Search

นักวิชาการชี้การหารือระหว่างรัฐบาลทหารพม่า-กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เป็นไปได้ยาก เหตุขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน หลายกองกำลังออกมาปฏิเสธ

ภาพประกอบ ตัวแทน KNLA, RCSS และ KNU ในการลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ภาพจาก The Myanmar Times/ มินอ่องหล่าย ภาพจาก mi.ru

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ผศ.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลทหารพม่าเชิญองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) ที่ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) หารือเกี่ยวกับสันติภาพในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ว่าสถานการณ์ตอนนี้กับก่อนรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 มีบริบทแตกต่างกัน โดยเฉพาะเงื่อนไขของกลุ่มชินและกะเหรี่ยง ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มบอกแล้วว่าจะไม่เข้าร่วม ที่สำคัญคือทั้ง 10 กลุ่มที่ได้ลงนามในกระบวนการสันติภาพนั้น การเดินหน้าคือเจรจาผ่านกฎไกลรัฐบาล แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นการหารือคงทำได้แค่เพียงรอบนอกหรือการประชุมแบบไม่เป็นทางการเพราะยังขาดซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจ

ผศ.ฐิติวุฒิกล่าวว่า ทางออกที่เป็นไปได้คือทั้ง 2 ฝ่ายคือกองทัพพม่าและกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต้องหยุดยิงก่อน โดยเฉพาะการเคลื่อนกำลังของกองทัพพม่าเข้ามาในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นก่อน ที่สำคัญคือลดทอนการสูญเสียจากการปะทะ

ผู้สื่อข่าวถามถึงบทบาทของรัฐบาลไทยควรเป็นอย่างไร ผศ.ฐิติวุฒิกล่าวว่า ในเรื่องการเจรจาขอให้หยุดยิงประเทศไทยคงเข้าไปแทรกแซงได้ยาก แต่สามารถทำได้ร่วมกับสหประชาชาติเพราะหลากหลายประเด็นมีเงื่อนไขแตกต่างจากก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประเทศไทยควรเน้นเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

เมื่อถามอีกว่าหลายฝ่ายจับตาดูเรื่องการฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 ว่าจะมีผลกับการสู้รบในพม่าหรือไม่ ผศ.ฐิติวุฒิกล่าวว่า การฝึกครั้งนี้ไม่ได้อยู่ในภาคเหนือ ซึ่งไม่แน่จะมีผลหรือไม่ แต่ถ้าฝึกภาคเหนืออาจมีผล ที่สำคัญการฝึกครั้งนี้ได้ลดกำลังพลลง ขณะเดียวกันหากฟังจากการสัมภาษณ์ของเอกอัคราชทูตอเมริกา เห็นได้ว่าเขาค่อนข้างระมัดระวังตัวมากเพราะถูกจับตาเป็นพิเศษ การที่เขาจะเข้ามาทุ่มกำลังไปที่พม่าคงค่อนข้างยาก เพราะตอนนี้กำลังติดหล่มอยู่ที่สถานการณ์ในยูเครน เช่นเดียวกับประชาคมโลกต่างให้ความสนใจยูเครนมากกว่า แต่สิ่งที่สหรัฐฯ อาจจะทุ่มเทคือเรื่องของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ขณะที่สำนักข่าวอิรวดี (Irrawaddy) รายงานว่า รัฐบาลทหารพม่าออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เพื่อเชิญองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) ที่ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) และผู้ที่ยังไม่ได้ลงนาม ให้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองวันสหภาพ ครบรอบ 75 ปี ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ รวมทั้งหารือเกี่ยวกับสันติภาพที่ยั่งยืน โดยองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) ส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วม

ข้อเสนอนี้มีขึ้นในขณะที่รัฐบาลทหารพม่าต้องดิ้นรนเพื่อควบคุมประเทศ 1 ปีหลังจากการรัฐประหารและเผชิญกับการปะทะที่รุนแรงทั่วประเทศกับกองกำลังต่อต้านของพลเรือนและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยรัฐบาลทหารพม่าได้อ้างในแถลงการณ์ว่า การบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนสำหรับทั้งประเทศเป็นนโยบายที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน

“จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่สันติภาพถาวรโดยหาทางแก้ไขในการเจรจาตามแนวทางประชาธิปไตย เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองที่มีอยู่” ในแถลงการณ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารกล่าวว่า การเจรจาดังกล่าวไม่เชิญผู้ที่ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งผู้ก่อการร้ายในที่นี้ถูกประกาศโดยรัฐบาลทหาร อันได้แก่ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) และกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force)

ด้านสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่สำคัญของพม่าและผู้เป็นลงนาม NCA ได้ปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อคำเชิญเจรจาสันติภาพของรัฐบาลทหาร โดยพะโด่ ซอต่อนี (Padoh Saw Taw Nee) หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง กล่าวว่า “รัฐบาลทหารพม่าได้ละเมิดข้อตกลง NCA (ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ) กองทัพเป็นศัตรูหลักและเป็นผู้ทำลายสันติภาพ ดังนั้นเราจึงไม่มีอะไรจะหารือกับพวกเขา นั่นเป็นเหตุผลที่เรากำลังพยายามล้มล้างเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของประชาชน”

ในขณะเดียวกัน โฆษกจากกองทัพอาระกัน (AA), สภาฟื้นฟูรัฐฉาน (RCSS), กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP) กล่าวว่า พวกเขายังไม่ได้รับคำเชิญและยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะตอบรับหรือไม่

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →