Search

ฉวยอำนาจรัฐประหาร ลักลอบตัดไม้ครั้งมโหฬารในพม่า

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักข่าวพม่า อิรวดี เผยแพร่รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขบวนการลักลอบตัดไม้ในป่าอนุรักษ์และเขตหวงห้ามของพม่าที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่าในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่ทหารก่อการรัฐประหาร โดยตลาดใหญ่คือจีน รวมทั้งไทยและอินเดีย  พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตถึงการรู้เห็นเป็นใจของรัฐบาลทหารเพราะต้องการเงินตราต่างประเทศ

นายซาไล จากกลุ่มเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมในพม่า เปิดเผยว่า พบรถบรรทุกไม้ 15 – 20 คัน แล่นผ่านในแต่ละวันใกล้กับหมู่บ้านของเขาในภาคสะกาย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ระหว่างชายแดนประเทศอินเดียและรัฐคะฉิ่น โดยรถขนไม้มุ่งหน้าไปทางภาคเหนือของรัฐฉาน จุดหมายปลายทางสุดท้ายคือ เมือง Nongdao และเมืองรุ่ยลี่ ในเขตมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งรวมไม้หรือแหล่งค้าขายไม้จากพม่านับสิบปีแล้ว จากนั้นไม้จากที่นี่จะถูกส่งไปยังพื้นที่อื่นๆ ของจีน ขณะที่ไม้บางส่วนถูกส่งขายไปยังจีนผ่านทางเหนือรัฐคะฉิ่น

“การลักลอบค้าขายไม้ไม่สามารถควบคุมได้แล้วนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร” นายซาไลให้สัมภาษณ์ โดยไม่ต้องการใช้ชื่อจริงเนื่องจากเรื่องความปลอดภัย  

ขณะที่กลุ่มสิ่งแวดล้อมในเมืองกะต่า เมืองคำตี่ และที่เขตสะกาย กล่าวว่า การลักลอบค้าไม้เพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่เดือน มีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการรัฐประหารและการระบาดของโรคโควิด -19 

“มีรถบรรทุกขนไม้อย่างต่ำ 40 – 50 คัน มุ่งหน้าไปจีนทุกๆ วัน ด้วยสถานการณ์การเมืองในตอนนี้ เราจึงไม่สามารถพูดเรื่องนี้ออกไปได้ แม้กระทั่งเปิดเผยบนสื่อสังคมออนไลน์ เพราะมันเป็นเรื่องที่เสี่ยงกับเรามาก” นายอูตินมิ้น นักสิ่งแวดล้อมจากเขตสะกายกล่าว 

สำนักข่าวอิรวดีระบุว่า จีนมีความต้องการไม้สักและไม้มีค่าอื่นๆ ทำให้มีการลักลอบค้าไม้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ลักลอบค้าไม้มักขนส่งไม้สักจำนวนมากจากรัฐคะฉิ่น รัฐฉานและเขตสะกาย ไปยังจีนผ่านทางบก ทั้งนี้กฎหมายของพม่าห้ามการค้าไม้ทางบก และกำหนดให้การส่งออกไม้ทั้งหมดต้องผ่านท่าเรือย่างกุ้ง อย่างไรก็ตาม การยึดไม้ซุงจำนวนมากเป็นประจำทุกปีเกิดขึ้นใกล้กับพรมแดนจีน – พม่า บ่งชี้ให้เห็นว่า มีเครือข่ายการลักลอบค้าไม้ผิดกฎหมายข้ามพรมแดนที่ซับซ้อนและมีเจ้าหน้าที่ทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

ด้านองค์กรสิ่งแวดล้อม อย่าง Environmental Investigation Agency (EIA) เปิดเผยว่า มีข้อพิสูจน์ได้ว่า การลักลอบทำไม้ยังคงเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง การหยุดยิง ภาวะถดถอย การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล การหยุดชะงักชั่วคราว และการปฏิรูปการเมืองในประเทศ 

มีรายงานว่าไม้สักที่เหลือของโลกส่วนใหญ่อยู่ในพม่า และการค้าไม้เป็นแหล่งรายได้หลักสำหรับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าชุดก่อนๆ เมื่อรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เข้ารับตำแหน่งในปี 2558 รัฐบาลได้พยายามหลายครั้งที่จะยุติการลักลอบทำไม้และลดการทำลายป่าในประเทศ รวมถึงการห้ามส่งออกไม้และการห้ามตัดไม้ และรัฐบาล NLD ยังสามารถยึดไม้ผิดกฎหมายได้จำนวน 200,000 ตัน อย่างไรก็ตาม การยึดอำนาจในพม่าได้ทำลายความพยายามที่จะลดการทำลายป่าในพม่าของรัฐบาล NLD เนื่องจากรัฐบาลทหารได้เข้าควบคุมหน่วยงานกิจการไม้พม่าอย่าง Myanmar Timber Enterprise (MTE) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบควบคุมการทำไม้ทั้งหมด 

รายงานขององค์กร British Conflict and Environment Observatory group (CEOBS) ระบุว่า ถึงแม้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัททำไม้ของรัฐบาลพม่า เพื่อตอบโต้รัฐประหาร และการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง แต่พม่ายังสามารถหันหน้าไปหาประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ไม้จากพม่ายังคงเดินทางข้ามบกผ่านพรมแดนไปยังโรงเลื่อยทั้งในจีน อินเดีย และไทยอย่างต่อเนื่อง องค์กร CEOBS ระบุว่า รัฐบาลทหารพม่ามีประวัติการจัดการไม้ที่น่าตกใจ และยังมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับจีนที่เป็นผู้ค้าหลักกับพม่าก่อนที่พม่าจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ และคาดว่าทั้งสองประเทศจะยังคงมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อไปและคาดว่า จะร่วมมือกันในโครงการ “เศรษฐกิจเส้นทางสายไหม”หรือ “One Belt and One Road” 

กลุ่มสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นในพื้นที่ยังเปิดเผยว่า หลังการรัฐประหาร พบการลักลอบทำไม้ในอุทยานแห่งชาติ “อะลองดอว์ กะต่าป่า” ในเขตสะกาย ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของพม่า ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นอุทยานมรดกแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่คุ้มครองป่าเขตร้อนและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีพื้นที่กว่า 160,500 เฮกตาร์ มีทั้งไม้พะยูงและไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ซึ่งเป็นไม้เป็นที่ต้องการในจีน 

“การลักลอบตัดไม้ในอุทยานแห่งชาติอะลองดอว์ กะต่าป่า ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากการรัฐประหาร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าร่วมในการประท้วงอารยะขัดขืน (CDM) ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม โดยปฏิเสธที่จะทำงานภายใต้การปกครองของทหาร นักล่าไม้พะยูงหลายร้อยคนได้ตัดไม้ทุกวันในพื้นที่ห่างไกลของอุทยาน หลังจากที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เข้าร่วมประท้วง CDM ไม่ได้มาปฏิบัติงาน เราเห็นรถบรรทุกอย่างน้อย 20 ถึง 30 คันที่บรรทุกไม้ซุงเข้าและออกจากอุทยานทุกวันตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม” นักสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมในย่างกุ้งวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมกล่าวว่า เป็นไปได้ว่าพื้นที่ป่าฝนที่สำคัญในอุทยานแห่งชาติ “อะลองดอว์ กะต่าป่า” ได้หายไปภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา “นี่คือฝันร้าย อุทยานไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวพุทธเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดในประเทศอีกด้วย” 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้คนหนึ่งจากอุทยานแห่งชาติ  “อะลองดอว์ กะต่าป่า” ที่เข้าร่วมประท้วง CDM และขณะนี้กำลังหลบซ่อนตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมจากทางการได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีทางที่การตัดไม้และการขนส่งไม้สามารถทำได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่ มีความเป็นไปได้สองประการ คือเจ้าหน้าที่เพิกเฉยต่อการตัดไม้เนื่องจากติดสินบน หรือไม่เช่นนั้น รัฐบาลทหารอาจมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงจากการกระทำดังกล่าว

องค์กรตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังรายงานด้วยว่าการดำเนินการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายโดยกลุ่ม Dazu (ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกลงโทษโดยรัฐบาลจีนเพราะลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย) ได้กลับมาดำเนินการอีกครั้งหลังจากการรัฐประหารในพม่า รวมไปถึงได้รับรายงานว่ามีการขยายโรงเลื่อยและโกดังเพื่อแปรรูปไม้ ซึ่งน่าจะเป็นไปตามคำสั่งซื้อของพ่อค้าในจีน โดย EIA ระบุว่า การดำเนินการนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐรับรู้และมีส่วนร่วมเท่านั้น และว่า รัฐบาลทหารพม่าได้ประโยชน์ทางการเงินจากการค้าขายไม้ไปยังจีน รวมถึงได้ผลประโยชน์จากการเรียกเก็บค่าใช้เส้นทางและค่าผ่านด่านที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมโดยทหารพม่า นอกจากนี้รัฐยังได้เครือข่ายสัมพันธ์ทางทหารกับกลุ่มอาชญากรรมอื่นๆ ที่จัดหาผู้ค้าในจีน 

การลักลอบค้าไม้ข้ามพรมแดนกับจีนได้ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1900 พม่ากลายเป็นแหล่งไม้ที่สำคัญของมณฑลยูนนานนับตั้งแต่รัฐบาลจีนสั่งห้ามตัดไม้ในปี 2539 เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษที่รายได้จากการค้าไม้ผิดกฎหมายช่วยด้านการเงินให้แก่กองทัพ กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และกองกำลังรักษาชายแดนในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉานและรัฐคะฉิ่นใกล้กับชายแดนยูนนาน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ปราบปรามบริษัทที่ซื้อขายผิดกฎหมายจากพม่า แต่ไม่ส่งผลมากนัก เพราะในปี 2019 ทางการจีนยังสามารถยึดไม้ผิดกฎหมายได้มากกว่า 100,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ทุกๆปี ไม้หลายพันตันจากรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานยังคงเข้าประเทศจีนด้วยวิธีการต่างๆ บริษัทจีนหลายแห่งยังคงโฆษณาว่า ไม้พะยูงและไม้สักที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีต้นกำเนิดมาจากประเทศพม่า 

สื่อจีนรายงานว่าราคาไม้สนแดงของพม่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม้ในเมืองรุ่ยลี่ใกล้จะหมดลง เมื่อใดก็ตามที่มีความต้องการไม้สูงในเมืองรุยลี่ จะมีการลักลอบนำเข้าไม้พม่าเพิ่มมากขึ้น บริษัทจีนในมณฑลเจ้อเจียงยังได้โฆษณาว่ามีไม้อายุ 300 ปีจากพม่ามาถึงในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่ได้ระบุว่าได้ซื้อไม้จากพม่ามาเมื่อไหร่ 

สำนักข่าวอิรวดีเปรียบเทียบข้อมูลจาก GFW เป็นระยะเวลาหกเดือนก่อนและหลังการทำรัฐประหาร พบว่าการแจ้งเตือนการตัดไม้ทำลายป่าในพม่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานั้นสูงกว่าก่อนการทำรัฐประหารเกือบ 5 เท่า มีรายงานการแจ้งเตือนการตัดไม้ทำลายป่า 2,231,211 ครั้งในพม่านับตั้งแต่รัฐประหาร โดย 49% เป็นการแจ้งเตือนที่น่าเชื่อถือ โดยรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น รัฐกะเหรี่ยง และภูมิภาคตะนาวศรี และสะกาย ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียป่ามากที่สุดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่กว่า 140,340 เฮกตาร์ที่ได้รับผลกระทบ 

เช่นเดียวกับในรัฐคะฉิ่น องค์กร GFW ได้รับการแจ้งเตือนการตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมด 376,150 ครั้ง ตั้งแต่รัฐประหารจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม ในรัฐคะฉิ่น โดยที่เมืองมิตจีนา เมืองปูเตา และเมืองบ่าหม่อ เป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด องค์กรสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ในเมืองมิตจีนาระบุว่า ไม่สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ป่าได้ นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองและการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งเตือนการตัดไม้ทำลายป่ามากกว่า 697,000 ครั้ง ในเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน รวมถึงเมืองที่ติดกับมณฑลยูนนาน 

ส่วนในเขตตะนาวศรีซึ่งอยู่ทางใต้สุดของพม่า ก็มีการบันทึกการแจ้งเตือนการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร องค์กร CEOBS ยังกล่าวด้วยว่าพบพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมากใกล้กับที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ “เหล่งหย่า”

“เรากังวลมากว่า การทำลายทรัพยากรธรรมชาติจะไม่สามารถควบคุมได้ หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ เราอาจสูญเสียป่าในรัฐคะฉิ่น ในขณะที่รัฐบาลทหารกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ พวกเขาอาจอนุญาตให้บริษัทตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ที่ป่าซึ่งควรได้รับการคุ้มครอง” นักสิ่งแวดล้อมชาวพม่า กล่าว 


On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →