สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง-คะเรนนีล้นทะลักค่ายพักพิงชั่วคราว ทหารพม่าสั่งห้ามชาวบ้านออกจากพื้นที่เชื่อต้องการทำโล่มนุษย์ ส่วนไทใหญ่ได้เจ้ายอดศึกเป็นประธาน RCSS ต่อ เร่งมือร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐฉาน

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 สำนักข่าว Mizzima รายงานว่า การสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ร่วมกับกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ดำเนินมากว่าหนึ่งเดือน โดยมีผู้ลี้ภัยจากการสู้รบเกือบ 50,000 คน ทั้งนี้นายซอนันดาซู โฆษกกลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (Karen Human Rights Group – KHRG) กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยการสู้รบเกือบ 50,000 คนอาศัยอยู่ใน 4 เขตของกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ได้แก่ กองพลที่ 1 เขตตะโถ่ง กองพลที่ 3 เขตหย่องเลบิน  กองพลที่ 5 เขตมือตรอ และกองพลที่ 6 ในเขตดูปลายา และมีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นในกองพลที่ 6 โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ได้หนีไปตามริมฝั่งแม่น้ำเมยที่ชายแดนไทย-พม่า

โฆษก KHRG กล่าวว่า แม้กลุ่มภาคประชาสังคมกะเหรี่ยงจะสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ที่หลบหนีข้ามพรมแดนได้ แต่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ที่หลบหนีทางฝั่งเมืองกอกะเร็กได้ เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปลอดภัย ผู้ที่ยังคงอยู่ที่นั่นยังคงไร้ความช่วยเหลือ

ปัจจุบัน ประชาชนราว 3,000 – 5,000 คนได้หลบหนีไปยังชายแดนไทยเนื่องจากการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงและประเทศไทยกำลังให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย แต่แหล่งข่าวหลายแห่งระบุว่าผู้ลี้ภัยยังคงต้องการความช่วยเหลือสำหรับการข้ามพรมแดน

ภาพจาก Myanmar Now

“สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในรัฐกะเหรี่ยงคือถ้าการโจมตีทางอากาศยังไม่หยุด อย่าว่าแต่จะได้กลับบ้านเลย อาจจะมีผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอีก ใครก็ไม่ปลอดภัย เพราะความปลอดภัยในหมู่บ้านชนบทพังราบ ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกดขี่มาโดยตลอดไม่เคยได้ยินคำพูดของรัฐบาลทหาร และไม่มีความไว้วางใจในการตั้งถิ่นฐานใหม่ เพราะต่างแผ่นดินกัน” โฆษกกลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง กล่าว

ในวันเดียวกันสำนักข่าว DVB (Democratic Voice of Burma) รายงานว่า ทหารพม่ากำลังปิดกั้นการอพยพของผู้ลี้ภัยจากการต่อสู้ในรัฐคะเรนนี โดยผู้ลี้ภัยในท้องถิ่นบอกว่า “ทหารพม่าได้สั่งห้ามไม่ให้ผู้คนออกจากพื้นที่และมีคำสั่งไม่ให้รับผู้ลี้ภัยในเมืองที่ผู้ลี้ภัยจะไป”

ทั้งนี้การต่อสู้ระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังพิทักษ์ตนเองแห่งชาติคะเรนนี (KNDF) และกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ในรัฐคะเรนนีเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมโดยทหารพม่าได้โจมตีด้วยอาวุธหลายชนิด ทำให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บ การโจมตีทางอากาศโดยทหารพม่ายังทำให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์หลายพันคนต้องลี้ภัยสงคราม 

ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งกล่าวว่า “ทหารพม่าต้องการใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์เพราะพวกเขารู้ว่ากองกำลังป้องกันประชาชนมีความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชน การสู้รบไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกองกำลังป้องกัน แต่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนของผู้คน สิ่งของมีค่าอื่น ๆ ในบ้าน ทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ถูกขโมยไป”

ภาพจาก https://www.facebook.com/wiwatchai.wiwatchai

ปัจจุบันจำนวนค่ายผู้ลี้ภัยไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความยากลำบากเพราะการอพยพอย่างเร่งด่วนและการขาดแคลนอาหาร ทั้งนี้เดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว ผู้บริสุทธิ์อย่างน้อย 30 ราย รวมถึงผู้สูงอายุและเด็กผู้บริสุทธิ์ เสียชีวิตจากการโจมตีของทหารพม่า

ในวันเดียวกันสภาเพื่อการฟื้นฟูรัฐฉาน (RCSS) ออกแถลงการณ์ ถึงผลการประชุม ครั้งที่ 22 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม  2465 ของคณะที่ปรึกษา- คณะกรรมการกลาง และเจ้าหน้าที่ของ RCSS  รวม 245 คน และการประชุมของสภา RCSS ครั้งที่ 3 วันที่ 16-17 มกราคม ที่กองบัญชาการดอยไตแลง รัฐฉาน ตรง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โดยที่ประชุมมีมติเลือกพล.อ.ยอดศึก เป็นประธานสภาเพื่อการฟื้นฟูรัฐฉาน ต่ออีก 1 วาระ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการบริหารกลางชุดใหม่ โดยมีวาระการบริหารงาน 4  ปี

แถลงการณ์ระบุว่า นโยบายของกรรมการชุดใหม่คือร่างรัฐธรรมนูญของรัฐฉาน ให้เป็นที่ยอมรับของทุกคน และให้เป็นไปตามขั้นตอนของรัฐบาลกลางรัฐฉาน ซึ่งจะได้จัดให้มีการประชุมระดับชาติอีกไม่นานนี้

ทั้งนี้ RCSS  เห็นด้วยกับการเข้ามามีส่วนร่วมการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองในพม่าของสหประชาชาติ อาเซียน และนานาชาติ และพร้อมจะให้ความร่วมมือ ขณะเดียวกัน RCSS  จะแก้ปัญหาหารขัดแย้งและจะหยุดการใช้อาวุธกับกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มอย่างสันติ โดยเชื่อว่า ปัญหาในพม่าจะสามารถแก้ไขได้หากเปลี่ยนการปกครองเป็น ”สหพันธรัฐ” ได้อย่างแท้จริง

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →