Search

อดีตนายทหารพม่าปอกเปลือกกองทัพ

โดย ภาสกร จำลองราช

หลังจากเกิดการรัฐประหาร 3 เดือน เขาก็หันหลังให้กับกองทัพพม่าในทันทีที่เห็นภาพทหารยิงประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นอาชีพที่มั่นคงและเขาเองยังเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่มีอนาคตไกล

“กัปตันซีโร่” หนีออกจากกองบัญชาการทหารในเมืองมะเกว มาอยู่กับกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force – PDF) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

“พอเกิดรัฐประหาร ตอนแรกๆ ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พอผ่านมาสักพักเห็นกองทัพทำร้ายประชาชน ฆ่าประชาชน ผมรู้เลยว่ามันไม่ใช่ เรารับไม่ได้”

การทำรัฐประหารของกองทัพพม่าซึ่งนำโดย พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ได้สร้างความตระหนกให้กับประชาชนพม่าและรวมตัวกันต่อต้านครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ท่ามกลางห่ากระสุน อาวุธสงครามนานาชนิดที่มีไว้ป้องกันประเทศแต่กลับถูกนำมาใช้ประหัตประหารประชาชน

กัปตันซีโร่เกิดที่นครย่างกุ้ง หลังจากเรียนจบมัธยมปลายเมื่อปี 2009 เขาได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนทหารแห่งหนึ่งตั้งแต่อายุ 16 ปี หลังจากนั้นอีก 5 ปีเขาเรียนจบและเข้าทำงานในกองทัพพม่า กระทั่งได้ติดยศเลื่อนขั้นตามลำดับจนได้ 3 ดาวในวัย 29 ปี

“สาเหตุที่ผมเลือกเรียนทหาร เพราะตอนเด็กชอบดูหนังและเห็นทหารมีบทบาทเป็นพระเอก โดยเฉพาะการป้องกันประเทศ ภาพที่ผมจำมาตลอดคือทหารดูแลประเทศชาติ พอมาทำงานจริงก็มีความสุขดี เราอยู่ข้างในกันอย่างพี่ๆ น้องๆ ไม่เคยมีปัญหาอะไร เพราะทหารถูกหล่อหลอมให้รักกัน”

ถ้าไม่มีรัฐประหารเขาคงมีความสุขกับการทำหน้าที่นายทหารสรรพาวุธไปได้เรื่อยๆ แม้ไม่เคยออกรบในพื้นที่เพื่อป้องกันประเทศเหมือนที่คิดไว้ แต่เขาก็ภูมิใจกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

“สิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาโดยตลอดจากผู้บังคับบัญชารุ่นแล้วรุ่นเล่าคือ พวกกลุ่มชาติพันธุ์คือศัตรู กองทัพจึงต้องกำจัดศัตรูโดยสร้างความแตกแยกให้คนพวกนั้น เพื่อกองทัพจะสามารถกุมสภาพได้”

นายทหาร 3 ดาวอย่างเขาได้รับเงินเดือนราว 3 แสนจ๊าด หรือ 6 พันบาท ขณะที่ทหารระดับล่างลงมาได้เงินเดือน 1.5 แสนจ๊าด แม้เงินเดือนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นในยามที่เศรษฐกิจของพม่าเริ่มดีขึ้นในยุคเปิดประเทศ แต่เขาก็ยินดีที่ได้ประกอบอาชีพนี้

“เหตุผลหลักเพราะในสังคมพม่า เรามีทางเลือกหางานน้อยมากโดยเฉพาะผู้ชาย คนที่จบมหาวิทยาลัยก็ไม่มีงานทำ พ่อแม่และครอบครัวจึงอยากให้เป็นทหาร อย่างน้อยก็มีงานทำ ได้อยู่ในสังคมที่มีหน้ามีตาเพราะในประเทศเรา ทหารได้รับการยกย่อง”

ทหารเกือบทั้งหมดในหน่วยที่เขาประจำการอยู่เป็นชาติพันธุ์พม่า เช่นเดียวกับทหารของกองทัพพม่าส่วนใหญ่ก็เป็นคนพม่าเช่นกัน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่กลุ่มชาติพันธุ์จะเล็ดลอดเข้าไป

“สิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาโดยตลอดจากผู้บังคับบัญชารุ่นแล้วรุ่นเล่าคือ พวกกลุ่มชาติพันธุ์คือศัตรู กองทัพจึงต้องกำจัดศัตรูโดยสร้างความแตกแยกให้คนพวกนั้น เพื่อกองทัพจะสามารถกุมสภาพได้” เขาถ่ายทอดแนวความคิดที่หล่อหลอมบรรดาทหารให้สามารถอธิบายกับตัวเองเพื่อทำร้ายประชาชนทุกชาติพันธุ์ได้

“สิ่งที่พวกเราถูกปลูกฝังตลอดคือใครทำร้ายกองทัพคือศัตรู ทำให้พวกเราจดจำมาตลอด เมื่อตอนพรรคเอ็นแอลดีเป็นรัฐบาล เขาพยายามทำลายระบบทหาร พอประชาชนประท้วงก็เท่ากับเอ็นแอลดีทำร้ายกองทัพ ดังนั้นทหารต้องกำจัดศัตรู”

ก่อนตัดสินใจออกจากกองทัพ กัปตันซีโร่ได้คุยกับเพื่อนๆ ทหารในหน่วยงานเพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีการของกองทัพ แต่เพื่อนบอกว่าการทำร้ายประชาชนเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ  “เราจึงคิดไม่เหมือนกัน ผมเลยตัดสินใจว่าอยู่เช่นนั้นต่อไปไม่ได้แล้ว ผมจึงหนีออกมา”

ภาพจาก www.news.cn

หลังจากหนีออกจากกองทัพพม่า เขาได้หลบซ่อนและเข้าร่วมกับกองทัพประชาชน มีตัวเลขที่น่าสนใจที่เขารวบรวมไว้คือมีทหารและตำรวจราว 7 พันคนที่หนีมาอยู่ฝ่ายประชาชน

“ผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วก็มีทหารต้องการหนีออกมาอีกเยอะ แต่ที่เขาไม่กล้านั้น ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องครอบครัวอย่างเดียวแต่เพราะมีความกังวลหลายอย่าง เขาไม่รู้ว่าออกมาข้างนอกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ออกมาแล้วจะไปอยู่ที่ไหน”

 ปัจจุบันแม้ข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณชนระบุว่ากำลังพลทางทหารของกองทัพพม่ามีไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญในแง่ปริมาณที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับต้นของโลก แต่อดีตนายทหารอย่างเขาให้ข้อมูลในอีกมุมมองหนึ่ง

“ผมคิดว่าต้องแยกแยะให้ดี เอาเข้าจริงๆ ผมคิดว่าทหารพม่าที่อยู่ในฝ่ายสู้รบมีไม่เกิน 1 แสนคน ที่เหลือเป็นฝ่ายธุรการ ทหารเกณฑ์ และอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีทักษะการสู้รบแบบทหาร ที่สำคัญคือเขาไม่มีกำลังใจเพราะประชาชนแทบทั้งหมดไม่มีใครอยู่ฝั่งทหาร กำลังของประชาชนมีเยอะกว่าทหารมาก ถ้าสู้กันต่อไป สักวันหนึ่งผมคิดว่าประชาชนจะชนะ”

ความเชื่อและความจริงของกัปตันซีโร่จะเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ ยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ แต่ข้อเท็จจริงที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศลุกขึ้นมาต่อต้านการทำรัฐประหารของทหารพม่า ได้สร้างความหวังและแสงสว่างให้กับเหล่านักต่อสู้

“ผมอยู่ในขบวนการต่อต้านเผด็จการทหารและจะสู้จนกว่าชนะ สู้ต่อไปเรื่อยๆ หากวันหนึ่งอำนาจกลับคืนมาสู่มือประชาชน ผมก็พร้อมที่จะหยุด และกลับไปใช้ชีวิตธรรมดา อยากเห็นภาพประเทศของตัวเองเป็นประชาธิปไตย”

