เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 สำนักข่าว Shan News ของพม่า รายงานว่า รัฐบาลทหารเตรียมกลับมาเปิดโรงถลุงเหล็กลำดับที่ 2 (ปีงแปะ) อีกครั้ง ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านนังซี จังหวัดตองจี รัฐฉานทางใต้ และเป็นโรงถลุงเหล็กที่ใหญ่เป็นอันดับสองในพม่า ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2548 และได้ถูกให้ระงับไว้ในระหว่างรัฐบาล NLD เมื่อปี 2560 อย่างไรก็ตามรัฐบาลทหารพม่ากำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะให้มีการกลับมาดำเนินงานต่อ

ในเดือนมิถุนายน 2564 (5 เดือน หลังการรัฐประหาร) กระทรวงอุตสาหกรรมและเอกอัครราชทูตรัสเซียได้เข้าหารือกับรัฐบาลทหารที่เมืองเนปิดอว์ เกี่ยวกับความต่อเนื่องของโรงถลุงเหล็กปีงแปะ
หนังสือพิมพ์ของรัฐรายงานภายหลังหลังการประชุม ระบุ ว่าโรงถลุงเหล็กจะเริ่มเปิดดำเนินการอีกครั้งในปี พ.ศ.2566 ซึ่งจะกลายเป็นโครงการความร่วมมือในการแปรรูปเหล็กระหว่างรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท Myanmar Economic Corporation ของกองทัพพม่า และ บริษัท Gazprom ของรัสเซีย
ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการจะกลับมาเปิดโรงถลุงเหล็กอีกครั้ง โดยชาวบ้านกล่าวว่า “หากโรงถลุงเหล็กปีงแปะกลับมาเปิดอีกครั้ง เรากังวลว่าการยึดที่ดินจะเกิดขึ้นอีก”
ในปี 2548 ที่ดินทำกินของชาวบ้านมากกว่า 5,000 เอเคอร์ ถูกยึดโดยกรมการปกครอง และกองพันวิศวกรรมภาคพื้นดิน 903 เพื่อดำเนินโครงการโรงถลุงเหล็กปีงแปะ

“พวกเขายึดพื้นที่การเกษตรและพื้นที่สุสาน พื้นที่เกือบครึ่งหมู่บ้านถูกยึดไป หนึ่งครัวเรือนได้รับเงินชดเชย 100,000 จ๊าด (100 ดอลลาร์สหรัฐ)” Nan Khin Htay ชาวท้องที่ วัย 45 ปี เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2548
นอกจากการยึดที่ดินแล้ว ชาวบ้านยังกังวลเกี่ยวกับปัญหามลพิษต่าง ๆ โดย Kyaw Oo ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปีงแปะ กล่าวว่า “ถ้าเปิดโรงถลุงเหล็กอีกครั้ง น้ำเสียจะถูกทิ้งลงแม่น้ำที่ชาวบ้านใช้ทำการเกษตร อีกทั้งโรงโรงถลุงเหล็กใช้น้ำจำนวนมากในการสกัดเหล็ก เกษตรกรและชาวบ้านในท้องที่จึงกลัวว่าน้ำจะไม่พอใช้”
แม้ว่าโรงถลุงเหล็กปีงแปะ จะถูกระงับในปี 2560 แต่ผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ที่ดินที่เสียหาย ลำธารปนเปื้อนสารเคมี การริบพื้นที่ทำกิน การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าคือผลที่ตามมาในปัจจุบัน นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงถลุงเหล็กอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็กเล็ก
———————————————————
แปลและเรียบเรียง