Search

ชนพื้นเมืองพม่าเรียกร้อง COP26 แฉเผด็จการทหารทำลายความหลากหลายชีวภาพ-ตักตวงทรัพยากรธรรมชาติแลกเงินเข้ากระเป๋านายพล-ลูกน้อง วอนประชาคมโลกอย่าให้การสนับสนุน

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 กลุ่มชาติพันธุ์-ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศพม่าได้ออกแถลงการณ์ในวาระที่ผู้นำโลกเข้าประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) หรือ COP26)

ผู้นำชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศพม่าแถลงถึงภัยคุกคามต่อชีวิต ที่ดิน และป่าไม้ของชนเผ่าพื้นเมือง หลังการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติด้านสภาพอากาศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ชุมชนพื้นเมืองของพม่าเรียกร้องให้รัฐบาลระหว่างประเทศ เครือข่ายภาคประชาสังคมทั่วโลก ให้สนับสนุนการต่อสู้เพื่อปกป้องป่าจากกองทัพพม่าที่พยายามทำลาย

แถลงการณ์ระบุว่า ในขณะที่ผู้นำโลกเริ่มการประชุมสุดยอดเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ โลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต การทำลายสิ่งแวดล้อม การขยายตัวของอาณานิคมและบริโภคนิยม ได้คุกคามอนาคตของโลก ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาชนพื้นเมืองได้แสดงและมีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าทั่วโลก ชุมชนพื้นเมืองมีส่วนสำคัญในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะถูกกีดกันจนเป็นชายขอบอย่างต่อเนื่อง พื้นที่และอาณาเขตของพวกเขาถูกบุกรุก ชุมชนพื้นเมืองในพม่าต้องดิ้นรนต่อสู้ที่จะปกป้องป่า ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พม่ามีพื้นที่ป่าดงดิบที่ใหญ่และสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพืชและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และคาร์บอนที่กักเก็บมากกว่าพันล้านเมตริกตัน ป่าไม้ และชุมชนที่จัดการพื้นที่เหล่านี้มี ต้องเผชิญกับความท้าทายและการคุกคามที่รุนแรงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่สงครามกลางเมือง  และการแสวงประโยชน์โดยบริษัท ขุดแร่ ตัดไม้ และธุรกิจการเกษตร แม้จะมีความท้าทายมากมายแต่ชุมชนได้ต่อสู้อย่างหนักเพื่อปกป้องและรักษาดินแดน ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ

ในเขตตะนาวศรี ทางตอนใต้สุดของพม่า ชุมชนต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ ตั้งแต่การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์โดยรัฐ  โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการขยายการทำเหมืองและธุรกิจการเกษตร แต่ชุมชนท้องถิ่นก็ได้ดิ้นรนเพื่อ ให้โครงการเหล่านี้ถูกยกเลิก และประกาศใช้วิสัยทัศน์การอนุรักษ์ของท้องถิ่น แม้ว่าจะมีภัยคุกคามมากมาย แต่ผืนป่าภายใต้การดูแลและควบคุมของชุมชนท้องถิ่นก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์ 

แถลงการณ์ระบุว่า ในรัฐกะเหรี่ยง พื้นที่ 546,000 เฮคแตร์ เป็นผืนป่าและความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญระดับโลก ซึ่งชุมชนชาวกะเหรี่ยงได้ร่วมกันประกาศให้เป็นอุทยานสันติภาพสาละวิน Salween Peace Park ซึ่งเป็นการริเริ่มด้านการอนุรักษ์โดยชุมชน ซึ่งรัฐกะเหรี่ยงต้องทุกข์ทรมานจากสงครามกลางเมืองมากว่า 70 ปี อุทยานสันติภาพสาละวินได้สร้างวิสัยทัศน์ในท้องถิ่นของ ความสงบสุข สันติภาพ ควบคู่กับความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม และความอยู่รอดของวัฒนธรรมดั้งเดิม

อุทยานสันติภาพสาละวิน เป็นพื้นที่ได้รับการจัดการผ่านแนวทางภูมิทัศน์เพื่อการอนุรักษ์ของชนพื้นเมือง ร่วมกันโดยชาวบ้าน 348 หมู่บ้าน ทำงานร่วมกันเพื่อรักษาและปกป้องสายพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

ในรัฐคะฉิ่น ทางเหนือสุดของปูเตา (Putao) เป็นภูเขาที่มีหิมะปกคลุมแห่งเดียวของพม่า ชุมชนชาวราวัง (Rvwang) ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองได้ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาและปกป้องดินแดนของพวกเขา จากการถูกคุกคาม ทั้งโดยการประกาศเขตอนุรักษ์โดยรัฐที่ไม่คำนึงถึงชุมชนท้องถิ่น และการคุกคามจากบุคคลภายนอกที่ต้องการดึงทรัพยากรออกจากพื้นที่ ชุมชนได้ทำงานอย่างหนักเพื่อเสริมสร้างระบบการจัดการทรัพยากรตามจารีตประเพณีในท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพพม่าได้ทำรัฐประหาร เป็นการลากพม่าให้กลับมาอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบเผด็จการ และนำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรง ที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน จับกุมมากกว่า 9,000 คน หมู่บ้านหลายร้อยแห่งถูกทำลาย การรัฐประหารก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองในพม่า และความพยายามที่จะปกป้องและรักษาป่าไม้ ที่ดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ

“ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจะสร้างแรงกดดันต่อป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ และความกระหายหาเงินอย่างไม่สิ้นสุดของกองทัพพม่าจะนำไปสู่ธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะตักตวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ”แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุว่า ประชาชนชาวพม่าต่างเห็นการตักตวงทรัพยากร ที่เพิ่มพูนเงินและรายได้ให้แก่นายพลและลูกน้องทหารเพียงไม่กี่คน แต่ต้องจ่ายด้วยทรัพยากรของประเทศ รัฐบาลทหารพม่าไม่สนใจที่จะบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กลับเป็นผู้ก่ออาชญากรรมด้านสภาพอากาศมาช้านาน

ชุมชนพื้นเมืองของพม่าเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ และผู้นำโลก อาทิ

1 ส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ เพิ่มและปกป้องระบบการจัดการที่ดินตามจารีตประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง โดยยอมรับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในอาณาเขตของตนอย่างถูกกฎหมาย

2. ให้อำนาจและสนับสนุนชุมชนพื้นเมืองให้สานต่อบทบาทในฐานะผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ชุมชนพื้นเมืองเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก โดยผสมผสานระบบการจัดการที่ดินและป่าไม้ตามธรรมเนียม เข้าไว้ในการสนับสนุนที่กำหนดระดับประเทศ (NDC)

3. ทำงานโดยตรงกับชุมชนพื้นเมืองโดยขยายการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิค สนับสนุนความคิดริเริ่ม และเสริมสร้างสถาบันที่ปกป้องป่าไม้ ที่ดิน และสิ่งแวดล้อม

4. สนับสนุนชาวพม่าในการต่อสู้เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยระดับสหพันธรัฐในประเทศ

5. ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ประชาคมระหว่างประเทศไม่ควรทำให้รัฐบาลทหารได้รับความชอบธรรมโดยมีส่วนร่วมกับพวกเขา เชิญพวกเขาให้เข้าร่วมแพลตฟอร์มหรือกิจกรรมระหว่างประเทศใด ๆ หรือให้การสนับสนุนทางการเมืองหรือทางการเงิน

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →