผืนป่าแก่งกระจานเป็นศูนย์รวมของอาณาจักรสัตว์และพืชที่โดดเด่น พบสัตว์ป่าอย่างน้อย 720 สายพันธุ์ รวมถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และพันธุ์พืชหายากหลายชนิด อีกทั้งยังเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญหลายสาย เป็นแหล่งอาศัยสำคัญของนกน้ำ ความสมบูรณ์นี้ได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่ด้วยแผนการจัดการที่ดี รวมถึงกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเอกสารร่างนี้ยังมีเนื้อหาส่วนหนึ่งแสดงความชื่นชมรัฐบาลไทย
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม คณะผู้เชี่ยวชาญของ UN ได้ส่งคำเตือนที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถึงคณะกรรมการมรดกโลก ให้มีมติยกเลิกการขอขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เหตุมีชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิในเขตอุทยานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบังคับอพยพ การเผาบ้าน รวมถึงแกนนำชาวบ้านถูกฆาตรกรรมหลังการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยาน รวมทั้งกรณีการจับกุมชาวบ้าน 28 รายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในข้อหาบุกรุกแผ้วถางที่ดินดั้งเดิม
“เรากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก้ได้รับรองพันธสัญญาต่อชนเผ่าพื้นเมืองไว้บนกระดาษ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีวิธีการทำงานที่เปิดพื้นที่ให้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ และได้มีสิทธิ์มีเสียงในกระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก” คณะผู้เชี่ยวชาญของ UN
วันเดียวกันชุมชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน 10 ชุมชน ได้จัดทำข้อเสนอถึงคณะกรรมการมรดกโลกต่อกรณีการเสนอชื่อกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของรัฐบาลไทยโดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า พวกเราเห็นว่า หากรัฐบาลไทยยังมิได้มีการทบทวนปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปโดยถูกต้องเหมาะสม การดำเนินการตามแนวทางที่ผ่านมาของรัฐบาลไทยจะยิ่งทำให้การจัดการผืนป่าแก่งกระจานของรัฐส่งผลให้การดำรงอยู่ของวิถีชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานต้องสูญสลายไปอย่างไม่อาจแก้ไขได้ และจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้สามารถดำรงอยู่และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เหมาะสมแก่การได้รับการยอมรับเป็นมรดกโลกต้องกระทบกระเทือนไปในที่สุดด้วย จึงมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้โปรดพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
- ขอให้เลื่อนการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกของรัฐบาลไทย ออกไปจนกว่าจะได้มีมาตรการที่แน่นอนชัดเจนถึงการยอมรับในสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงในการดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีการทำเกษตรกรรมในผืนป่าอย่างยั่งยืนหรือวิถีไร่หมุนเวียน อันเป็นรากฐานของวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด รวมตลอดทั้งสร้างกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผืนป่าที่เสนอเป็นมรดกโลกด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการอย่างเป็นภาคีที่เท่าเทียม
2. ขอให้คณะกรรมการมรดกโลกเพิ่มเติมปรับปรุงข้อกำหนดและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่นพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง โดยอาศัยแนวทางของการรับรองคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการคุกคามการดำรงอยู่ของชุมชนพื้นเมืองและปัญหาการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ที่สมาชิกของชุมชนพื้นเมืองถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม