สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

บาดแผลเก่ายังฉกรรจ์ สงครามใหม่กำลังจะมา ชีวิตคนหนีภัยริมสาละวิน

เมื่อสัปดาห์ก่อน เพจ Friends Without Borders Foundation ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ได้รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทยพม่า ด้านตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน ในเขตรัฐกะเหรี่ยง มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ชาวบ้านมื่อตรอ (พื้นที่อิทธิพลของกองพล 5 กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU) จำเป็นต้องหลบซ่อนเป็นผู้พลัดถิ่นอยู่ในบ้านตนเอง หากโชคร้ายก็จะถูกพบเจอโดยทหารของกองทัพพม่า หรือเหยียบกับระเบิดซึ่งฐานทัพพม่านำมาฝังไว้เป็นจำนวนมาก ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ชาวบ้านหมู่บ้านก้อปู เหยียบกับระเบิดในบริเวณใกล้บ้าน  ต้องถูกส่งตัวมารักษาในโรงพยาบาลฝั่งไทยและสูญเสียขาข้างขวาไปตลอดกาล

เมื่อฐานทัพพม่ากระจัดกระจายทั่วมื่อตรอ ก็ไม่มีที่ไหนปลอดภัย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (KHRG) ได้รายงานเหตุการณ์ที่ชาวบ้านผู้หญิง 3 คนจากหมู่บ้านก้อปู ถูกทหารของกองทัพพม่าจับตัวไปเป็นลูกหาบและโล่มนุษย์ให้กับกองทัพพม่า

“พวกเธอโชคร้ายถูกพบเจอโดยหน่วยทหารพม่าที่เดินทางมายังฐานใกล้หมู่บ้าน ทั้งหมดถูกซ้อม เตะ และกระทืบซ้ำโดยไม่มีการตั้งคำถามสอบสวนใด ๆ

หญิงทั้ง 3 ถูกบังคับให้แบกของเดินนำหน้าหน่วยทหารไปจนถึงจุดหมายที่ลำห้วยแห่งหนึ่ง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวโดยมีบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจติดตัวมา

การจับตัวชาวบ้าน บังคับใช้แรงงานเป็นลูกหาบแบกเสบียงและกระสุน โดยให้เดินนำหน้า เพื่อว่าหากทหารฝ่ายชาติพันธุ์พบเจอก็จะไม่กล้ายิงใส่ประชาชนตนเองนั้น เป็นยุทธการที่กองทัพพม่ากระทำตลอดมาหลายสิบปี และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการพลัดถิ่นฐาน หลบลี้หนีภัยเข้าป่า หรือขอข้ามมาหาที่ปลอดภัยในฝั่งไทย”

ดังนั้น เกณฑ์การรับผู้ลี้ภัยเฉพาะผู้ “หลบหนีการสู้รบ” ซึ่งหมายความอย่างแคบว่าจะต้องมี “การปะทะ” กันระหว่างทหารสองฝ่าย หรือการโจมตีทางอากาศดังที่ผ่านมา ตลอดจนถึงกำหนดว่าการสู้รบซึ่งจะเป็นเหตุให้ยอมรับผู้หนีภัยนั้นจะต้องอยู่ไม่ห่างจากชายแดนไทยเกิน 2 กิโลเมตร จึงเป็นเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางมนุษยธรรมเป็นอย่างยิ่ง

เพราะสิ่งที่โหดร้ายที่สุด ไม่ใช่การยิงปะทะกันระหว่างทหารสองฝ่ายซึ่งชาวบ้านสามารถหลบหนี หรือมักได้รับคำเตือนให้หลบหนีไปก่อนล่วงหน้าได้ หากคือ การที่กองทัพพม่าปฏิบัติต่อพลเรือนดังเช่นศัตรู

เมื่อเป้าหมายของปฏิบัติการคือพลเรือนไร้อาวุธ สงครามจึงโหดร้ายได้ทุกวันโดยไม่ต้องรอให้ได้ยินเสียงสาดกระสุน

ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา นับจากผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่เข้ามาพักในพื้นที่ อ. สบเมยและ อ.แม่สะเรียง ได้ข้ามแม่น้ำสาละวินกลับไป ไม่มีวันใดเลยที่จะเรียกได้ว่า มีความสงบในจังหวัดมื่อตรอ 

ทว่า การปะทะ การยิงปืนใหญ่เข้าหมู่บ้าน การเผาหมู่บ้าน การลาดตระเวนและจับชาวบ้านหรือยิงชาวบ้าน มักเกิดขึ้นในบริเวณไม่ห่างจากตัวเมืองผาปูน ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปจากพื้นที่ใกล้ชายแดนไทย ที่ยังมีผู้พลัดถิ่นซึ่งเคยถูกโจมตีทางอากาศและด้วยปืนใหญ่เมื่อต้นปี

“ในเดือนสิงหาคม กองทัพพม่าส่งกำลังพลและกำลังสนับสนุนจาก BGF (กองกำลังพิทักษ์ชายแดนในการกำกับของกองทัพพม่า) เข้าสู่เกือบทุกเขต KNU  ทั้งจ.มื่อตรอ พื้นที่ในความดูแลของกองพล 5 และเขตกองพลที่ 1 (ดูตาทู/ตะโถ่ง), 2 (ตองอู) และ 3 (เคล่อลุยทู/นองเลบิน) จนกระทั่งมาถึงเขตกองพลที่ 6 (ดูปลายา/กอกะเร็ก) กับ 7 (พะอัน) เมื่อล่าสุด

การปะทะกันในจ.ดูปลายา (กองพล 6) รุนแรงมากขึ้น เมื่อกองทัพพม่าต้องการจัดการกับกองกำลังป้องกันตนเองของประชาชน (PDF) ซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของ KNU เช่นเดียวกับนักกิจกรรมทางการเมืองที่หลบหนีการปราบปรามมาจากเขตเมืองมาอยู่ในจ.พะอัน  เมื่อสัปดาห์ก่อน มีการสุ่มระดมยิงปืนใหญ่กว่า 50 ครั้งในดูปลายา ทำให้ชาวบ้านต้องหลบหนีออกมาแอบซ่อน และต้องอยู่กันอย่างขวัญผวา

“สัญญาณอันตรายที่สุด คือเฮลิคอปเตอร์สอดแนมที่บินไปทั่วบริเวณ ทั้งในดูปลายาและมื่อตรอ  ชาวบ้านที่เคยเผชิญกับการบินสอดแนมเช่นนี้มาก่อนที่จะมีการโจมตีทางอากาศช่วงมีนาคม.-พฤษภาคม ย่อมรู้ดีว่า นี่ถึงเวลาที่จะต้องเตรียมตัวหลบภัย  หลายคนเก็บข้าวของเตรียมใจไว้ล่วงหน้าก่อนที่ผู้นำท้องถิ่นจะแจ้งเตือนเสียด้วยซ้ำ

ไม่มีใครรู้ว่าการโจมตีทางอากาศครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ที่แน่ ๆ กองทัพพม่าเตรียมขยายศึกสงครามภาคพื้นดินแล้วอย่างกว้างขวาง อีกเพียง 2 เดือนฝนคงจะซา และเมื่อผืนดินเริ่มแห้ง การโจมตีมักจะหนักหน่วง ความหวังของชาวบ้านที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่ข้าวได้ทันเวลาก่อนจะต้องหลบลี้หนีภัยอีกครั้งจะเป็นจริงได้หรือไม่ และถ้าพวกเขาต้องสูญเสียมันไปอีกครั้ง สถานการณ์คงโหดร้ายยิ่งนัก”

ขณะที่ชายแดน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ติดกับรัฐคะเรนนี มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนได้นำเสนอเสียงจากเยาวชน ว่า รุ่นพ่อแม่ (ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า) จะหลบอยู่ใกล้ ๆหมู่บ้าน ต้องดูแลคนแก่ด้วย เพราะคนแก่จะเดินทางไกลไม่ไหว  ส่วนคนหนุ่มสาวจะอยู่ที่นั่นไม่ได้  พวกเราต้องหนีกันมาทั้งหมด โดยเฉพาะผู้หญิง ถ้าอยู่ก็เสี่ยงมากกับการถูกทหารพม่าจับและข่มขืน มันมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น  พ่อแม่เป็นห่วงมากที่หนูมาที่นี่คนเดียว เราไม่มีญาติพี่น้องแถวนี้เลย  แต่แม่หนูก็เพิ่งคลอดน้อง และพ่อก็ต้องอยู่ดูแลแม่ พวกเขายังเดินทางไม่ได้  หนูจึงตัดสินใจมาที่นี่ก่อนทั้งเพื่อความปลอดภัยและเพื่อเรียนหนังสือต่อ”

 “พ่อผมสุขภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เขาไม่สามารถเดินป่ามาหลาย ๆ วันแบบนี้ได้  แม่ผมจึงอยู่กับพ่อ แต่พี่สาวผมจะมาที่ชายแดนไทย  พี่สาวของผมมีลูกสองคน  ผมมาเป็นเพื่อนพี่เพื่อจะช่วยอุ้มหลานและดูแลเขา  เมื่อมาถึงนี่ ผมดีใจมากที่เห็นโรงเรียน พ่อแม่จะดีใจมากถ้าผมได้เรียนหนังสือ”

เด็กหนุ่มกะเรนนีวัย 16 ปี

ทั้งสองกำลังเรียนหนังสืออยู่ในค่ายพักพิงของผู้พลัดถิ่นไม่ไกลชายแดนไทยซึ่งมีเด็กเล็กจนถึงวัยรุ่นหนุ่มสาวหลายร้อยคน โอกาสในการศึกษาทำให้ชีวิตในยามที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัวมีความหวัง


ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน / ภาพโดยกลุ่มบรรเทาทุกข์ Metta

On Key

Related Posts

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →

KNU ประกาศกอบกู้มหารัฐกลอทูเลภายใต้ปฏิบัติการ Taw Mae Pha Operation ยื่นคำขาดทหารทัพแตกมอบตัวภายใน 2-3 วัน เผยเตรียมหารือกองกำลังฝ่ายต่อต้านบริหารเมืองเมียวดี ระบุสกัดกั้นทัพเสริม SACจนถอยร่น

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 ภายหลังกองปลดปล่อยแห่งชRead More →

ชักธงกะเหรี่ยงขึ้นสู่ยอดเสาเหนือเมืองเมียวดี-เผาธงชาติพม่าทิ้ง KNU ประกาศทางสัญลักษณ์ยึดพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ รศ.ดุลยภาคชี้จีนเป็นตัวแปรสำคัญ

วันที่ 15 เมษายน 2567 ที่กองบัญชาการควบคุมที่ 12 หRead More →

รัฐคะเรนนียังรบกันเดือด โฆษก IEC เผยฝ่ายต่อต้านยึดพื้นทางทหาร SACได้เกือบหมด-ปิดล้อมบอลาเค-ผาซอง ส่วนสู้รบในเมืองเมียวดีกองกำลังชาติพันธุ์รุมสกัดขบวนทหารพม่าเสริมทัพ

v เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 นายบันยา (Banya) โฆษกRead More →