เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 สื่อหลายสำนักรายงานว่า เมื่อวานนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2565) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ได้เริ่มดำเนินการเพื่อรับฟังการคัดค้านเบื้องต้นของพม่า ต่อคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับการปราบปรามอย่างรุนแรงในปี 2560 โดยกองทัพต่อชาวโรฮิงญาที่เป็นมุสลิมเป็นส่วนใหญ่
คำกล่าวอ้างว่ากองทัพพม่าทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถูกส่งเรื่องไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) โดยแกมเบียหลังจากการปราบปรามของทหารในปี 2560 ที่โหดร้าย ซึ่งบังคับให้ชาวโรฮิงญาประมาณ 700,000 คนต้องหลบหนีข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในบังกลาเทศ ผู้สอบสวนของ UN กล่าวหาว่าปฏิบัติการของกองทัพเป็น “เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
การตัดสินใจอนุญาตให้รัฐบาลทหารเป็นตัวแทนของประเทศในศาล หลังจากยึดอำนาจในการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มผู้สนับสนุนและอดีตผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งเตือนว่าอาจเสี่ยงต่อความยุติธรรม
ก่อนหน้านี้นางอองซานซูจีเดินทางไปศาลเพื่อปกป้องพม่าจากการกล่าวหาว่าทหารก่อเหตุสังหารหมู่ ข่มขืน และทำลายชุมชนมุสลิมโรฮิงญา แต่เธอถูกปลดออกจากตำแหน่งจากการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 โดยกองทัพพม่า ทำให้นางอองซานซูจีถูกแทนที่ในศาลโดย “โกโกหล่าย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศของรัฐบาลทหาร และ“ธิดาอู” อัยการสูงสุด โดยทั้งคู่ได้โต้แย้งว่าแกมเบียไม่มีสิทธิ์ทางกฎหมายในการฟ้องคดี
ทางด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งก่อตั้งโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง ตัวแทนชนกลุ่มน้อย และนักเคลื่อนไหว ได้กล่าวว่าพวกเขาตั้งใจที่จะเป็นตัวแทนของพม่าที่ ICJ แถลงการณ์ระบุว่า ได้ถอนการคัดค้านเบื้องต้น
อ่อง มโย มีง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กล่าวว่า “เราได้ส่งจดหมายถึง ICJ แล้ว รัฐบาลทหารไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่พยายามยึดอำนาจ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร”
ขณะที่ แอมเบีย เพอร์วีน จากสมาคมชาวโรฮิงญาในยุโรปกล่าวว่า “น่าผิดหวังที่ ICJ อนุญาตให้กองทัพพม่าซึ่งเป็นผู้ก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นตัวแทนของพม่า กองทัพไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน มีเพียงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เท่านั้นที่เป็นตัวแทน ไม่ว่าในกรณีใดเราต้องการให้คดีได้รับการพิจารณาโดยเร็วที่สุด”