วันที่ 12 กุมภาพันธ์ของทุกปี ตรงกับวันสหภาพ (Union day) วันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองในพม่า กองทัพพม่าได้จัดงานวันสหภาพที่เนปีดอว์ ซึ่งครบรอบ 75 ปี โดยสำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า แม้ทางกองทัพพม่าจะเชิญหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเข้าร่วมงานวันสหภาพ แต่กลุ่มติดอาวุธส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม
สื่อพม่า Irrawaddy รายงานว่า กลุ่มติดอาวุธที่ได้ลงนามหยุดยิงทั้งสิ้น 10 กลุ่ม และที่ไม่ได้ลงนามหยุดยิงอีก 8 กลุ่ม ต่างก็ได้รับเชิญจากกองทัพพม่าให้เข้าร่วมงานวันสหภาพ ยกเว้นกลุ่มที่กองทัพพม่ากล่าวหาว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายเช่น กองทัพเพื่อประชาชน PDF ที่ไม่ได้รับเชิญจากกองทัพพม่า
อย่างไรก็ตามหลายกลุ่มที่สู้รบกับกองทัพพม่าและมีสถานการณ์ตึงเครียดทางทหารกับกองทัพพม่าอยู่ในขณะนี้ อย่างกะเหรี่ยง KNU คะฉิ่น KIA กองทัพชิน CNF กองทัพโกก้าง MNDAA กองทัพคะเรนนี KNPP เป็นต้น ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงานวันสหภาพ
เช่นเดียวกันกับกองทัพปะหล่อง TNLA ออกมาเผยกับสำนักข่าว SHAN ว่า จะไม่เข้าร่วมงานที่กองทัพพม่าเชิญ และผู้บัญชาการระดับสูงไม่อนุญาตให้ทหารในกองทัพเข้าร่วมเด็ดขาด
ส่วนกลุ่มติดอาวุธที่คาดว่าจะเข้าร่วมงานวันสหภาพจะส่งเพียงตัวแทนทั่วไปเท่านั้น โดยไม่มีผู้นำระดับสูงหรือบุคคลสำคัญเข้าร่วมแต่อย่างใด แม้ก่อนหน้านี้ทางกองทัพพม่าอ้างว่า เตรียมหารือทางการเมืองและสร้างสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ในวันสหภาพก็ตาม ด้านสื่อ Irrawaddy วิเคราห์ะว่า การจัดงานวันสหภาพโดยมีกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมงาน กองทัพพม่าต้องการแสดงให้นานาชาติเห็นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองเท่านั้น
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือ NUG ได้จัดประชุมออนไลน์เนื่องในวันเอกภาพ โดยมีตัวแทนจาก 24 เข้าร่วมประชุมด้วย อีกความเคลื่อนไหวในวันนี้ ทางการพม่าได้นิรโทษกรรมและปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองมากกว่า 100 กว่าคน แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีใครได้รับการปล่อยตัวบ้าง ก่อนหน้านี้ทางการพม่าประกาศจะนิรโทษกรรมนักโทษในเรือนจำจากทั่วประเทศ 800 กว่าคน
ขณะที่สำนักข่าว SHAN รายงานว่า ก่อนหน้าวันสหภาพ ทางกลุ่มคนรุ่นใหม่ไทใหญ่ทั้งในพม่าและจากประเทศต่างๆ เช่นในญี่ปุ่น เกาหลี และในประเทศไทย เป็นต้น ร่วมกัน 13 กลุ่ม ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้กองทัพไทใหญ่และองค์กรการเมืองไทใหญ่ไม่ควรเข้าร่วมงานที่กองทัพพม่าจัดขึ้น เพราะกองทัพพม่าไม่มีความชอบธรรมและไม่น่าเชื่อถือ
ทั้งนี้วันสหภาพ เป็นวันลงนามสนธิสัญญาป๋างโหลง ระหว่างผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับรัฐบาลพม่า เมื่อปี 2490 เป็นการทำข้อตกลงในการร่วมกันปกครองประเทศหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งผู้แทนของรัฐบาลพม่าในสมัยนั้น คือ นายพลออง ซาน บิดาของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในพม่า ซึ่งขณะนี้กำลังถูกคุมขังและถูกปล้นอำนาจจากกองทัพพม่า