Search

เยี่ยมวิถีเมืองงอย “ชาวบ้าน-ป่า”พึ่งพากัน

 

ngoi1สามชั่วโมงจากหลวงพระบางมาตามเส้นทางสายแคบและขรุขระแบบไม่ยอมให้ผู้โดยสารหลับตาง่ายๆ แต่ด้วยวิวสองข้างทางที่เต็มไปด้วยทิวเขาสีเขียว ขนาบด้วยแม่น้ำสายใหญ่ สามชั่วโมงจึงสั้นเพียงพริบตาเดียว ก็ถึงท่าเรือหนองเขียว

 

เบื้องหน้าเป็นแม่น้ำสายใหญ่สีขุ่นเข้มไหลแรง ฉากหลังเป็นภูเขาลูกโต ที่มีเมฆลอยเอื่อยๆ อยู่ต่ำๆ บอกว่านี่คือช่วงหน้าฝนอันอุดมสมบูรณ์

 

ณ จุดนี้ ชาวคณะเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ยังมุ่งหน้าเดินทางต่อไปบนลำน้ำอู โดยมี จุดหมายอยู่ที่เมืองงอยเก่า แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่แม้ว่าขณะนั้นจะมีสีแดงขุ่นคลั่ก แต่กลับกันหากมาช่วงหน้าร้อนลำน้ำอูจะใสราวกระจก

 

การเดินทางมาครั้งนี้ ด้วยภาคประชาชนเชียงของจ.เชียงราย มีสายสัมพันธ์อันดีกับภาคประชาชน (ไทบ้าน) เมืองงอย สปป.ลาว มีการเดินทางไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนกันมาหลายครั้ง ด้วยหลายเหตุผลทั้งการแลกเปลี่ยน เรียนรู้วัฒนธรรม แนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรลุ่มน้ำตามแบบองค์ความรู้ของชาวบ้าน

 

เพราะทั้งสองฝ่ายก็ล้วนแต่พึ่งพาอาศัยลำน้ำ ป่าเขาเหมือนๆ กัน และทั้งสองชุมชนในลุ่มน้ำโขงและน้ำอู ประสบปัญหาคล้ายกัน คือเรื่องการพัฒนาลุ่มน้ำจากโครงการก่อสร้างเขื่อนที่ทำให้ชีวิตทั้งหมดเปลี่ยนไป

 

ลำน้ำอูยาวประมาณ 484 ก.ม. ถือเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ยาวที่สุดในสปป.ลาว ซึ่งทุกวันนี้สปป.ลาวจะมีสินค้าส่งออก คือ ไฟฟ้า จนได้รับการขนานนามว่า Battery of Asia แต่ไม่แน่ชัดว่าชาวบ้านยินดีด้วย หรือไม่

 

โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับลำน้ำสงบนี้ คือการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำอูแบบ “ขั้นบันได” ถึง 7 แห่งในระยะเวลา 10 ปี อาจเป็นเพราะลักษณะประเทศที่มีชัยภูมิเหมาะกับการสร้างเขื่อน ซึ่งปัจจุบันกำลังสร้าง 2 แห่ง คือ เขื่อนหมายเลข 2 (ใต้เมืองหนองเขียว) และหมายเลข 5 (เหนือเมืองขัว)

 

แน่นอนว่าเมื่อใดที่เขื่อนมาถึง ชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งน้ำอู รวมทั้งระบบนิเวศจะไม่มีวันเหมือนเดิม!!

 

สภาพเมืองงอย เมื่อชาวคณะเดินทางมาถึงยังเป็นชุมชนเล็กๆ แถวริมน้ำอาจปรับสภาพเป็นโฮมสเตย์ ที่พักพิงสำหรับนักท่องเที่ยว แต่เมื่อเดินเข้าไปในหมู่บ้านยังได้เห็นสภาพดั้งเดิม ที่มีถนนดินพาดยาวกลางหมู่บ้าน ฉากหลังเป็นทิวเขาสูง เลยเข้าไปในหมู่บ้านมีพื้นที่ทำการเกษตรไร่นา ข้าวโพด มีลำธารเล็กๆ ใสแจ๋ว ที่นี่ถือเป็นชุมชนเก่าแก่ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านได้อาศัยถ้ำก่าง ติดแม่น้ำงอย เป็นสถานที่หลบระเบิดที่ตกลงมาเหมือนห่าฝน

 

นายคำเผย รองผู้ใหญ่บ้านเมืองงอย ให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ชาวเมืองงอย ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา และอาชีพประมง ส่วนการท่องเที่ยวนั้น เพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นาน โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และจะเริ่มเดินทางมาช่วงต.ค.-ก.พ. รูปแบบการท่องเที่ยวเป็นแบบสงบๆ เน้นกิจกรรมผจญภัย เช่น คายัค ปีนผา ล่องเรือ เดินป่า เป็นต้น ตามสภาพภูมิประเทศ

