เมียช ดารา และอานัน บาลิกา จาก VODenglish.news
ป้ายถนนที่พังทลายและเลือนราง ปักอยู่ตรงทางแยกในไร่อ้อย “รุยเฟิง”ของจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา ข้อความรางเลือนและมีรอยเปื้อนน้ำเขียนว่า ทางด้านขวาคือ แปลงปลูก ลานเฟิง (Lan Feng) ตรงไปข้างหน้าคือ แปลง เฮงลุย (Heng Rui) ไปทางตะวันออกคือแปลง เฮ็ง หยู (Heng Yue) และแปลงเฮงนอน (Heng Non) ทั้งหมดเป็นแปลงปลูกอ้อยขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 250,000 ไร่ หรือ 40,000 เฮกตาร์ของบริษัทสัญชาติจีนนามว่า “รุยเฟิง (Rui Feng)”
คูน้ำขนาดใหญ่ ลึกเกือบ 1 เมตร เต็มไปด้วยน้ำสีโคลนทอดยาวไปตามถนน รถบรรทุกขนาดใหญ่ขับผ่านคูน้ำอย่างนุ่มนวล ระบบกันสะเทือนส่งเสียงครวญครางแสดงถึงน้ำหนัก แต่รถบรรทุกคันนั้นไม่ได้บรรทุกอ้อย ไม่มีป่าอ้อยเลยในผืนดินแห่งนั้น กลับกลายเป็นพื้นที่โล่งเต็มไปด้วยนาข้าวที่พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว
ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์กุย (Kuy) กล่าวว่า บริษัทซึ่งครั้งหนึ่งเคยอ้างว่าเป็นแปลงปลูกอ้อยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้หยุดปลูกอ้อยตั้งแต่ประมาณปี 2562 แล้ว

ชาวบ้านหลายคนมีข้อพิพาทกับบริษัทมาตั้งแต่ปี 2555 ช่วงนั้น เมื่อบริษัทเริ่มบุกเบิกที่ดิน ชาวบ้านได้จัดให้มีการลาดตระเวนรายวันเพื่อเฝ้าระวังว่า การบุกรุกพื้นที่ป่าชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่วัดเก่าแก่ของพวกเขา ตอนนี้พวกเขากำลังย้ายกลับเข้าไปในที่ดินเดิม แม้ว่าบริษัทจะยังคงผลักดันพวกเขาออกไปและเสนอให้ชาวบ้านเช่าที่ดินพวกเขาถูกขับไล่และตอนนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว
เมื่อปลายเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ชาวบ้าน 5 คนนั่งอยู่ในกระท่อมไม้เป็นเสาสูง ห่างโรงงานผลิตน้ำตาลรุยเฟิง( Rui Feng)ไม่เกิน 2 กิโลเมตร ติดกับตัวโรงงานผลิตน้ำตาลคือบ้านพักคนงานที่ร้างไร้ผู้คน หน้าต่างในอาคารสูงสามชั้นเปิดกว้างทิ้งไว้ไม่มีร่องรอยการใช้งาน
ชาวกุยอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่าสองชั่วอายุคนกำลังเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกันทั้งเรื่องวัฒนธรรมพื้นเมืองและการสูญเสียที่ดินของบรรพบุรุษ
คาบ โสคี(Khab Sohky) เจ้าของที่ดินกระท่อมไม้แห่งนี้ เป็น ชาวนาวัย 35 ปี ตัวเขาเองไม่รู้ตัวเลขจำนวนที่ดินทำกินที่เขาครอบครองแน่ชัดนัก เขาเพียงแค่ชี้ต้นไม้ต้นหนึ่งไปทางซ้ายและอีกต้นหนึ่งไปทางขวาเพื่ออธิบายเขตดินแดนของเขา โดยเขาเพิ่งกลับมายังที่ดินเดิมและกำลังปลูกข้าว เขาเล่าว่า ทันทีที่เขากลับไปในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและตัวแทนของบริษัทที่ดินซึ่งเป็นชาวจีนมักมาพร้อมกับล่ามชาวกัมพูชา เพื่อขอให้เขาหยุดทำการเพาะปลูกเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา และขอดูเอกสารสิทธิ์ทำกิน
“ฉันถามว่า ทำไมพวกคุณถึงห้ามฉัน พวกเขาก็จะขอดูโฉนดที่ดินจากฉันทันที” โสคี กล่าว จากนั้น เขาก็ถูกสั่งให้ไปพบพบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและตัวแทนของบริษัท แต่โสคีก็ปฏิเสธอย่างราบเรียบว่า “ฉันบอกว่านี่คือที่ดินของฉัน”
อีกมุมหนึ่งของเพิงไม้ ระหว่างที่เตาไฟกำลังลุกโชน ต้มน้ำร้อนกำลังเดือด พรัค จัน ชาวนา วัย 50 ปี นั่งอยู่ข้างกองไฟ เขาลังเลที่จะพูดจึงนั่งเงียบ ๆ ฟังคนอื่นพูดเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขากับบริษัทรุยเฟิง (Rui Feng) แล้วเขาลุกขึ้นและเดินไปยังที่ดินของเขา
จัน (Chan) เล่าว่า เมื่อเร็วนี้ ๆ บริษัทน้ำตาลต้องการเช่าที่ดินของเขา จำนวน 15 เฮกตาร์ แต่เมื่อเขาปฏิเสธ บริษัทก็ยึดเอาที่ดินเกือบทั้งหมดไป เหลือไว้ให้เพียง 6.25 ไร่ หรือ 1 เฮกตาร์ เท่านั้น เขาพยายามพูดกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เพียงแต่ยักไหล่และกล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวได้มอบให้แก่บริษัทแล้ว
“ฉันไม่รู้ว่าต้องทำยังไง?” จัน พูด “พวกเขาได้แต่บอกว่า มันเป็นที่ดินของบริษัท ฉันจะทำอะไรได้บ้าง”
ขณะที่ ธน สุด (Thon Sut) ชาวนาสูงวัยสุดในกลุ่ม วัย 58 ปี กล่าวเพิ่มเติมว่า เขาเองก็ไม่แน่ใจว่า เขามีที่ดินมากเท่าไหร่ ก่อนที่บริษัทรุยเฟิงจะมาปรับที่ แต่ตอนนี้เขาเพาะปลูกได้ไม่เกิน 13ไร่ หรือ 2 เฮกตาร์ แล้วเขาชี้สุ่มไปที่สองจุดบนขอบฟ้า เพื่อให้นักข่าวประเมินว่า เขามีที่ดินเท่าใด เพื่อนคนอื่น ๆ ก็ประเมินว่า ไม่น่าจะเกิน 125 ไร่ หรือไม่เกิน 20 เฮกตาร์
สุด เคยเป็นหนึ่งชุดลาดตระเวนของหมู่บ้าน ทำหน้าที่ลาดตระเวนที่ดินของชุมชน เพื่อที่จะหยุดการบุกรุกและไถแปลงที่ดินในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขาและชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ได้ตั้งค่ายพักแรมในป่าและสื่อสารกับชุมชนอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของการบุกรุกที่ดิน หลายครั้งที่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับคนขับรถของ รถขนดินของบริษัทและขอให้พวกเขาหยุดเคลียร์ที่ดิน
“นี่คือป่าทั้งหมด เราเคยตัดต้นไม้บางส่วนเพื่อปลูกข้าว แต่ต้นไม้ยังเป็นเหมือนร่มเงาได้” เขากล่าว ในขณะที่เขารู้สึกไม่พอใจที่ที่ดินทั้งหมดที่ถูกไถป่าออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายวัดเก่าแก่โบราณในพื้นที่โดยบริษัทน้ำตาลดังกล่าว โดยวัดเก่าแก่ถูกทุบทิ้งจนไม่เหลือซาก ชาวบ้านคนอื่น ๆ พูดคุยกันเกี่ยวกับวัดและบอกว่า ไม่เหลือชิ้นส่วนหรือร่องรอยไว้ให้
สุด มองว่า การกลับคืนสู่ที่ดินดั้งเดิมของพวกเขา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ “พวกเขาไม่สนใจหัวหรือหางที่ดินของพวกเราตอนนี้เรากำลังพยายามเอาสิ่งที่เป็นของเรากลับคืน”
ไกลออกไป โรงงานผลิตน้ำตาลของรุยเฟิง (Rui Feng) ตั้งตระหง่านอยู่อย่างเงียบงัน บริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิดไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือเจ้าหน้าที่เลยสักคน ผู้สื่อข่าว VOD ไม่พบใครที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนงานหรือในโรงงานผลิตน้ำตาลเลยแม้แต่คนเดียว และได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทรุยเฟิง ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้ในกระทรวงพาณิชย์ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดในสัปดาห์นี้
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้มงวดกับการดำเนินงานของบริษัทเช่นกันและไม่ทราบถึงข้อเรียกร้องที่ชาวบ้านถูกขอให้จ่ายค่าเช่าเพื่อใช้ที่ดินทำการเพาะปลูก
คิม เฮือง (Kim Hoeung) หัวหน้าฝ่ายบริหารจังหวัดพระวิหาร ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบริษัทจีน และส่งต่อคำถามไปยังกระทรวงเกษตร แต่ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถติดต่อ เวง สากน (Veng Sakhon) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเพื่อขอคำตอบได้
เฮง พูน (Heng Phuon) ผู้ใหญ่บ้านชุมชนมาลุเปรย 1 (M’lou Prey I) ก็ไม่ตอบคำถาม กรณีที่ชาวบ้านถูกเรียกเก็บค่าเช่าที่ดิน เพียงแต่กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการติดต่อกับเจ้าของที่ดินทุกรายและจ่ายค่าชดเชยแล้ว เขาอ้างว่า ไม่ทราบเรื่องการเก็บค่าเช่าของบริษัท แต่ย้ำว่า ชาวบ้านไม่สามารถใช้ที่ดินได้ เพราะอยู่ในความครอบครองของบริษัทรุยเฟิง (Rui Feng)
“เมื่อมีคนมาอ้างสิทธิ์ในที่ดินและทำการเพาะปลูก มันไม่ถูกกฎหมายเพราะบริษัทมีเอกสารสิทธิ์” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิ ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น บริษัทรุ่ยเฟิง หรือสวนยางพาราตามแนวชายแดนตะวันออกและผลกระทบที่ยั่งยืนต่อชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะชนกลุ่มชาติพันธุ์
กลุ่มบริษัทน้ำตาลรุยเฟิง ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขการผลิตใด ๆ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2559 แม้จะอ้างว่ามีกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อวันก็ตาม การดำเนินงานดังกล่าวได้รับการยกย่องว่า เป็นประโยชน์สำหรับชุมชน และนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน เคยกล่าวว่า บริษัทจะใช้ขยะอ้อยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 39 เมกะวัตต์
ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า นอกจากทางลูกรังและถนนที่บริษัทวางไว้เพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยแล้ว พวกเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่แห่งนี้

ข้อมูลจากเอ็นจีโอท้องถิ่น องค์กร Punlok Khmer ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับชุมชน ระบุว่า เมื่อที่ดินไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ในการปลูกอ้อย บริษัทก็ควรคืนที่ดินนั้นให้ประชาชน และพวกเขาได้รับรายงานด้วยว่า บริษัทพยายามเก็บค่าเช่าจากชาวบ้านแทน หรือได้ทำลายพืชผลเพื่อตอบโต้ หากชาวบ้านไม่ยอมจ่ายเงินค่าเช่า
“นี่เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงที่สุด พวกเขาเป็นเจ้าของที่ดิน และตอนนี้พวกเขาต้องเช่าที่ดินจากบริษัทสัมปทาน” เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ประสงค์จะออกนาม กล่าว
ลอ จัน (Lor Chan) เจ้าหน้าที่ขององค์กร Adhoc Preah Vihear ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน เขากล่าวว่า การพัฒนาของบริษัทไม่คำนึงถึงชาวบ้านวิถีชีวิต และความต้องการของพวกเขาเลย แม้ว่า บริษัทจะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบ แต่ทางบริษัทรุยเฟิงก็นำคนงานจากภายนอกมาทำงานในแปลงปลูกอ้อย
“ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์จากบริษัทเลย และพวกเขายังต้องสูญเสียป่าและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ที่พวกเขาจะได้รับหากยังมีป่าและต้นไม้ต่างหลงเหลืออยู่ ”
ย้อนกลับไปที่กระท่อมไม้ ชาวบ้านกำลังเล่าถึงความสมบูรณ์ของป่าไม้ก่อนที่จะถูกถางกลายเป็นป่าอ้อย หนึ่งในนั้นกล่าวว่าพวกเขาสามารถล่าสัตว์ขนาดเล็กและหาปลาในลำห้วยเล็ก ๆ หลายสาย ซึ่งบัดนี้ไม่มีอีกแล้วหลังจากพื้นที่ถูกเปลี่ยนแปลง ผลผลิตจากป่าและการทำนาที่พอเพียงสามารถจุนเจือเลี้ยงดูพวกเขาได้
การเปลี่ยนแปลงที่ดินเหล่านี้ ส่งผลหนักกระทบอย่างหนักต่อครอบครัวของ สุท สารอน วัย 31 ปี เขากล่าวถึงการทำลายวัดเก่าแก่อีกครั้ง ซึ่งวัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 8 เขารู้สึกงุนงงที่ไม่มีใครรับผิดชอบการรื้อถอนวัดดังกล่าว
ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูญเสียที่ดินในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความทุกข์ยากรูปแบบใหม่แก่ชุมชน: การอพยพไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศ เพื่อขายแรงงานและการกู้ยืมสินเชื่อ สารอน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ครอบครัวของเขาไม่เคยเป็นหนี้เลย แต่เมื่อสูญเสียที่ดิน ตอนนี้เขาต้องกู้เงินเพื่อค้ำจุนและการทำเพาะปลูกของครอบครัว
“นี่เท่ากับการสูญเสียตัวตนของเรา เพราะเรากำลังสูญเสียวัฒนธรรมของเรา” เขากล่าว
——————
หมายเหตุ-เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ https://vodenglish.news/this-is-my-land-kuy-villagers-reclaim-preah-vihear-sugar-plantation