เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 สำนักข่าว Mizzima รายงานว่า Human Rights Watch (HRW) เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรายได้จากก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลทหารพม่า โดยฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวเมื่อวันที่ 25 มกราคมว่า รัฐบาลทหารพม่าจะยังคงได้รับรายได้มหาศาลจากก๊าซธรรมชาติและภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป เว้นแต่ว่ามาตรการคว่ำบาตรจะขัดขวางรายได้จากต่างประเทศที่สนับสนุนการปกครองของรัฐบาลทหาร
จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า “เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีหลังจากการรัฐประหาร รัฐบาลทหารพม่ายังคงกระทำทารุณโหดร้ายโดยปราศจากการดำเนินการระหว่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลทหารจะไม่หันหลังให้กับความโหดร้ายและการกดขี่ของพวกเขา เว้นแต่รัฐบาลประชาคมระหว่างประเทศจะกดดันทางการเงินที่มีนัยสำคัญต่อพวกเขา”
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานน้ำมัน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทโททอลเอเนอร์ยี (TotalEnergies) จากฝรั่งเศส และ บริษัทเชฟรอน (Chevron) จากสหรัฐอเมริกา ประกาศถอนการลงทุนจากพม่า เนื่องจากสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กำลังเลวร้ายลง
ทางด้านบริษัทปตท. (PTT) จากประเทศไทยหนึ่งในหุ้นส่วนที่เหลือในโครงการยาดานา (Yadana) ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นร้อยละ 25.5 ของโครงการ ประกาศว่า “กำลังพิจารณาทิศทางที่เป็นไปได้ของโครงการยาดานา”
ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่นและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ควรมีจุดยืนร่วมกันในการคว่ำบาตรรายได้ของรัฐบาลทหารพม่า อีกทั้งบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ 2 แห่งที่เหลือในพม่า ได้แก่ PTT ของไทยและ POSCO ของเกาหลีใต้ควรแสดงการสนับสนุนมาตรการดังกล่าว
ทั้งนี้โครงการก๊าซธรรมชาติในพม่าสร้างรายได้จากต่างประเทศกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีให้กับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดเพียงแหล่งเดียว โดยเงินจะถูกส่งเป็นดอลลาร์สหรัฐไปยังบริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) และบัญชีธนาคารอื่นที่กองทัพควบคุมในต่างประเทศ รายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่มาจากท่อลำเลียงก๊าซที่ส่งไปยังประเทศไทยหรือจีน