 

ngoi2
1.ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว 2.สัมปทานกุ้ง 3.ความอุดมสมบูรณ์ของสปป.ลาว 4.อ้ายคำเผย 5.ทอผ้าเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านสบแจม

ส่วนร้านอาหารผับบาร์ก็มีแต่บางตา และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยปิดร้านในเวลาสามทุ่มเท่านั้น

 

ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ชาวบ้านเมืองงอยใช้วิธีการบวชป่า โดยนำพระไปสวดมนต์ และมีการประกาศเขตป่าสงวนห้ามล่าสัตว์ประมาณ 41 เฮกตาร์ หรือกว่า 256 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีการเรียนรู้จากชาวเชียงของ ในการตั้งกองทุนหมู่บ้าน กองทุนสตรี สะสมเงินกองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านด้วย

 

สิ่งที่น่าสนใจในการทำประมงของชาวบ้าน ถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดในเมืองงอย และถือเป็นเอกลักษณ์ คือ “การดักกุ้ง” โดยต้องมีการประมูลราคาสัมปทานแข่งกัน

 

สัมปทานแต่ละแห่ง มีราคาสัมปทานที่ปีละ 7 ล้าน 5 แสนกีบ หรือประมาณ 3 หมื่นบาท แต่ละแห่งจะมีเจ้าของรวมกัน ประมาณ 10 คน และกระจายรายได้กำไรแบ่งกันแต่ละเจ้า ราคาขายอยู่ที่ 270-300 บาทต่อกิโลกรัม

 

เลยจากเมืองงอยเก่าขึ้นไป จะมีการทำประมงกุ้งที่ไม่เหมือนใคร โดยทำได้แค่เดือน ส.ค.-ก.ย. เท่านั้น เจ้าของสัมปทานจะสร้างอุปกรณ์ดักกุ้งไว้ที่ชายน้ำ ซึ่งมีน้ำใสแจ๋วไหลลงมาจากภูเขา โดยจะสานไม้ไผ่กั้นระหว่างน้ำใส กับน้ำสีเข้ม แล้วใช้ไม้ไผ่สานขนาดถี่ๆ เหมือนไซดักไว้ตามไม้ไผ่สานขนาดยักษ์ กุ้งแม่น้ำจะว่ายจากแม่น้ำสายใหญ่มาหาช่องน้ำใสตามริมน้ำ โดยกุ้งขนาดใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือนิดหน่อย แต่รสชาติดี

 

เหนือขึ้นไปจากเมืองงอยเก่า คือ หมู่บ้านสบแจม ชาวบ้านยังคง มีอาชีพเกษตรกรรม และประมงเป็นหลักเช่นกัน แต่ทอผ้าเป็นอาชีพเสริม เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมแต่ละบ้านก็ปรับเปลี่ยนนำผ้าทอมือมาแขวนขายทำให้หมู่บ้านเต็มไปด้วยสีสันของผ้าทอไม่น้อย

 

โดยน่าแปลกใจว่าแม้หมู่บ้านจะอยู่ไกล แต่ประชาชนในหมู่บ้านกลับไม่ค่อยเจ็บป่วยด้วยโรคที่รุนแรงนัก และรักษากันไปตามภูมิปัญญาโดยใช้สมุนไพรในป่า ซึ่ง น่าจะเป็นเพราะอาหารการกิน อากาศที่ดี ทำให้คนแถบนี้มีสุขภาพดีไปด้วย

 

ความเกี่ยวข้องระหว่างเมืองงอยและเชียงของ สิ่งหนึ่งคือเป็นพื้นที่ ที่ได้รับผลจากการพัฒนาลุ่มน้ำโขงเหมือนกัน

 

ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า ไทยมีประสบการณ์ทั้งการถูกทำลายทรัพยากรและอนุรักษ์ทรัพยากร ซึ่งการบวชป่าวังสงวน ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ชาวเมืองงอยได้เห็นและเชื่อว่าทำได้จริง ถึงลงมือทำ แต่สิ่งสำคัญดูเหมือนจะเป็นการทำความเข้าใจกับคนในชุมชนของตัวเอง เมื่อเข้าใจตรงกันการอนุรักษ์ก็สามารถทำได้ประสบผลสำเร็จ

 

ส่วนเรื่องเขื่อนนั้น ครูตี๋ให้ทัศนะว่า มีองค์ประกอบจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างการพัฒนา การจัดการน้ำ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคิด คือ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ คงต้องเอาไปตอบว่าเอาเขื่อนแล้วคุ้มหรือไม่ที่จะอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน

 

ปัจจุบันคนเราลืมคิดไปว่าจะอยู่อย่างไรให้ยั่งยืนและเป็นสุข

———————

โดย  เมธาวี มัชฌันติกะ
10 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8351
ข่าวสดรายวัน

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →