Search

ความหวังกลางป่าของแรงงานกัมพูชา 14 ชีวิต

ภาพ/เรื่องโดย Thiti Pleetong

ลึกเข้าไปกลางป่าชุมชน  ในตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว  เพิงพัก 4 หลังขนาด 1x 1 เมตร ถูกสร้างไว้พอหลบแดดฝน ด้วยเศษผ้า  เศษไม้ และถุงกระสอบ  เป็นที่หลับนอนชั่วคราวของแรงงานกัมพูชาจำนวน 14 ชีวิตจากหมู่บ้านปริกุ๊บ ตำบลปอยเปต จังหวัดบันเตียเมนเจย ที่ข้ามมาขายแรงกายตามฤดูกาล

ท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมไทยและกัมพูชา กำลังเผชิญหน้าการระบาดของโควิด 19 จนต้องประกาศปิดด่านชายแดนของ 2 ประเทศชั่วคราวนั้น  ส่งผลต่อเพิงพักกลางป่า ที่แทบไม่น่าเชื่อว่า  คน 3-4 ชีวิตจะเบียดอัดเข้าไปได้จนแทบกลายเป็นบ้านถาวร และอาจเป็นพื้นที่หลับนอนไปอีกนานของชาวกัมพูชาทั้ง 14 ชีวิต

“ตอนอยู่บ้านเกิดพวกเขาเป็นชาวนา และรับจ้างทั่วไปด้วย รับจ้างทำทุกอย่างที่ทำได้ เพราะความจนบังคับ  พองานเริ่มมีน้อย คนพวกนี้เลยเดินทางมาที่จังหวัดสระแก้วเพราะชายแดนติดกัน  ข้ามมาโดยผ่านด่านผ่อนปรนในอรัญประเทศ แต่มาแบบแรงงานตามฤดูกาล จังหวัดชายแดนอย่างสระแก้วอนุโลมให้  เขาก็เลยมารับจ้าง มาครั้งหนึ่ง 3 วันบ้าง 7 วันบ้าง แต่พอถึงช่วงที่มีโควิดระบาดรอบ 2 นั่นแหละ เลยกลับไม่ได้ ต้องติดอยู่ที่นี่ และติดกันมาจนถึงวันนี้ ”  เกรียงศักดิ์  บุญแย้ม ผู้ประสานงานเครือข่ายช่วยเหลือแรงงาน ที่ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแรงงานตกค้างในสถานการณ์โควิด19 ของจังหวัดสระแก้ว เล่าที่มาที่ไปของแรงงานกัมพูชาที่ยังติดในป่าแห่งนี้

“พวกเขาติดอยู่ที่นี่กันมาเกิน 1ปีแล้ว เป็นเด็ก 4 คน ผู้ใหญ่ 10 คน ปัญหาของพวกเขาคือ พูดไทยแทบไม่ได้เลย มีหัวหน้าครอบครัว ชื่อ จันเตย วัย 46 ปีเท่านั้น ที่พอพูดได้บ้าง”

เกรียงศักดิ์เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาแรงงานกัมพูชากลุ่มนี้  แทบไม่ได้รับของบริจาคเลย เพราะเขาอยู่ในป่าซึ่งหน่วยงานรัฐ ก็เข้ามาไม่ถึง บวกกับตัวแรงงานเองก็ออกไปไม่ถึงรัฐด้วย   คนเหล่านี้จึงลำบากเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง เวลาได้ข้าวของบริจาคมา เช่นข้าวสาร จึงพยายามเอามาให้พวกเขาก่อน

“พวกเขาเป็นเครือญาติกัน ตอนนี้ผู้หญิงต้องช่วยกันดูแลลูก  ส่วนผู้ชายออกไปรับจ้างข้างนอก   คนไทยแถวป่าไร่ที่สงสาร พอมีงาน ก็มาจ้างไปทำงาน เช่น ทำไร่มันสำปะหลังบ้าง ก่อสร้างบ้าง แต่หลังๆ พอโควิดระบาดหนักเข้า  คนไทยเองก็ไม่ไหวเหมือนกัน  ทำให้งานมีน้อย พวกเขาก็เลยไม่ค่อยมีเงินหาซื้อข้าวปลาอาหาร ต้องอยู่แบบอดๆ อยากๆกันไป”

จริงๆแล้วในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีแรงงานกัมพูชาจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเดินทางกลับถิ่นฐาน แต่ต้องมาตกค้างอยู่ตามป่าแนวชายแดนเพราะด่านปิด ทำให้หลายฝ่ายพยายามหาช่องทางช่วยเหลือ ขณะที่คนกลุ่มนี้เคยมีการประสานไปถึงหน่วยงานของรัฐแล้วเช่นกัน แต่พวกเขาเป็นเพียงแรงงานกลุ่มเล็กๆที่เคลื่อนย้ายตามฤดูกาล คำตอบที่ได้รับคือ “รอไปก่อน”

“เคยไปคุยให้พวกเขานะ แต่ว่าขนาดแรงงานที่มาแบบ MOU  หรือ คนแรงงานที่มาแบบพาสปอร์ต  เวลานี้ถ้าอยากกลับประเทศ  ยังกลับไม่ได้เลย หน่วยงานรัฐยังแก้ปัญหาตรงนี้ไม่จบ  ทำให้แรงงานประเภทที่มาแบบตามฤดูกาลซึ่งมีอยู่ไม่มาก และยังติดอยู่ตามป่ายิ่งห่างไกลการได้กลับบ้าน”เกรียงศักดิ์สะท้อนความเป็นจริงในพื้นที่

เขายังอธิบายอีกว่า ที่จริงแล้วทางกงสุลใหญ่กัมพูชาในไทย ได้ประกาศอยู่เรื่อยๆ ว่าใครอยากกลับบ้านเกิด ให้มาแจ้งความจำนงค์ เพียงแต่คนกลุ่มนี้ เหมือนอยู่ในโลกอีกใบหนึ่งที่ถูกปิดไว้ด้วยป่า  จนแทบไม่รู้ข้อมูลข่าวสารใดๆ ทำให้ต้องติดค้างไม่ได้กลับบ้านมาเป็นปี

ขณะที่นายเสรี เนต กงสุลใหญ่กัมพูชา ประจำประเทศไทย ซึ่งได้ลงพื้นที่ชายแดนย่านนี้หลายรอบกล่าวว่า สถานกงสุลไม่ได้นิ่งนอนใจในความเดือดร้อนของแรงงานกัมพูชาที่เกิดขึ้น และได้ประสานส่งกลับแรงงานกัมพูชาเรื่อยมา โดยได้ขอความอนุเคราะห์จากทางการไทยเพื่อให้โควตาแรงงานได้กลับไปบ้าน แต่เนื่องจากการดำเนินการเรื่องนี้ จำเป็นต้องผ่านหลายฝ่าย และเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ ดังนั้นการส่งกลับแรงงานจึงเป็นเรื่องต้องใช้เวลา

“นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา  มีแรงงานจากพื้นที่ชั้นในของประเทศไทย ทั้งจากกรุงเทพฯ สมุทรสาคร ชลบุรี ฯลฯ หลั่งไหลขอกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก บางส่วนติดค้างตามป่าชายแดน บางส่วนติดค้างตามเขตผ่อนปรนพิเศษ เช่น เขตอำเภอตาพระยา เราจึงต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ก่อน เพราะมีผู้ประสบปัญหาจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่ประสานงานเรื่องเข้ามาขอความช่วยเหลือด้วยตัวเอง”

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ทางกงสุลใหญ่กัมพูชาได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เพื่อขอความร่วมมือให้ เปิดด่านและอนุญาตให้รัฐบาลกัมพูชา สามารถนำวัคซีนมาฉีดให้แก่แรงงานตนเองภายในชุมชนตลาดโรงเกลือจำนวน 12,000 คนได้ หากไม่สามารถเปิดด่านได้  ก็ขอแค่ให้แรงงานกัมพูชาในตลาดโรงเกลือ สามารถเดินข้ามด่าน เพื่อฉีดวัคซีนในเขตแดนกัมพูชา แล้วเดินกลับมาที่เขตแดนไทยได้ เพื่อเป็นการลดปัญหาการติดเชื้อ ลดความเสี่ยง และลดการเเพร่กระจายเชื้อ รวมถึงหากวัคซีนเหลือเพียงพอ จะได้สามารถนำไปฉีดให้แก่แรงงานที่ยังติดค้างกรณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตามป่า ตามวัด ตามชุมชน

ด้านสมัคร ทัพทานี ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ที่ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือแรงงานในจังหวัดสระแก้ว ให้ความเห็นว่า อยากเห็นความร่วมมือที่ดียิ่งขึ้นระหว่างรัฐบาลไทย และกัมพูชา ในการแก้ปัญหาโควิด19 ในจังหวัดสระแก้ว  ทั้งเรื่องวัคซีน เรื่องช่วยเหลือแรงงานที่ยังตกหล่นตามชายแดน ตามจุดต่างๆ เช่นในป่า

“สำหรับแรงงานตามฤดูกาล คนกลุ่มนี้ น่าเห็นใจ พอปิดด่าน พวกเขามักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ด้วยความที่การเข้ามาของพวกเขา เข้ามาถูกต้องชั่วคราว ผ่านระบบบอร์ดเดอพาส ทางกระทรวงแรงงาน หรือทุกๆ หน่วยงาน ควรหาทางลงไปช่วยตามหลักมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแจกข้าวของเบื้องต้นในระหว่างที่พวกเขายังติดอยู่ หรือนำเขาเข้าระบบเพื่อส่งกลับในกรณีที่มีความประสงค์เดินทางกลับ”

นอกจากนี้ก็ควรให้คนพวกนี้ได้มีโอกาสรับวัคซีน รับยารักษา หน้ากากอนามัย ในเวลาที่มีการระบาดของโควิด 19  เพราะในอนาคต ถ้าไม่มีแรงงานเข้ามารับจ้างตามฤดูกาล เจ้าของไร่ เจ้าของสวนรายเล็กๆ ที่เป็นคนไทย จะต้องลำบาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงระบบเศรษฐกิจระดับชุมชนได้


On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →