โดย ภาสกร จำลองราช
หลังจากได้รับฟังข้อมูลจากหลายฝ่ายในรัฐคะเรนนี ประเทศพม่า ทั้งนายพลบีทู ผู้บัญชาการกองกำลังคะเรนนี (Karenni Army) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP) เครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงชาวบ้านที่บ้านเรือนถูกทำลาย บวกกับข้อมูลจากข่าวสารทำให้เชื่อได้ว่าตอนนี้มีชาวคะเรนนีหรือกะเหรี่ยงแดงนับแสนคนกลายเป็นคนพลัดถิ่นและกำลังหนีภัยการสู้รบกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ตามป่าเขาในรัฐคะเรนนี ตามหมู่บ้านในรัฐฉานและบางส่วนเดินเท้ามาหลบภัยตามชายแดนไทย
ชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงแดงรายหนึ่งเล่าผ่านโทรศัพท์ว่า เขาและครอบครัวหนีออกจากเมืองลอยก่อตั้งแต่เช้าวันที่ 10 มกราคม 2565 หลังจากเมืองหลวงของรัฐคะเรนนีถูกทหารพม่าโจมตีอย่างหนักทั้งกลางวันและคืน
“พวกเรายังโชคดีที่สามารถขนอาหารติดตัวมาได้ แม้ไม่มากนัก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้โชคดีเช่นเรา พวกเขาต้องไปอาศัยอยู่ตามวัดและป่าเขา ช่วงนี้เรายังประคับประคองชีวิตไปได้ แต่หากการสู้รบยืดเยื้อต่อไปอีก พวกเราคงลำบาก อาหารคงหมด แต่ที่ลำบากมากๆตอนนี้คืออากาศหนาว ชาวบ้านจำนวนมากไม่มีเสื้อกันหนาวและผ้าห่ม เราหนีกันมาอย่างกะทันหัน” ชาวบ้านลอยก่อรายนี้อธิบายสถานการณ์ของผู้หนีภัยการสู้รบ โดยหมู่บ้านที่เขาไปอาศัยอยู่มีผู้หนีภัยราว 40 คน ซึ่งทุกคนรู้สึกเป็นห่วงบ้านที่เมืองลอยก่อ หลายครอบครัวจึงทิ้งสมาชิกที่เป็นผู้ชายไว้เฝ้าบ้าน
ขณะที่นายพลบีทู ผู้บัญชาการกองกำลังคะเรนนี (Karenni Army-KA) ของ KNPP เชื่อว่าสาเหตุที่กองทัพพม่าต้องทำลายเมืองลอยก่อเพราะมองว่าหากประชาชนอยู่ได้ ฝ่ายต่อต้านทหารพม่าก็อยู่ได้ จึงต้องการทำลายเมืองลอยก่อให้เป็นเถ้าถ่าน
“ดูสภาพอาการ ทหารพม่าน่าจะหมดแรงแล้ว ถ้ากำลังพลหมดก็หมดเลย ตอนนี้ทหารหนีทัพ บาดเจ็บ และตายจำนวนมาก เขาไม่รู้จะเอาใครไปเป็นทหารแล้ว เพราะประชาชนพม่าไม่ให้การสนับสนุน การสู้รบครั้งนี้จึงเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตผม รอบนี้เราต้องชนะ”ผู้นำกองกำลัง KNPP บอกอย่างมั่นใจ
คะเรนนีปกครองตนเองด้วยระบบกษัตริย์มายาวนาน แม้กระทั่งในยุคล่าอาณานิคมที่อังกฤษบุกยึดพม่า ชาวคะเรนนีก็ยังรักษาสถานภาพของตัวเองไว้ได้
กว่า 70 ปีที่ชาวกะเหรี่ยงแดงต้องต่อสู้กับพม่าเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพอย่างแท้จริง แม้เป็นเพียงรัฐเล็กๆแต่ประวัติศาสตร์อันภาคภูมิใจทำให้คะเรนนีไม่เคยว็อกแว็กในเกมเจรจาที่พม่าเป็นผู้กำหนด
แม้กระทั่งในช่วงที่พม่าเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ คะเรนนีก็ไม่ได้ลงนามในสัญญาปางโหลงที่ระบุว่าจะให้แต่ละชาติพันธุ์เป็นอิสระ เพราะชาวคะเรนนีถือว่าตัวเองเป็นรัฐอิสระอยู่แล้ว
แต่ทันทีที่พม่าเรียกร้องเอกราชประสบความสำเร็จในปี 2491 และนายพลเนวินของพม่าได้ฉีกสัญญาปางโหลงทิ้ง พร้อมกับการยึดอำนาจ รัฐคะเรนนีก็ถูกกองกำลังที่ใหญ่และเข้มแข็งกว่าของพม่ายึดครองและผนวกให้ส่วนหนึ่งของเขตแดนทันที
นับแต่นั้นมาชาวคะเรนนีจึงต้องจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าเรื่อยมาในนามพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni Nationnal Progressive Party:KNPP) โดยมีฐานที่มั่นอยู่ตามป่าเขาสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน จนปัจจุบันถอยร่นมาอยู่แนวตะเข็บชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน
แม้กองกำลัง KNPP ไม่โด่งดังและใหญ่โตเท่า KNU (Karen National Union) หรือ SSA (Shan State Army) แต่ความมุ่งมั่นในการทวงคืนอิสรภาพมีไม่น้อยกว่ากันเลย
“เป้าหมายของเราคือการปกครองตนเอง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย” นายพลบีทูย้ำถึงอุดมการณ์การต่อสู้ของทหาร KNPP ซึ่งขณะนี้กลุ่มเยาวชนคะเรนนีจำนวนมากต่างจับอาวุธหลังเกิดรัฐประหารในพม่า ขณะที่ประชาชนพม่าที่ต่อต้านการทำรัฐประหารของนายพลมิน อ่อง หลาย อีกจำนวนไม่น้อย ได้เดินทางขอร่วมฝึกอาวุธกับ KNPP ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้กองทัพพม่าโกรธมากและเป็นสาเหตุสำคัญในการส่งเครื่องบินรบโจมตีเมืองลอยก่อจนเสียหายยับเยิน และประชาชนนับแสนต้องกลายเป็นผู้หนีภัยการสู้รบ (อ่านสัมภาษณ์พิเศษนายพลบีทู https://transbordernews.in.th/home/?p=30159 )
คำถามสำคัญสำหรับประเทศไทยในยามนี้คือ การที่กลุ่มชาติพันธุ์โดยรอบกำลังเดือดร้อนและชาวบ้านจำนวนมากต้องหนีภัยการสู้รบมาจ่ออยู่แนวชายแดนด้านเหนือและตะวันตกของประเทศ แต่ทำไมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกลับถูกกีดกันจากทหารไทย โดยสื่อมวลชนและเอ็นจีโอถูกสั่งห้ามเด็กขาดไม่ให้เข้าถึงกลุ่มผู้หนีภัยเหล่านี้ มีการตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวดเพราะเป็นนโยบายจากผู้บริหารบ้านเมือง แต่ทหารไทยเองก็ไม่มีศักยภาพพอที่จะช่วยเหลือผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นเหล่านี้
เสียงวิจารณ์รัฐบาลไทยกำลังดังขึ้นทุกทีถึงความไร้น้ำใจและการกีดกันความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะตอบคำถามนี้อย่างไร ในเมื่อเราไม่สามารถปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือได้