เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารในพม่า โดยประชาชนในหลายเมืองทั่วประเทศได้ออกมาประท้วงเงียบคือไม่ออกจากบ้าน เพื่อสะท้อนการไม่ยอมรับกองทัพพม่า และร่วมระลึกถึงประชาชนที่เสียชีวิตจากการปราบปรามในระหว่างประท้วง หรือถูกสังหารโดยทหารพม่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา
สำนักข่าวดีวีบีรายงานว่า ประชาชนในเมืองพุกาม แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของพม่า และประชาชนในบางพื้นที่ เช่นที่ เขตมะกวย เขตสะกาย เมืองมัณฑะเลย์ เขตพะโค เป็นต้น ได้ออกมาร่วมประท้วงเงียบ ไม่ออกจากบ้านในวันนี้ ขณะที่เมืองเม่เมี่ยวหรือเมืองปวิ่นอูหลิ่น ซึ่งเป็นเมืองที่มีโรงเรียนทหารพม่าตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ประชาชนในเมืองนี้ได้ออกมาติดป้ายสนับสนุนกองทัพปกป้องประชาชน หรือ PDF
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 มกราคม กองทัพพม่าได้ออกมาประกาศที่จะต่ออายุการบริหารประเทศของกองทัพออกไปอีก 6 เดือน โดยอ้างว่าทำตามภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 มาตรา 429 ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของกองทัพพม่า ระบุไว้ว่า เหตุที่กองทัพต้องยึดอำนาจออกไปอีก 6 เดือน เนื่องจากประเทศยังเกิดเหตุความไม่สงบ โดยระบุว่า ในรัฐชินและเขตสกายยังมีกลุ่มก่อการร้ายที่สร้างไม่สงบให้เกิดขึ้นในประเทศ
ขณะที่สำนักข่าว SHAN ในภาษาไทใหญ่ รายงานว่าประชาชนในเมืองโต๋น ภาคตะวันออกของรัฐฉาน ราว 1,000 คน ถูกเกณฑ์ให้ออกมาถือป้ายสนับสนุนกองทัพพม่าที่ทำรัฐประหาร ชาวบ้านรายหนึ่งเปิดเผยว่า ถูกผู้ใหญ่ในพื้นที่บังคับให้ออกมาเดินสนับสนุนกองทัพพม่า จึงไม่สามารถขัดคำสั่งได้ แม้ไม่ได้เต็มใจที่จะออกมาสนับสนุนกองทัพที่ทำรัฐประหารแต่อย่างใด
ทั้งนี้ประชาชนที่ถูกเกณฑ์ครั้งนี้มีทั้งชาติพันธุ์ลาหู่ ลีซอ จีน ว้า และไทใหญ่ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ นอกจากเมืองโต๋นแล้ว เมืองอื่นๆ ในรัฐฉาน อย่างเมืองสาด เมืองพยาก เมืองตองจี เมืองหลอยแหลม เมืองป๋างโหลง และเมืองล่าเสี้ยว ก็มีประชาชนบางส่วนออกมาเดินสนับสนุนกองทัพพม่าด้วยเช่นเดียวกัน
สำนักข่าว SHAN ยังรายงานว่า ประชาชนในเมืองท่าขี้เหล็กที่ออกมาเดินสนับสนุนกองทัพพม่าได้ถูกกลุ่มไม่ทราบฝ่ายปาระเบิดใส่ โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นทหารพม่า แต่ยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขได้ชัดเจน หลังเกิดเหตุทหารพม่าได้ไล่ทุบตีทำร้ายเยาวชนที่อยู่รอบๆ พื้นที่เกิดเหตุ
ด้านสำนักข่าว Irrawaddy วิเคราะห์ว่า ถึงแม้จะครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารและการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่า กองทัพพม่ากำลังเจอกับวิกฤติหนัก เนื่องจากไม่สามารถรวบรวมอำนาจและควบคุมสถานการณ์การจลาจลได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถควบคุมกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพพม่าได้ เช่น การก่อตั้งกองทัพเพื่อประชาชน PDF ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้แบบกองโจรกับกองทัพพม่าทั่วประเทศ แม้กองทัพพม่าจะปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยอย่างหนักด้วยวิธีการโหดร้าย แต่การประท้วงของประชาชนก็ยังคงดำเนินไปในหลายพื้นที่และประท้วงต่อต้านกองทัพพม่าในหลากหลายรูปแบบ
ในขณะเดียวกันเพื่อให้ตนเองมีอำนาจต่อไป กองทัพพม่าได้ปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วย ทั้งการจับกุมขัง ทรมานเป็นวงกว้าง หรือการเผาทำลายหมู่บ้าน โจมตีทางอากาศตามอำเภอใจ การกระทำเหล่านี้จะยิ่งส่งผลให้เกิดความไม่เสถียรภาพมากขึ้นและส่งผลกระทบที่เลวร้ายมากขึ้นในแง่ด้านมนุษยธรรม ความใช้รุนแรงเหล่านี้ ยังส่งผลให้ผู้พลัดถิ่นภายในและผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับวิกฤติร้ายแรงตามไปด้วย
การยึดอำนาจของกองทัพยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจย่ำแย่ การบริการสาธารณะพังทลาย ครู หมอและพยาบาลจำนวนมากได้เข้าร่วมกับประท้วงอารยะขัดขืนไม่ทำงานให้กับรัฐบาลภายใต้การนำทหาร ประชาชนหลายล้านคนต้องตกงาน เนื่องจากการรัฐประหารและโรคระบาดโควิด – 19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในพม่าเป็นสองเท่า ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว การไม่แสดงท่าทีใดๆของนานาชาติจะยิ่งทำให้กองทัพพม่าก่ออาชญากรรมต่อประชาชนของตัวเองต่อไป