ประชาธิปไตยที่เขาพูดถึงต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้ออย่างแท้จริง และใกล้ครบรอบ 1 ปีที่ประชาชนลุกขึ้นจับอาวุธ ขณะที่หลายพื้นที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และ PDF ถูกโจมตีอย่างหนักด้วยอาวุธที่เหนือกว่า ทำให้หลายคนเป็นห่วงว่าความหวังของเขาและประชาชนจะเป็นจริงได้ยาก

“ยุคสมัยนี้ไม่เหมือนรัฐประหารครั้งก่อนๆ การติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงถึงกันหมด อาวุธสงครามอย่างเดียวอาจไม่ใช่ตัวตัดสินแพ้ชนะ ระบบเทคโนโลยีและความคิดของคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าต่างสู้กันเต็มที่ ที่สำคัญคือประชาชนเกือบทั้งหมดไม่มีใครอยู่ฝั่งทหาร”

อดีตนายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้นี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้กองทัพพม่าจะดูเหมือนยิ่งใหญ่ แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยการสร้างควาหวาดกลัวให้กำลังพลซึ่งมีฐานะยากจน ขณะที่ตัวผู้นำกองทัพกลับร่ำรวยจากการทุจริต

“เขาอ้างถึงเหตุผลการยึดอำนาจว่าพรรคเอ็นแอลดีโกงการเลือกตั้ง แต่เหตุผลที่แท้จริงคือนายทหารระดับสูงและครอบครัวต่างมีธุรกิจที่ไม่ยอมเสียภาษี เขากลัวการถูกตรวจสอบและกลัวว่าเรื่องราวเหล่านี้จะถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เขาจึงต้องทำรัฐประหาร”

“…ที่สำคัญคือเขาไม่มีกำลังใจเพราะประชาชนแทบทั้งหมดไม่มีใครอยู่ฝั่งทหาร กำลังของประชาชนมีเยอะกว่าทหารมาก ถ้าสู้กันต่อไป สักวันหนึ่งผมคิดว่าประชาชนจะชนะ”

มุมมองของกัปตันซีโร่ ย่อมแตกต่างจากเหตุผลของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เพราะไม่ว่าหัวหน้ารัฐประหารประเทศไหน จะกี่ยุคกี่สมัย ต่างก็อ้างผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง แต่เนื้อแท้มักกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งวันเวลาจะพิสูจน์ข้อเท็จจริง

“ผมคิดว่าจุดอ่อนหรือความกลัวของผู้นำกองทัพพม่า คือตอนนี้ประชาชนเกลียด ผมยกตัวอย่าง หากทหารต้องกลับบ้านที่อยู่นอกหน่วย พวกเขาทำแทบไม่ได้เพราะออกมาก็กลัวความเกลียดชังของประชาชนที่มีให้”

วันนี้กัปตันซีโร่และประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศพม่า ต่างลุกขึ้นสู้กับกองทัพทหารพม่าจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง เพราะพวกเขาไม่สามารถยอมจำนนต่อระบบเผด็จการทหารที่มีมายาวนานได้อีกต่อไป

ขณะที่บทบาทของรัฐบาลไทยซึ่งมีผู้นำประเทศมาจากจุดเริ่มต้นในลักษณะเดียวกันกับผู้นำกองทัพพม่า ทำให้ดูมีท่าทีกระอึกกระอักกระยึกกระยัก แม้แต่เรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งภายในประเทศและเวทีโลกดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ

———–

หมายเหตุในโอกาสครบ 1 ปีรัฐประหารในพม่า หลายองค์กรต่างจัดงานระลึกดังนี้

1. นิทรรศการภาพถ่าย Women out on the Streets for a New Burma
สถานที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ Foreign Correspondents’ Club of Thailand (FCCT)
24 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์

2. นิทรรศการศิลปะ Defiant Art: A Year of Resistance to the Myanmar Coup in Image
สถานที่ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC)
18 มกราคม-13 กุมภาพันธ์

3.นิทรรศการศิลปะ  “In-Exile”
สถานที่ WTF Cafe & Gallery Bangkok
1-2 กุมภาพันธ์ เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนเท่านั้น

4.นิทรรศการศิลปะ “365 Days after…”
สถานที่ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC)
1-27 กุมภาพันธ์

5.วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ 1 ปีรัฐประหารพม่า
1 กุมภาพันธ์ เวลา 13.30-15.30

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →