
กุ้งอั่ว กุ้งแช่น้ำปลา กุ้งนึ่งมะนาว และอีกหลายเมนู ถูกจัดจานวางสำหรับหลายมื้อแก่เครือข่ายรักษ์เชียงของและคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย นำโดย”โครงการพัฒนาการสื่อสารการทำข่าวสืบสวน สอบสวนประเด็นสื่อสุขภาวะข้ามพรมแดน” ช่วงฤดูฝนใน “เมืองงอย” แขวงหลวงพระบางของประเทศลาว ชวนให้ ชุมชนเล็กๆ ที่โอบล้อมด้วยภูเขา ป่าไม้ เคียงคู่กับแม่น้ำอู -แม่น้ำงอย ดูมีเสน่ห์มากขึ้น
อาหารในจานรสเลิศที่ได้ลิ้มลองสวนทางกับเรื่องราวของคนเมืองงอยอย่างมาก เมื่อบทสนทนาทุกข์ สุขระหว่างกัน กลายเป็นประเด็นการรุกคืบของโครงการสรางเขื่อนในแม่น้ำอู ที่มีจำนวนมากถึง 7 แห่ง เพื่อการผลิตไฟฟ้า ภายใต้การบริหารของบริษัทรัฐวิสาหกิจจีน ไซโนไฮโดร (Sinohydro) เพื่อพัฒนาเขื่อน หรือ “ไฟฟ้าพลังน้ำตก” แบบขั้นบันได ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก ธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน (China Development Bank ) เพื่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำอู ประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท) โดยมีการสร้างเฟสแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2555 โดยใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 10 ปี (ข้อมูลจากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ)
“มีข่าวจากรัฐบาลว่า เขาน่าจะมาปรับปรุงถนนและสะพานอีกครั้งในราวปี 2015 และปี 2016 ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจพื้นที่เรื่อยๆ พวกเราก็ไม่รู้ว่า มาจากหน่วยงานใดบ้าง แต่พวกเราก็ยังใช้ชีวิตแบบเดิมนั่นแหละ ยังทำไร่ ทำนา หาปลา หากุ้ง ต่อไป เขื่อนจะมาก็ไม่ได้มีทางเลือกอื่นให้คนเมืองงอยมากนัก”เจ้าของธุรกิจร้านอาหารและชาวประมงรายหนึ่ง เอ่ยขึ้นระหว่างมื้ออาหารวันหนึ่ง
ในความจริง แม้คนท้องถิ่นจะรับรู้ข้อมูลเชิงผลกระทบจากเขื่อนน้ำอูได้น้อย แต่ข้อมูลภายนอก อาทิ การประเมินผลกระทบบ้างจากภาควิชาการระบุแล้วว่า โครงการเขื่อนน้ำอูอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อหมู่บ้านในพื้นที่ทั้งหมด 89 หมู่บ้าน ทั้งน้ำท่วมและอาจทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำ ซึ่งสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN รายงานว่า มีปลาอาศัยอยู่ในน้ำอู 84 ชนิด โดยในจำนวนนี้ 29 ชนิดพบเพียงในแม่น้ำอูเท่านั้น โดยปลาทุกชนิดต้องอยู่ในระบบนิเวศน้ำไหล ไม่สามารถอยู่ในน้ำนิ่งหรืออ่างเก็บน้ำได้ เป็นการสะท้อนข้อเสียของเขื่อนชัดเจน
กระนั้นคนเมืองงอยก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่า การต่อต้านเขื่อนในลาวเป็นไปได้ยาก สิ่งที่ทำได้จึงยังคงต้องเดินหน้าด้วยการรักษารักษาวิถีชีวิตอันสมบูรณ์ให้นานที่สุด

ระหว่างล่องเรือไปตามลำน้ำอู สู่พื้นที่ดักกุ้ง หรือที่คนลาวเรียกว่า “บ่อนกุ้ง” คนขับเรือของเราพยายามชวนคณะคุยถึงสถานการณ์ความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำ และพื้นที่ป่าโดยรอบ ผสมกับการตั้งคำถามสั้นๆ “ไทยเอาไฟฟ้าไปใช้อะไร ไฟฟ้ามีพอใช้ หรือว่ามีเหลือ เห็นว่าสร้างเขื่อนขายไฟให้คนไทยอยู่บ่อยๆ ” หลายคนถึงกับชะงักต่อคำถามเจ้าถิ่น แต่ก็ไม่ได้มีใครให้คำตอบใดนอกจากความเงียบ ขณะที่ชาวประมงในพื้นที่เองก็ไม่มีใครรู้ว่า เขื่อนเกิดขึ้นในลำน้ำอูแล้ว พวกเขาต้องเผชิญกับชะตากรรมอะไรบ้าง รู้แค่ว่า ปัจจุบันแม่น้ำอูเป็นเส้นเลือดที่ยิ่งใหญ่และสามารถพึ่งพาอาศัยได้ตลอดทั้งปี
เรือของคณะล่องไปเรื่อยๆ จนถึงลำห้วยเล็กๆ น้ำสีครามใสตัดกับน้ำอูสีขุ่นอย่างชัดเจน เขาเปลี่ยนหน้าที่จากคนขับเรือไปดำน้ำยกไซดักกุ้งขึ้นมา ระหว่างที่เจ้าของบ่อนกุ้งกำลังยุ่งกับภารกิจส่วนตัว
“ช่วงนี้ตัวเล็กๆไปหน่อยแต่ก็ยังอร่อยนะ หากจะซื้อไปทำกับข้าวต้องรีบมาแต่เช้า หรือไม่ก็ไปรับกุ้งตั้งแต่หัวค่ำ ไม่งั้นอดแน่ๆ เพราะลูกค้าเยอะ แต่บ่อนกุ้งเมืองงอย มีแค่ 10 แห่งต้องแย่งกันซื้อ ใครซื้อไม่ทันก็กินปลา กินหอยแทนแล้วกัน”
บริเวณบ่อนกุ้งทุกแห่ง คนลาวเรียกว่า ห้วยหลวง หมายถึงพื้นที่สาธารณะ การดักกุ้งต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอย่างถูกต้อง เพราะแม่น้ำอูเป็นสมบัติสาธารณะ โดยแต่ละแห่งต้องจ่ายเงินสัมปทานให้แก่รัฐบาลหลังชนะการประมูลราคาเริ่มต้นที่ 5 ล้านกีบ และในปีนี้ชาวประมงที่ชนะการประมูลต้องจ่ายเงินให้รัฐบาลทั้งหมด 7 ล้าน 5 แสนกีบ หรือประมาณ 3 หมื่นบาท เพื่อดักกุ้งจำหน่ายในพื้นที่ ซึ่งร้านอาหารต่างๆ จะมารับซื้อเองที่บ่อนกุ้ง
เจ้าของบ่อนกุ้งเล่าว่า การทำบ่อนกุ้ง ปีนี้ตนและเพื่อนอีก 10 คน ชนะการประมูลจึงต้องผลัดเวรทำหน้าที่ในการดูแลบ่อนกุ้ง บ้างสานเครื่องมือที่เรียกว่า “ไซดักกุ้ง” บ้างหาใบไม้ ต้นหญ้ามามัดรอบๆ ไซกุ้ง บ้างมาดูแลทำความสะอาดพื้นที่ ส่วนคนที่ว่างจากเวรรับผิดชอบก็หาปลา และทำไร่ ทำนาไป จากนั้นต้องมายกไซ 2 ครั้งต่อวัน คือ เช้าและเย็น ปีนี้ตนและเพื่อนๆ ชนะการประมูลตั้งใจไว้ว่า หากรายได้จากการหากุ้งดี ก็จะลองประมูลอีก 1 ปี ตอนนี้ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 250 -300 บาท แล้วแต่ขนาด สำหรับเป้าหมายของคนที่ทำบ่อนกุ้ง คือ ต้องหากุ้งได้อย่างน้อย 300 กิโลกรัมต่อปี จึงจะมีกำไรมาแบ่งกัน
“คนริมน้ำอู ไม่มีใครมุ่งจะชนะการประมูล ว่าจะต้องทำประมงกุ้งอย่างเดียว แต่หลายคนเลือกทำเพราะอยากลอง หากไม่ชนะการประมูลก็ไปทำอย่างอื่นได้ เพราะนอกจากบ่อนกุ้งแล้ว รัฐบาลไม่ได้เก็บค่าหาปลา ล่าสัตว์น้ำจากประชาชนเลย แล้วแต่ว่าใครจะหากินอย่างไรตามใจชอบ” เขาอธิบายถึงวิถีชีวิตของคนน้ำอู
นับวันสถานการณ์การสร้างเขื่อนคืบเข้ามาใกล้ชีวิตคนริมน้ำอูทุกขณะ แต่บรรยากาศเมืองงอย ยังดูอบอุ่นด้วยความเรียบง่าย อุดมไปด้วยทรัพยากรทางอาหาร ชวนน่าหลงใหลอย่างมาก สะท้อนว่าคนเมืองงอย มีความสุขกับชีวิตที่เพียบพร้อมด้วยแม่น้ำ ภูเขา และอาชีพ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมืองงอยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศให้มาชมธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ได้เฉลี่ยปีละ 9,000 คน
“แขกมาเที่ยว ก็มากินกุ้ง มาล่องน้ำอู มาเดินป่า เราเปิดโอกาสเต็มที่ แต่ต้องไม่ทำลายความสงบของพวกเรา เพราะเมืองงอยมีต้นกำเนิดของเมืองมานานกว่า 600 ปี และยังคงความเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ผู้คนอยู่กินกับธรรมชาติ” ผู้นำชุมชนเมืองงอยกล่าว
ปัจจุบันเมืองงอยมีประชาชนจำนวน 140 หลังคาเรือน ส่วนมากประกอบอาชีพทำนา ทำไร่และทำธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นกิจกรรมเสริม ทั้งนี้ในด้านการพัฒนาต่างๆ มีแค่เรื่องไฟฟ้าในหมู่บ้านเท่านั้นที่คนเมืองงอยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล 100 % แต่กิจกรรมด้านอื่น เช่น ออมทรัพย์ในชุมชน การประกาศเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าและแม่น้ำ รวมทั้งการออกกฎการควบคุมพื้นที่ท่องเที่ยว ล้วนเป็นความร่วมมือของคนท้องถิ่นทั้งสิ้น สะท้อนศักยภาพของเมืองเล็กๆ ได้อย่างน่าทึ่ง
“พวกเราเรียนรู้วัฒนธรรมเคารพป่า ภูเขา แม่น้ำ จากชาวไทยที่อาศัยริมน้ำโขง เช่น การบวชวังสงวน และสร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ตอนนี้ในลำน้ำอู พวกเราสร้างเขตอนุรักษ์ระยะทาง 200 เมตร โดยประกาศห้ามจับปลา และล่าสัตว์น้ำทุกชนิด หากมีผู้ใดละเมิดกฎต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินประมาณ ตั้งแต่ 400 บาท ขึ้นไป กิจกรรมทั้งหมดทุกคนรับรู้ว่า เป็นกฎของหมู่บ้านที่ต้องทำตาม ซึ่งไม่มีใครกล้าละเมิด”
ความสำคัญของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีไม่น้อยกว่าการรักษาแหล่งน้ำ คนเมืองงอยนำหลักการบวชป่า และใช้พิธีกรรมทางพุทธศาสนาเคารพต่อเจ้าป่า เจ้าเขา ให้คุ้มครองทรัพยากร พร้อมทั้งประกาศเขตป่าสงวนห้ามล่าสัตว์ประมาณ 41 เฮกตาร์ หรือกว่า 256 ไร่ ( 1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่ ) เพื่อคงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของเมือง โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องรับรู้เป็นข้อมูลพื้นฐานและเคารพกฎทุกข้อ
สำหรับกฎง่ายๆ ที่ชาวเมืองงอยร่วมกันวางไว้นั้น มีตั้งแต่เรื่องห้ามจับปลาในเขตอนุรักษ์ ห้ามล่าสัตว์ในพื้นที่สงวน ห้ามส่งเสียงดังและจัดงานรื่นเริงหลังเวลา 21.00 น. ห้ามร้านค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปิดเกิน 22.00 น. ซึ่งในกรณีคนภายนอกละเมิดกฎข้อใดข้อหนึ่งจะต้องถูกตำรวจในพื้นที่ตักเตือน 3 ครั้งและโทษสูงสุดคือ ขับไล่ออกจากสถานที่
“กฎทุกข้อของเรา อิงจากการที่คนเมืองงอยทำนา ทำไร่ มาตั้งแต่ยุคก่อน พวกเขาเหนื่อยล้าจากภารกิจมาทั้งวัน หากจะต้องมีสิ่งรบกวนจากคนนอก ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ เราจึงต้องรักษากฎไว้ ไม่ใช่อยากได้แค่เงินจากการท่องเที่ยวอย่างเดียวแล้วละเลยคนท้องถิ่น” ผู้นำชุมชนยืนยันว่า กฎทุกข้อทำได้ไม่ยาก หากนักท่องเที่ยวรายใดเลือกมาเมืองงอย ต้องมั่นใจว่า สามารถใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย รักความสงบ

ขณะที่นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งเดินทางมาเยือนเมืองงอยในฐานะญาติมิตรของชุมชนแห่งนี้แล้วหลายครั้ง บอกว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองงอย เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน และเป็นการเกิดขึ้นโดยแนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรของคนท้องถิ่น ซึ่งหากมองกลับมายังประเทศไทยแล้ว โอกาสในการจัดการพื้นที่ของท้องถิ่นมีน้อยมาก เช่น กรณีอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองชายแดนที่เติบโตทางการท่องเที่ยวอย่างมาก แต่ก็ไม่มีการออกกฎใดๆ จากคนท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เป็นทรัพย์อันมีค่ากว่า โครงการพัฒนาหมื่นล้าน ซึ่งการมาเยือนเมืองงอยทุกครั้ง ความรู้สึกที่มีหลังจากกลับไปยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ เมืองงอย เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการทรัพยากรในเชิงพึ่งพาอาศัย ไม่ใช่แย่งชิง ยกเว้นโครงการสร้างเขื่อนน้ำอู ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัว แต่คนเมืองงอยยังคงรักษาชุมชนตนเองไว้เช่นเดิม คือ ใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองเป็น เปิดให้ท่องเที่ยว แต่มีกฎที่จริงจัง สะท้อนว่าพวกเขาเชื่อในศักยภาพของตนเอง
“หากเอ่ยถึงการหยุดเขื่อนแล้ว บ้านเราเองมีสิทธิเหนือกว่า คือ เราสู้ เราส่งเสียงดังมาก ทั้งต่อต้าน ทั้งยื่นหนังสือไปทุกหน่วยงาน หยุดได้บ้าง หยุดไม่ได้บ้าง ก็เป็นไปตามยถากรรม แล้วแต่ความโลภของเอกชนและรัฐทั้งหลาย แต่หากตัดปัญหาเขื่อนออกไป สิ่งที่บ้านเราด้อยกว่าเมืองงอย คือ รัฐไม่ให้โอกาสชุมชนในการบริหารทรัพยากรด้วยตนเอง ซึ่งส่วนนี้สำคัญเพราะกรณีเชียงของนั้น หากปล่อยไหลไปตามกระแสไม่นาน วัฒนธรรมก็สูญไป” นิวัฒน์ กล่าว
วันนี้สายน้ำอูยังคงไหลแรง บางช่วงเวลาก็ขุ่น บางช่วงเวลากลับใสแจ๋ว ชีวิตสองฟากฝั่งต่างพึ่งพาสายน้ำแห่งนี้มานานนม แต่อีกไม่นานสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “เขื่อน” กำลังปิดกั้นสายน้ำแห่งนี้ไม่ให้ไหลเป็นอิสระได้อีกต่อไป
เราจากเมืองงอยมาด้วยความรู้สึกอิ่มเอมในธรรมชาติและมิตรภาพของชุมชน ขณะเดียวกันภายในใจกลับยิ่งรู้สึกห่วงใยในความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองแห่งขุนเขาแห่งนี้
———-
โดย จารยา บุญมาก
.