เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี รายงานว่า ชาวบ้านหลายครอบครัวที่ถูกโยกย้ายจากเขื่อนไซยะบุรีเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา กำลังอยู่ในสภาวะลำบาก เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินเพียงพอและขาดแคลนน้ำ แม้บริษัทเจ้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีได้จ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่ต้องโยกย้ายไปยังแปลงอพยพด้วยการสร้างบ้านและมอบที่ดินบางส่วนให้ ด้วยงบประมาณกว่า 4.47 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ที่ดินและแหล่งน้ำในพื้นที่แปลงอพยพนั้นกลับไม่เพียงพอ
ชาวบ้านนาตอใหญ่รายหนึ่งกล่าวเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาว่า “พวกเราปลูกพืชบนที่ดินที่ทางเจ้าของเขื่อนและเจ้าหน้าที่จัดหาให้ แต่มันไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรของครอบครัว และในหมู่บ้านเราก็กำลังขาดแคลนน้ำ”
ขณะที่ชาวบ้านที่ไม่ได้โยกย้ายไปยังแปลงอพยพ และอยู่ในเขตเมืองเพียง กล่าวว่า การดำเนินงานของเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่นๆบนแม่น้ำโขง ทำให้น้ำขึ้นลงผิดปกติมาก คาดการณ์ไม่ได้ โดยเขื่อนระบายน้ำบ่อยมากทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านและสวนผักของเรา
ชาวบ้านที่อยู่ในเมืองเงิน กล่าวว่า แปลงผักริมฝั่งแม่น้ำโขงถูกน้ำท่วมตลอด ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผิดปกติอย่างมาก บางครั้งระดับน้ำต่ำมากจนเห็นท้องน้ำแต่บางครั้งน้ำก็ขึ้นเร็วมากและท่วมแปลงผักของเราจนไม่มีเวลาเตรียมตัว เราจำเป็นต้องปลูกผักริมโขง เพราะว่าเราปลูกที่อื่นไม่ได้แล้ว
ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสวัสดิการสังคมและแรงงาน กล่าวว่า ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี ได้สัญญากับชาวบ้านที่ต้องถูกโยกย้ายจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีว่า จะจัดสรรที่ดินและสร้างบ้านให้ พร้อมค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารและเงินในช่วง 3 ปี เพื่อให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตสู่ปกติ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา หน่วยงานของจังหวัดได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและกำหนดเขตพื้นที่เสียงต่อการทำการเกษตรและแจ้งเตือนห้ามประชาชนเข้าไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งหากมีการละเมิดก็อาจจะต้องรับผิดชอบเอง
ทั้งนี้โครงการเขื่อนไซยะบุรี ดำเนินการโดยนักลงทุนไทยนั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนลาวในพื้นที่โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกิน
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย กล่าวในงานเสวนาด้านสิ่งแวดล้อม แม่โขง-อาเซียน ปี 2021 เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมาว่า “พลเมืองอาเซียนจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินทำกินและพื้นที่ป่าเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในอาเซียน โดยกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวนี้ ส่วนมากเป็นชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีโครงการเขื่อนไซยะบุรี โครงการโรงไฟฟ้าหงสา ในสปป.ลาว เป็นต้น ประเทศสมาชิกอาเซียนควรสนับสนุนให้ภาคธุรกิจนำหลักการสิทธิมนุษยชนมาใช้ในการดำเนินการธุรกิจ โดยต้องให้ความสำคัญและแสดงความรับผิดชอบจากการดำเนินธุรกิจของตนเองต่อประชาชนในพื้นที่ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะบริษัทที่ไปลงทุนข้ามประเทศพร้อมกับหลักประกันที่ว่า ชาวบ้านในพื้นที่สามารถออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองได้โดยไม่ถูกทำร้ายหรือถูกอุ้มหาย
ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า กรณีโครงการเขื่อนสานะคาม ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทจีนกำลังมีความคืบหน้า โดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กล่าวว่า รัฐบาลลาวตั้งใจจะสร้างเขื่อนสานะคาม แม้จะมีความล่าช้าอยู่ในขณะนี้ แต่ผู้พัฒนาโครงการคือบริษัทต้าถังคอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2028 ตามแผน เพื่อส่งไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทย และทางบริษัทจะใช้เงินจำนวนมากเพื่อหาเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากเขื่อน
โครงการเขื่อนสานะคาม กำลังการผลิต 648 เมกะวัตต์ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 3,000 คน 621 ครอบครัว ใน 13 หมู่บ้าน 3 อำเภอ ในแขวงไซยบุรีและเวียงจันทร์ โดยต้องอพยพชาวบ้าน 267 ครอบครัวใน 3 หมู่บ้าน โครงการนี้ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนไทย -ลาวเพียง 1.4 กิโลเมตร