เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่า ศาลทหารเมียนมาตัดสินโทษประหารชีวิตประชาชน 21 คน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 จากข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการโจมตีเป้าหมายทางทหาร และอีก 29 คนได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยในบรรดาผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต ได้แก่ ผู้ถูกกล่าวหาว่าสังหารผู้บริหารท้องถิ่น 2 คนที่ได้รับแต่งตั้งจากทหารในนครย่างกุ้ง เมืองดากอนใต้ ตลอดจนผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลทางทหาร
ขณะที่ผู้ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตได้แก่ เยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่าเข้ารับการฝึกทหารในพื้นที่ควบคุมโดยกองทัพชาติพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าบริจาคเงินให้กับกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) และรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติของพลเรือน (NUG) และผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีด้วยระเบิดที่สำนักงานบริหารในอำเภอหล่ายตายาของนครย่างกุ้ง ตลอดจนผู้ประท้วงต่อต้านระบอบการปกครองในเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก
คำสั่งกฎอัยการศึกกำหนดความผิดไว้ 23 ข้อที่จะถูกพิจารณาในศาลทหารในเขตการปกครองที่กำหนด โดยทั้งหมดมีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต โดยความผิดดังกล่าวรวมถึงการทรยศหักหลัง ยุยงปลุกปั่น ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของทหารและข้าราชการ การเผยแพร่ข่าวเท็จ การครอบครองอาวุธ การเกี่ยวข้องกับสมาคมที่ผิดกฎหมาย การฆาตกรรม การข่มขืน การโจรกรรม การทุจริต การใช้ยาเสพติด และการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ
ทั้งนี้จนถึงสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าได้ตัดสินประหารชีวิตฝ่ายต่อต้านไปแล้วมากกว่า 65 คน โดยใน 65 คนนี้ มีผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี 2 คน ตามการรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง ซึ่งการใช้โทษประหารชีวิตในเมียนมาครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นใน ปี พ.ศ. 2531 โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ออกมาประณามโทษประหารชีวิต หลังการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมอย่างร้ายแรง การพิจารณาคดีเป็นความลับ และกฎระเบียบของหลักฐานและขั้นตอนที่บังคับใช้ในศาลพลเรือนจะไม่มีผลบังคับใช้กับศาลทหาร ซึ่งผู้ที่ถูกศาลทหารตัดสินจำคุกสามารถอุทธรณ์ได้เฉพาะกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหาร เพื่อยกเลิกคำตัดสินภายใน 15 วันหลังจากการพิจารณาคดี