เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าว RFA Burmese รายงานว่า นักวิเคราะห์การเมืองพม่ารวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (National Unity Government: NUG) ยินดีกับการตัดสินใจของกัมพูชาที่เผยว่าจะไม่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศจากพม่า แต่ขอให้ตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในปลายเดือนนี้แทน
ก่อนหน้านี้สำนักข่าว VOA ภาคภาษากัมพูชารายงานว่า กัมพูชาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน กล่าวว่า วันนาหม่องลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่าจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมทางการทูตระดับสูงของ 10 ประเทศ ณ กรุงพนมเปญในเดือนนี้
Chum Sounry โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า “เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ดังนั้นประเทศสมาชิกจากอาเซียนจึงไม่สามารถตกลงกันได้ว่า ควรที่จะเชิญรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศที่มาจากการแต่งตั้งโดยสภาบริหารแห่งรัฐของพม่า (SAC) ให้มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้หรือไม่”
“เราสนับสนุนให้พม่าส่งตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองเข้าร่วมการประชุมแทนการปล่อยให้ที่นั่งว่าง และให้พม่าเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครควรเป็นตัวแทน” Chum Sounry กล่าวกับสำนักข่าว Reuters
โดยการประชุมดังกล่าว ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เป็น 1 ในการประชุมประจำปีที่โดดเด่นที่สุดของกลุ่มภูมิภาค มีกำหนดจะจัดขึ้นที่พนมเปญในวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2565
ตามรายงานจากสำนักข่าว RFA Burmese ระบุว่า โบหละติ้ง (Bo Hla Tint) รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนของรัฐบาล NUG ให้ความเห็นว่า นี่เป็นคำแถลงที่หนักแน่นว่าอาเซียนจะดำเนินการต่อไปตราบเท่าที่พม่าปฏิบัติตามข้อตกลงทั้ง 5 ฉบับ
“อาเซียนเน้นย้ำถึงข้อตกลง 5 ประการที่ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศที่แต่งตั้งโดยSACจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอีกต่อไป เรายินดีกับการตัดสินใจของอาเซียนที่จะไม่เชิญรัฐมนตรีการต่างประเทศเข้าร่วมในการประชุม” โบหละติ้ง กล่าว
ด้านนายตานโซหน่าย นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวว่า คำแถลงของอาเซียนเป็นข่าวดีเพราะชาวพม่าต่างก็ยืนหยัดเพื่อการต่อสู้กับรัฐบาลทหารอย่างกล้าหาญ
“ผมคิดว่านี่เป็นข่าวดีสำหรับ NUG และประชาชนในประเทศของเรา ในช่วงนี้มีภารกิจทางการทูตกับกัมพูชา รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ SAC หลายครั้ง ฉันทำกิจกรรมหลายอย่าง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่แม้แต่ประชาคมระหว่างประเทศก็ยังกังวล อาเซียนจะเปลี่ยนการตัดสินใจของอาเซียนตามจุดยืนของกัมพูชาหรือไม่ เราจับตาดูด้วยความเป็นห่วงว่าจะยืนหยัดต่อไปได้หรือไม่ แต่เมื่ออาเซียนแถลงเช่นนี้ เราจะเห็นได้ว่าจุดยืนของอาเซียนแข็งแกร่งเพียงใด และประชาชนของเราเข้มแข็งเพียงใดในการต่อต้านรัฐบาลทหาร” นายตานโซหน่าย กล่าว
ขณะที่สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ยังดำเนินไปอย่างดุเดือด โดยสื่อออนไลน์ Karenni’s Voice รายงานว่า บ่ายวันนี้ (4 กุมภาพันธ์) ทหารพม่าได้ยิงปืนใหญ่ใส่เมืองดีมอโซ บริเวณหมู่บ้านโซมอแตและหมู่บ้านลอซิ ในระหว่างการสู้รบกับกองกำลังพิทักษ์ตนเองแห่งชาติคะเรนนี (KNDF) ส่งผลให้พลเรือน 3 คนได้รับบาดเจ็บ และบ้าน 2 หลังได้รับความเสียหาย โดยเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ของทหารพม่าบินวนตลอดทั้งเช้า แต่ยังไม่มีรายงานการโจมตีทางอากาศ
ด้านสำนักข่าวกันตรวดีไทมส์ (Kantarawaddy Times) รายงานว่าสถานการณ์ผู้ลี้ภัยทางตะวันตกของเมืองพรูโซ รัฐคะเรนนี กำลังขาดแคลนอาหาร และเผชิญกับอากาศที่หนาวจัด โดยเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยกล่าวว่า ค่ายผู้ลี้ภัยทางตะวันตกของพรูโซ มีเสบียงอาหารเหลือเพียง 1 เดือนสำหรับผู้ลี้ภัยมากกว่า 6,000 คน เนื่องจากทางทิศตะวันตกของพรูโซอยู่ไกลจากตัวเมือง อีกทั้งรถขนส่งอาหารจะถูกตรวจสอบโดยทหารพม่า ทำให้การขนส่งอาหารเป็นไปอย่างยากลำบาก
“ตอนนี้ถนนถูกปิด ทางเข้าจากด้านบนและทางเข้าจากเมืองตองอูทั้งหมดถูกทหารพม่าควบคุม การขนส่งสิ่งของ เช่นข้าวสารห้ามนำเข้ามากกว่า 20 ถุง ส่วนพวกยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าไป”
ปัจจุบัน ค่ายผู้ลี้ภัยทางตะวันตกของพรูโซกำลังเผชิญกับอากาศที่หนาวเย็นเป็นอย่างมาก และเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ท่อน้ำและปั๊มยังมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อจัดหาน้ำให้กับผู้ลี้ภัย โดยจำนวนผู้ลี้ภัยในรัฐคะเรนนีมีมากกว่า 170,000 คน